x close

อาการคนท้องแรก ๆ เช็กสัญญาณการตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัปดาห์แรกถึง 2 เดือน

          อาการคนท้องแรก ๆ ไม่ใช่แค่ประจำเดือนขาด หรือคลื่นไส้ อาเจียน ลองมาเช็กอาการคนท้อง สัปดาห์แรก ไปจนถึง 2 เดือน ที่จะบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ระยะแรกเริ่มกัน
อาการคนท้อง

          ว่าที่คุณแม่ที่ตั้งตารอคอยการมีเบบี้ตัวน้อยคงจะมีความกังวลเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย จนเกิดเป็นคำถามว่า ท้องหรือไม่ท้อง ? ยิ่งหากเป็นท้องแรก สาว ๆ อาจยังไม่รู้ว่าอาการคนท้องแรก ๆ จะเป็นอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร ร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหน เพราะเมื่อไข่ตกและได้รับการปฏิสนธิแล้ว บางคนอาจไม่มีอาการทางร่างกายที่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไร หรือสังเกตเห็นอีกทีก็ผ่านไปหลายเดือนแล้ว
 

          ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์หรือไม่ เรามีอาการคนท้องแรกเริ่มมาให้เช็กกัน เพราะสัญญาณเตือนเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังจะเป็นคุณแม่มือใหม่ค่ะ จะมีอาการอะไรบ้างนั้น ลองมาสังเกตกันเลย

อาการคนท้อง 1 สัปดาห์

          ช่วงเวลาสัปดาห์แรก อาการคนท้องจะยังไม่ชัดนัก แต่ก็พอสังเกตได้ ดังนี้
 

  • เลือดล้างหน้าเด็ก

          หากติดตามประจำเดือนทุกเดือน คุณอาจเห็นสิ่งที่เปรอะกางเกงชั้นในที่เรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” (Implantation Bleeding) ซึ่งจะพบในช่วง 6-12 วันหลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิ โดยเป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนภายในมดลูก ทำให้คุณแม่มีเลือดออกปริมาณเล็กน้อยจากบริเวณช่องคลอดประมาณ 1-3 วัน แต่บางรายอาจมีเลือดไหลน้อยมากจนไม่ทันได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่จึงนึกว่าเป็นเลือดประจำเดือน
 

  • ประจำเดือนขาด

          อาการขาดประจำเดือน ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณหลักที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดนั้นมาจากฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ที่ร่างกายผลิตเพื่อให้ร่างกายหยุดการตกไข่ในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้เยื่อบุมดลูกไม่ลอกออกมา เพื่อรักษาไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและฝังอยู่ในผนังมดลูก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนขาด บางครั้งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน หรือภายในมดลูกได้ ดังนั้นควรทำการตรวจครรภ์เพื่อความแน่ใจอีกครั้งจะดีที่สุด
 

  • มีตกขาวมากผิดปกติ

          เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ ทั้งสรีระและฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิงจะปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้มี “ตกขาว” ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งลักษณะของตกขาวจะใสหรือขาวขุ่น ไม่มีสีหรือกลิ่น ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่ากังวล
 

  • อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย

          หลังการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนและเอสโตรเจนจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้นและสูญเสียพลังงานได้ง่าย ส่งผลให้รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า โดยอาการเหล่านี้อาจพบได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่บางคนอาจพบอาการนี้หลังจากตั้งครรภ์เพียงสัปดาห์เดียว

อาการคนท้อง

  • รู้สึกเมื่อยล้า ปวดเมื่อยหลัง

          อาการเหนื่อยล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลัง เป็นอาการที่จะเริ่มรู้สึกได้อย่างทันทีภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการตั้งครรภ์ นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น รวมกับอาการอื่นในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือดลดระดับลง ความดันโลหิตลดต่ำ และการถูกกระตุ้นให้ผลิตเลือด หลายสาเหตุรวมกันนั่นเอง ช่วงนี้จึงอาจรู้สึกไม่สบายตัว ปวดเนื้อปวดตัว จนคิดว่าตัวเองป่วยได้
 

  • ตัวบวม

          อาการที่พบบ่อยในคนท้องคือจะดูมีน้ำมีนวล หรือตัวบวม ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดดูดซึมสารอาหารไปสู่ร่างกายของคุณและทารกมากขึ้น จะเริ่มบวมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ จนถึงคลอด แต่บางคนบวมมาก บวมน้อยไม่เหมือนกัน

