x close

คลอดลูกแบบไหนดี ? ตอบข้อสงสัย คลอดลูกธรรมชาติ ผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ ต่างกันอย่างไร

          คลอดลูกแบบไหนดี คุณแม่ตั้งครรภ์ที่กำลังเตรียมตัวสำหรับการคลอดลูก สิ่งสาคัญที่ต้องรู้มีอะไรบ้างระหว่างคลอดลูกธรรมชาติ คลอดลูกแบบผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ ลองมาหาคำตอบกัน
คลอดลูก

          คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแรกที่ยังไม่เคยผ่านการคลอดมาก่อน ย่อมต้องคิดและเตรียมตัวสำหรับการคลอดลูกเอาไว้แต่เนิ่น ๆ ซึ่งหลายคนก็มักจะมีคำถามและคิดไม่ตกว่าจะคลอดลูกแบบไหนดี ? ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกธรรมชาติ คลอดลูกแบบผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ โดยจะต้องเลือกวิธีคลอดให้ถูกตามลักษณะและสุขภาพของครรภ์และตัวของคุณแม่ด้วย เพราะแต่ละวิธีนั้นก็มีขั้นตอน และข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้คุณแม่ได้คลายความสงสัยกันแล้วค่ะ

คลอดลูกแบบไหนดี ?

          ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้การคลอดลูกมีทางเลือกมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่มีจำกัด แค่คลอดปกติเพียงอย่างเดียว ทุกวันนี้ในโรงพยาบาลหลายแห่งได้เพิ่มวิธีอื่น ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้การคลอดเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณแม่และปลอดภัยกับลูกน้อยมากที่สุด ไปดูกันค่ะว่ามีแบบไหนบ้าง และแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร

1. คลอดลูกธรรมชาติ

          การคลอดตามธรรมชาติ (Active Birth) เป็นวิธีปกติที่คุณแม่เบ่งคลอดเองทางช่องคลอด โดยเมื่อถึงกำหนดคลอด (ตั้งครรภ์ครบ 40 สัปดาห์) ปากมดลูกจะค่อย ๆ เปิดกว้างจาก 1 เซนติเมตร และจะเปิดกว้างไปเรื่อย ๆ เมื่อปากมดลูกเปิดหมด ศีรษะเด็กจะเคลื่อนลงมาต่ำ จนกระทั่งถึงระดับที่มองเห็นศีรษะเด็กผลุบโผล่ที่บริเวณช่องคลอด แม่จะมีลมเบ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยผู้ช่วยคลอดจะแนะนำการเบ่งที่ถูกวิธี คือเบ่งพร้อมกับการบีบตัวของมดลูก ก้มหน้าคางชิดอก เอามือจับใต้เข่า หายใจเข้าลึกสุด เบ่งยาวให้แรงดันลงมาที่ก้นเบ่งอย่างน้อย 10 วินาที ต่อเนื่องกันและเบ่งอย่างน้อย 3 ครั้ง ในหนึ่งการบีบตัวของมดลูก

ข้อดี ของการคลอดลูกธรรมชาติ

  • ร่างกายฟื้นตัวเร็ว
  • เสียเลือดน้อยกว่าผ่าคลอด
  • หลังคลอดมดลูกหดตัวเล็กลงเอง
  • ไม่มีแผลผ่าตัด และแผลที่มดลูก
  • พร้อมให้นมลูกน้อยได้ทันที
  • หุ่นเข้าที่เร็วกว่าผ่าคลอด
  • ทารกมีภูมิคุ้มกันที่ดีจากแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอด
  • ทารกได้รับการบีบของเหลวออกจากปอดขณะคลอด
  • ไม่มีความเสี่ยงจากการเจ็บครรภ์ในครั้งต่อไป

