x close

อาการท้องแข็ง เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน รับมือยังไงดี ?

          อาการท้องแข็งในคนท้องคืออะไร เกิดจากสาเหตุไหน จะมีอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อลูกไหม แล้วจะบรรเทาอาการท้องแข็งหรือแก้ไขยังไงดี มาหาคำตอบกัน
คนท้อง

          ในช่วงท้องใกล้คลอด ว่าที่คุณแม่หลายคนจะเกิดอาการท้องแข็ง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในคนท้องส่วนใหญ่ แต่ก็สร้างความกังวลไม่น้อยเลย ว่าอาการแบบนี้เกิดจากอะไรและมีอันตรายต่อลูกหรือเปล่า วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อสงสัยพร้อมหาวิธีแก้ปัญหา ว่าอาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์คืออะไร เพื่อคลายความกังวลให้กับเหล่าคุณแม่กันค่ะ

อาการท้องแข็ง คืออะไร

          ในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ จะมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป หรือในช่วง 7-9 เดือน ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ อาการนี้เกิดจากการบีบตัวของมดลูก ซึ่งถ้ามีอาการเพียงไม่นานแล้วหาย ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

สาเหตุของอาการท้องแข็ง

          อาการท้องแข็งสามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการท้องแข็งคือ
 

  1. ท้องแข็งจากการที่ลูกโก่งตัว - เป็นอาการท้องแข็งที่พบได้บ่อยที่สุด คุณแม่จะรู้สึกว่า ท้องแข็งบางที่ นิ่มบางที่ ไม่แข็งทั่วทั้งท้อง เกิดจากเด็กในท้องดิ้นหรือโก่งตัวไปชนเข้ากับผนังมดลูกนั่นเอง จนทำให้มดลูกเกิดการบีบตัว ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ของทารก เช่น ศอก ไหล่ เข่า หัว หรือก้นปรากฏนูนที่หน้าท้อง ภาวะท้องแข็งแบบนี้ไม่อันตราย เพราะเป็นการดิ้นตามธรรมชาติของทารก
  2. ท้องแข็งเพราะกินมากเกินไป - เชื่อว่าหลายคนมีอาการนี้ในช่วงที่ท้องแก่ คือกินอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็แน่นท้องจนท้องแข็งเป๊ก นั่นเป็นเพราะความจุช่องท้องมีพื้นที่จำกัด เมื่อท้องมดลูกก็โตขึ้นจนไปเบียดอวัยวะภายในไปหมด ยิ่งท้องแก่มดลูกก็ยิ่งโต กระเพาะอาหารก็ยิ่งถูกเบียดมากขึ้น กินอะไรนิดหนึ่งก็แน่น ท้องแข็ง ซึ่งไม่ได้เกิดจากมดลูกบีบตัวแต่อย่างใด วิธีแก้คือให้คุณแม่เปลี่ยนไปกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ แทน กินให้น้อย แต่กินถี่ และอย่าปล่อยให้ท้องผูก เมื่อได้ขับถ่ายจะรู้สึกดีขึ้น
  3. ท้องแข็งจากการที่มดลูกบีบรัดตัว - อาการจากสาเหตุนี้มดลูกในท้องจะแข็งขึ้นมาทั้งหมด ไม่ได้แข็งเป็นบางจุดบางที่เหมือนตอนเด็กโก่งตัว อาการจะเหมือนกับปวดประจำเดือน ช่วงอายุครรภ์ที่พบมีอาการท้องแข็ง มดลูกบีบตัวก่อนกำหนดบ่อยที่สุด ก็คือช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด การที่ลูกดิ้นมาก ๆ ก็อาจมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้นได้ด้วยเหมือนกัน ทำให้รู้สึกเหมือนเจ็บท้องคลอด แต่หากคุณแม่แข็งแรงและอดทนไหว ความเจ็บปวดจะค่อย ๆ หายไปภายใน 2 สัปดาห์ และสามารถคลอดลูกตามกำหนดได้ปกติค่ะ
คนท้อง