อาการคนท้อง 2 สัปดาห์

          สำหรับอาการที่เกิดขึ้นในสัปดาห์แรกก็ยังเป็นอยู่ และจะมีอาการเพิ่มเติมดังนี้
 

  • คัดเต้านม

          ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณอาจพบว่าหน้าอกหรือเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เต้านมบวม ตึง เจ็บ นอกจากนี้ยังไวต่อการสัมผัสมากขึ้นด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการปรับสภาพของต่อมน้ำนมจากผลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงหายไปเอง
 

  • แพ้ท้อง

          อาการแพ้ท้องสามารถเกิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ 2-8 หลังการตั้งครรภ์ มาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างคุณกับลูกที่พยายามปรับตัวเข้าหากันซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่าอาการแพ้ท้องต้องคลื่นไส้และอาเจียน แต่ที่จริงอาจมีแค่อาการคลื่นไส้เพียงอย่างเดียว หรืออาเจียนแบบไม่มีอาหารใด ๆ ออกมาเลยก็ได้ ทั้งนี้ แต่ละคนอาจมีระดับการแพ้ท้องแตกต่างกัน ส่วนมากจะรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 หรือสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ 3 แต่อาการแพ้ท้องจะเริ่มเบาลงเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4

อาการคนท้อง

  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป

          ช่วงนี้หากคุณมีพฤติกรรมการกินที่แปลกไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นอยากอาหารมากขึ้น รวมถึงรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่ชอบอะไรที่เคยกินเป็นประจำ แต่อยากกินของเปรี้ยว หรือเมนูอื่น ๆ ที่ไม่เคยกินมาก่อน เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคุณเริ่มตั้งครรภ์ค่ะ
 

  • ปวดหัว

          นอกจากความเมื่อยล้า อ่อนเพลียแล้ว ว่าที่คุณแม่อาจมีอาการปวดหัวในช่วงการตั้งครรภ์แรก ๆ บอกไม่ได้ว่าอาการปวดจะมาเมื่อไหร่ ดังนั้นควรลดสาเหตุของความเครียด และพยายามทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากขึ้น

อาการคนท้อง 1 เดือน

          เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4-5 สัปดาห์ คุณจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายบางอย่าง แต่อาการที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่แรกก็อาจยังอยู่ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
 

  • อารมณ์แปรปรวนง่าย

          ช่วงนี้คุณอาจเหวี่ยงใส่คนรักหรือคนรอบตัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ต้นเหตุมาจากฮอร์โมนภายในร่างกายคุณแม่ที่ปรับระดับสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อสภาวะอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยอาจมีอารมณ์อ่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น เศร้า หดหู่ หงุดหงิด กังวล ตื่นเต้น หรือมีความสุข ซึ่งจะดีขึ้นภายหลังการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
 

  • จมูกไวต่อกลิ่น

          ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ทำให้จมูกของว่าที่คุณแม่ไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากขึ้นเป็นพิเศษ จู่ ๆ ก็ไม่ชอบกลิ่นที่คุ้นเคย บางอย่างที่ไม่เคยเหม็นก็อาจจะเหม็น เช่น เหม็นสบู่ เหม็นน้ำหอม เหม็นดอกไม้ ซึ่งเกิดจากการรับกลิ่นผูกกับเซลล์รับกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงจากการที่หลอดเลือดขยาย ทำให้การแปลกลิ่นผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองค่ะ

อาการคนท้อง

  • การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงไป

          นอกจากการรับกลิ่นที่ไม่เหมือนเดิม การรับรสก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน บางคนติดกินเปรี้ยว บางคนติดของหวาน ดังนั้นต้องกำหนดเรื่ออาหารการกินให้ดี จะเลือกแต่รสชาติที่ชอบไม่ได้ ในขณะที่บางคนกินอะไรก็ไม่อร่อย จนน้ำหนักลดลง ต้องปรับตัวหาสิ่งที่กินได้ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร

อาการคนท้อง 2 เดือน

          ช่วงระยะเวลาตั้งครรภ์ประมาณ 8-9 สัปดาห์ จะออกอาการที่บ่งบอกว่าท้องแล้วมากขึ้น หากสงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ลองตรวจเช็กดูตามนี้และรีบบอกกับคนใกล้ตัว เพื่อที่จะได้ช่วยดูแลนั่นเอง
 