ข้อเสีย ของการคลอดลูกธรรมชาติ

  • ไม่สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้
  • ใช้เวลาคลอดนาน กำหนดเวลาที่แน่นอนไม่ได้
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉินได้
  • มีโอกาสต้องใช้เครื่องดูดสุญญากาศหรือคีม หากแม่ไม่มีแรงเบ่งคลอด
  • ช่องคลอดอาจไม่กระชับเหมือนเดิม
คลอดลูก

2. คลอดลูกแบบผ่าคลอด

          การผ่าคลอด (Cesarean Section) คือการคลอดด้วยการผ่าตัดแทนการคลอดแบบธรรมชาติทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีเปิดปากแผลบริเวณระหว่างหน้าท้องและมดลูก หากคลอดปกติไม่ได้ หรือการคลอดธรรมชาติอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อแม่และบุตร มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น เชิงกรานแคบ ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ หัวใจทารกเต้นผิดปกติ ครรภ์แฝด ครรภ์เป็นพิษ รกเกาะต่ำ สายสะดือสั้นเกินไป และความไม่พร้อมทางด้านร่างกาย หรือแม้แต่การคลอดในภาวะฉุกเฉิน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดคลอด
 

          ปัจจุบันการผ่าคลอดจัดเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัยสูง ดังนั้นทั้งแพทย์และคุณแม่จึงนิยมผ่าตัดคลอดกันมากขึ้น จากเดิมที่ผ่าเพราะเหตุผลทางการแพทย์ก็เปลี่ยนไปเป็นเหตุผลอื่น ๆ เช่น สามารถกำหนดฤกษ์คลอดได้ คุณแม่บางรายไม่มีแรงเบ่ง หรือกลัวช่องคลอดฉีกขาดมาก กลัวช่องคลอดหลวมหลังคลอด เป็นต้น

ข้อดี ของการผ่าคลอด

  • สะดวก มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า
  • สามารถกำหนดวันเวลาคลอดได้
  • ไม่เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนระหว่างรอคลอด
  • ไม่เจ็บระหว่างทำคลอด
  • หากสภาวะครรภ์มีความเสี่ยงจะช่วยให้ปลอดภัยได้ดีกว่าคลอดแบบธรรมชาติ
  • สามารถทำหมันได้เลย
  • ช่องคลอดยังกระชับเหมือนเดิม

ข้อเสีย ของการผ่าคลอด

  • มีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบหรือ บล็อกหลังสูง
  • ฟื้นตัวช้า แผลผ่าหายช้า เสี่ยงต่อแผลผ่าตัดติดเชื้อ
  • เกิดรอยแผลเป็นที่หน้าท้องจากการผ่า
  • เกิดแผลที่มดลูก ทำให้เสี่ยงในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
  • เสียเลือดมากกว่าคลอดเอง
  • ไม่สามารถให้น้ำนมลูกได้ทันที เพราะคุณแม่จะยังมีอาการมึนยาสลบอยู่
  • หากท้องแรกผ่าแล้วการท้องครั้งต่อไปต้องผ่าเท่านั้น
คลอดลูก

3. คลอดลูกในน้ำ

          การคลอดเจ้าตัวน้อยด้วยวิธีนี้ คุณแม่จะต้องมีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ โดยคุณแม่จะทราบวันคลอดจากแพทย์แล้ว เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะได้รับการดูแลเหมือนกับการคลอดลูกปกติ นั่นคือการทำความสะอาดร่างกาย ก่อนแช่ตัวในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยรองรับนํ้าหนักของคุณแม่ ทำให้อาการเจ็บปวดลดลงได้ คุณแม่จะรู้สึกผ่อนคลาย คลอดได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องให้ยาแก้ปวด เมื่อทารกออกมาจากครรภ์หัวเด็กโผล่พ้นช่องคลอดของแม่ก็จะลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งน้ำอุ่นจะช่วยรับแรงกระแทกที่อาจทำอันตรายแก่ทารกได้ หลังคลอดลูกแล้ว แพทย์จะเย็บปากช่องคลอดให้เรียบร้อยเหมือนการคลอดธรรมชาติ