อาการท้องแข็งแบบไหนที่ต้องรีบไปหาหมอ

          ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องแข็งแบบบีบตัวเบา ๆ แล้วคลายตัวลง อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่หากท้องแข็งนานประมาณครั้งละ 10 นาที ติดต่อกันถี่ ๆ ประมาณ 4-5 ครั้ง เป็นชุด ๆ จนรู้สึกแน่น หายใจไม่สะดวกและอาการไม่หายไป รวมถึงมีมูกหรือมูกปนเลือดไหลออกจากช่องคลอด ควรจะรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นอาจทำให้มดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนดได้

ดูแลตัวเองยังไง เมื่อมีอาการท้องแข็ง

          แม้จะสังเกตตัวเองและรีบไปพบแพทย์แล้ว แต่ก็ต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดีควบคู่กันไปด้วย เพื่อประคองครรภ์ให้ครบกำหนด 9 เดือน ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยออกมาสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด โดยวิธีการมีดังนี้
 

  • พักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ - พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องขยับตัวเยอะ ๆ เช่น เดินเยอะ ๆ การขึ้นลงบันได การยกของหนัก เพราะยิ่งมีกิจกรรมมากท้องก็จะยิ่งแข็งมาก หากสามารถลางานได้ควรลางาน เพราะการนอนพักคือรักษาโรคท้องแข็งได้ดีที่สุด
  • ไม่บิดตัวหรือบิดขี้เกียจ - เพราะการบิดขี้เกียจจะทำให้ปริมาตรของช่องท้องลดลง ความดันในมดลูกสุงขึ้น ทำให้ท้องแข็งได้ง่าย
  • ไม่กลั้นปัสสาวะ - ยิ่งกลั้นท้องยิ่งแข็ง เพราะมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจะไปเบียดกระเพาะปัสสาวะให้เล็กลง เมื่อกลั้นปัสสาวะก็จะทำให้กระเพาะปัสสาวะโป่งมากขึ้น เบียดกันไปมากับมดลูก ทำให้ความดันในมดลูกยิ่งสูง เกิดอาการท้องแข็งได้ง่าย พอปัสสาวะออกไปแล้วอาการท้องแข็งก็จะบรรเทาลง
  • ค่อย ๆ ลุก ค่อย ๆ นอน - เวลาที่เรานั่งหรือนอน แล้วจะลุกขึ้น ก็ต้องมีการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ส่งผลให้มดลูกบีบตัว ดังนั้นจึงควรค่อย ๆ ตะแคงตัว ใช้แขนช่วยพยุงตัวลุกขึ้น ส่วนเวลาเอนตัวลงนอนก็ต้องค่อย ๆ นอนลงช้า ๆ ในท่าตะแคง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องแข็ง
  • ไม่กินอิ่มเกินไป - การกินอิ่มเกินไป หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะมากกว่าปกติ หรืออาหารไม่ย่อย ซึ่งปกติระบบย่อยอาหารของคนท้องก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เมื่อเกิดแก๊สขึ้นมาก็ยิ่งส่งผลให้ท้องแข็งได้
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสสุดท้าย - เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะไปกระตุ้นแถวบริเวณปากมดลูก ทำให้มดลูกมีการบีบตัวตามมา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการตั้งครรภ์
  • อย่าลูบท้องบ่อย - มดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อต่าง ๆ มากมาย และไวต่อการกระตุ้นมาก ยิ่งจับบ่อย ก็ยิ่งแข็งบ่อย คุณแม่หลายคนยิ่งปวดท้อง ยิ่งท้องแข็งก็ยิ่งจับ ก็เลยทำให้ท้องแข็งไปกันใหญ่ ดังนั้นอดทนไว้ นอนนิ่ง ๆ อย่าไปลูบ เดี่ยวท้องก็หายแข็งเอง
  • อย่าจับหน้าอก - เช่นเดียวกับการลูบท้อง หน้าอกเป็นบริเวณที่ไวต่อการกระตุ้นไม่ต่างกัน เมื่อจับบ่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณยอดอก ก็จะยิ่งส่งผลให้มดลูกเกิดการบีบตัว ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง


          สรปุได้ว่าอาการท้องแข็งมักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ง่ายมาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรสังเกตตัวเองดี ๆ หากพบอาการผิดปกติก็ควรไปหาหมอโดยเร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกในท้องค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลรามาธิบดี, เฟซบุ๊ก นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการท้องแข็ง เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน รับมือยังไงดี ? อัปเดตล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13:56:52 22,086 อ่าน
TOP