  • ปัสสาวะบ่อย

          ร่างกายผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์จะสร้างและสะสมพลังงานมากขึ้น รวมถึงปริมาณของเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้นและเลือดไหลผ่านไปที่ไตมากกว่าเดิม ทำให้ไตทำงานมากขึ้นเพื่อขับของเสีย รวมถึงการขยายตัวของมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นช่วงนี้คุณจึงปวดปัสสาวะบ่อยเป็นพิเศษ ทั้งกลางวันและกลางคืน จนอาจรบกวนเวลานอนได้
 

  • มึนหัวแพ้ท้อง

          หลังตื่นนอนตอนเช้า บางคนจะมีอาการมึนหัว หรือ Morning sickness ซึ่งต้องค่อย ๆ ปรับตัว ลุก และเดินให้ช้า ๆ จะได้ป้องกันการล้ม ส่วนว่าที่คุณแม่ที่มีอาการมึนหัวตอนเช้าหนักมาก คุณหมออาจให้ยาแก้อาการวิงเวียนไว้กินตั้งแต่ก่อนนอน เพื่อตื่นมาจะได้ไม่วูบ
 

  • ท้องผูกและท้องอืด

          หลายคนอาจเคยได้ยินว่าคนท้องมักมีอาการท้องอืดหรือท้องผูก ซึ่งไม่ได้มาจากกินเยอะ แต่มาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) ภายในระบบทางเดินอาหารเพื่อให้ร่างกายมีเวลาดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น จนอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด นอกจากนี้ กล้ามเนื้อเรียบที่คลายตัวลงยังส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ช้าลง จึงอาจส่งผลต่อการขับถ่ายและทำให้ท้องผูกได้ ดังนั้นการกินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดเครื่องดื่มอัดลม และออกกำลังกายเบา ๆ ก็จะช่วยแก้ไขอาการนี้ได้ค่ะ

อาการคนท้อง

  • เลือดออกเหงือก หรือเลือดออกจมูก

          บางคนอาจพบว่าตัวเองมีเลือดออกในโพรงจมูก หรือตามเหงือก ซึ่งทำให้ตกใจไม่น้อย สาเหตุมาจากเส้นเลือดฝอยในร่างกายขยาย ทำให้คนท้องพบเลือดออกบ้าง แต่อาการนี้บางคนเป็น บางคนก็ไม่เป็น แค่ต้องระวังอย่าให้เกิดการติดเชื้อเท่านั้นค่ะ

อยากแน่ใจว่าท้องไหม ต้องตรวจสอบการตั้งครรภ์

          ทั้งหมดนี้เป็นแค่การสังเกตอาการคนท้องเบื้องต้น แต่ถ้าอยากเช็กเพื่อความชัวร์ ควรตรวจการตั้งครรภ์จากผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด โดยมีวิธีตรวจ 4 แบบ ได้แก่

  1. ตรวจปัสสาวะ เป็นการทดสอบหาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 ในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่ 10-14 วันขึ้นไป สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลหรือใช้ชุดอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
     
  2. ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจอัลตราซาวนด์ จะช่วยยืนยันว่าการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกเป็นไปตามปกติ หากตรวจปัสสาวะแล้วได้ผลบวก ตรวจอัลตราซาวนด์จะรับรองผลได้ดีขึ้น
     
  3. ตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก คุณหมอสามารถใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังเสียงเต้นของหัวใจทารกได้ หากมีอายุครรภ์ประมาณ 17-18 สัปดาห์ แต่วิธีนี้จะตรวจหลังจากมีการตรวจยืนยันว่าตั้งครรภ์จริง
     
  4. ตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมน HCG ตรวจพบได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น วิธีนี้จะใช้เฉพาะในกรณีที่คุณแม่กำลังรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือมีประวัติการแท้งบ่อย ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อป้องกันการแท้ง


           การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้น ถ้าลองสังเกตก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากพบว่าตัวเองอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กและฝากครรภ์ให้เรียบร้อย เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งคุณแม่และทารกในท้องนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : paolohospital.com, bccgroup-thailand.com, petcharavejhospital.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการคนท้องแรก ๆ เช็กสัญญาณการตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัปดาห์แรกถึง 2 เดือน อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 17:17:14 45,564 อ่าน
TOP