ข้อดี ของการคลอดลูกในน้ำ

  • ร่างกายฟื้นตัวเร็ว
  • น้ำอุ่นเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้กระบวนการไหลเวียนของเลือดในมดลูกดีขึ้น และลดความเจ็บปวด
  • การเตรียมความพร้อมให้คุณแม่อาจไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดหรือยาชา
  • ช่วยเร่งให้คลอดได้ไวและง่ายขึ้น
  • มีแรงต้านจากน้ำ ช่วยลดโอกาสการเกิดแผลฉีกขาดรุนแรงของปากมดลูก

ข้อเสีย ของการคลอดลูกในน้ำ

  • ต้องทนเจ็บท้องนานหลายชั่วโมง เพราะต้องรอให้ปากมดลูกเปิดก่อน
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อหากน้ำและอ่างน้ำไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม
  • หากควบคุมอุณหภูมิไม่ดีอาจเกิดภาวะที่เป็นอันตรายตามมา
  • หากสายสะดือสั้นอาจเกิดการฉีกขาดได้ และอาจทำให้เกิดการเสียเลือดในปริมาณมาก
  • มีโรงพยาบาลรองรับการคลอดลูกในน้ำเพียงไม่กี่แห่ง และค่าใช้จ่ายสูง
คลอดลูก

คลอดลูกแบบไหนไม่เจ็บ

          การคลอดลูกถือเป็นการเจ็บปวดที่ล้ำค่า ถึงแม้การคลอดลูกแบบผ่าจะมีการใช้ยาสลบ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะคลอด แต่การคลอดธรรมชาติจะทำให้ร่างกายคุณแม่สามารถปรับตัวได้เร็วและดีกว่าการผ่าคลอด รวมถึงไม่เจ็บแผลภายหลัง ทั้งนี้ การคลอดลูกใช่ว่าจะเลือกแบบที่ไม่เจ็บเท่านั้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และความจำเป็นว่าการคลอดวิธีไหนจะปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกมากกว่า

คลอดลูกแบบไหน เหมาะกับใครบ้าง

  • การคลอดลูกธรรมชาติ

          เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ร่างกายแข็งแรง และมีภาวะครรภ์ปกติ
 

  • การผ่าคลอด

          เหมาะสำหรับคณุแม่ที่ภาวะครรภ์ไม่ปกติหรือไม่สามารถคลอดเองได้ จำเป็นต้องผ่าคลอดด้วยข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์ เช่น เด็กไม่กลับหัว ทารกตัวโต อุ้งเชิงกรานมารดาแคบ ทารกมีความพิการที่ไม่สามารถคลอดเองได้ ปากมดลูกไม่เปิดหรือเปิดช้า หรือทารกมีภาวะหัวใจเต้นช้า เป็นต้น
 

  • การคลอดลูกในน้ำ

          ไม่เหมาะกับคุณแม่ที่เป็นโรคติดต่อ ติดเชื้อ ความดันสูง ครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์ลูกแฝด มีประวัติคลอดยากหรือคลอดก่อนกำหนด รวมไปถึงทารกที่มีน้ำหนักตัวมาก ตัวใหญ่และไม่อยู่ในท่าคลอดปกติ
 

          ก่อนจะเลือกวิธีคลอดลูก สิ่งสำคัญที่คุณแม่จะต้องทำก็คือการฝากครรภ์ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ ส่วนเรื่องการคลอดนั้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินและพูดคุย ตัดสินใจร่วมกันกับคุณแม่ว่าคลอดลูกแบบใดจึงจะปลอดภัยที่สุดทั้งกับตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : nakornthon.com, phyathai.com, paolohospital.com, petcharavejhospital.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลอดลูกแบบไหนดี ? ตอบข้อสงสัย คลอดลูกธรรมชาติ ผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ ต่างกันอย่างไร อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15:44:36 22,295 อ่าน
TOP