x close

โรคซึมเศร้าหลังคลอด อันตรายที่เกิดได้กับคุณแม่มือใหม่ คนใกล้ชิดไม่ควรมองข้าม

         โรคซึมเศร้าหลังคลอด เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่ และนอกจากจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่แล้วยังส่งผลต่อลูกด้วย มาดูกันว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไร รักษาได้ยังไงบ้าง
โรคซึมเศร้า

          ทุกคนมักคิดว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดีที่จะมีสมาชิกตัวน้อยลืมตาดูโลก แต่อาจจะลืมนึกไปว่า ผู้ที่แบกรับความเครียดทั้งหลายคือตัวคุณแม่ นอกจากจะเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกแล้ว ยังสามารถเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึ่งก็เคยมีเหตุน่าสลดใจมาแล้ว แม้โรคซึมเศร้าในคุณแม่อาจไม่ใช่อาการป่วยถาวร แต่ก็บั่นทอนสุขภาพจิตไม่น้อย คนใกล้ชิดจึงควรศึกษาและหาทางช่วยเหลือคุณแม่ไปพร้อมกัน กระปุกดอทคอมมีวิธีรับมือมาฝากค่ะ

โรคซึมเศร้าหลังคลอดคืออะไร

          โรคซึมเศร้าหลังคลอดเป็นโรคทางอารมณ์ที่อาจส่งผลต่อผู้หญิงหลังจากคลอดลูกใหม่ ๆ คุณแม่ที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล เบื่ออาหาร และอ่อนเพลียอย่างสุดขีด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ทั้งยังมีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิง 1 ใน 7 จะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งต่างจากอาการ “เบบี้บลูส์” เพราะเบบี้บลูส์นั้นเป็นสภาวะที่มีระยะเวลาสั้น ๆ อาการคือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล หงุดหงิด กระสับกระส่าย และวิตกกังวลเช่นกัน แต่อารมณ์เหล่านี้จะอยู่เพียง 1-2 สัปดาห์ และโดยทั่วไปจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ดังนั้นจึงควรสังเกตว่า อาการของคุณแม่หลังคลอดดีขึ้นตามลำดับหรือค่อย ๆ แย่ลง

โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร

          ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น แต่เกิดจากสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ เพราะหลังคลอดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายของผู้หญิงจะลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้คุณแม่หลายคนก็ไม่สามารถพักผ่อนได้เต็มที่เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว เพราะต้องเลี้ยงลูกเอง การอดนอนอย่างต่อเนื่องทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและอ่อนเพลีย ซึ่งอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าหลังคลอดได้
โรคซึมเศร้า

อาการโรคซึมเศร้าหลังคลอด

          โรคซึมเศร้าหลังคลอดมีหลายอาการ ซึ่งคุณแม่อาจจะไม่รู้ตัว คนใกล้ชิดควรสังเกตดี ๆ ว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า
 

  • รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ว่างเปล่า
     
  • ร้องไห้บ่อยกว่าปกติ หรือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
     
  • วิตกกังวลมากเกินไป
     
  • หงุดหงิด กระสับกระส่าย
     
  • ง่วงนอนตลอดเวลา หรือนอนไม่หลับแม้ลูกจะหลับไปแล้ว
     
  • มีปัญหาในการจดจ่อ จดจำรายละเอียด และการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ
     
  • โกรธ โมโหง่าย
     
  • หมดความสนใจในกิจกรรมสนุก ๆ ที่เคยชอบ
     
  • ปวดตามร่างกาย เช่น ปวดหัวบ่อย ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ
     
  • กินน้อยเกินไป หรือกินมากเกินไป
     
  • เก็บตัว ออกห่างจากครอบครัวและเพื่อนฝูง
     
  • มีปัญหาเรื่องความรู้สึกผูกพันกับลูก
     
  • ไม่มั่นใจในความสามารถในการเลี้ยงลูกของตัวเองว่าจะเลี้ยงลูกได้ดีหรือเปล่า
     
  • คิดจะทำร้ายตัวเองหรือลูก
     

          ผู้หญิงที่มีอาการเหล่านี้ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดหรือเปล่า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที ก่อนที่จะรุนแรงขึ้น เพราะหากไม่รักษาโรคนี้อาจคงอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี และส่งผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวด้วย

โรคซึมเศร้า

วิธีรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอด

          ถ้ามั่นใจว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดแน่นอน ไม่ใช่อาการเบบี้บลูส์ วิธีการรักษาสามารถทำได้ดังนี้
 

  • พบจิตแพทย์เพื่อทำการบำบัด หรือเข้าพบนักจิตบำบัดก็ได้ แพทย์จะสั่งยาให้เพื่อคลายความกังวล ส่วนนักจิตบำบัดจะมีกิจกรรมทางจิตวิทยาที่ช่วยบำบัดความเครียดภายในจิตใจได้
     
  • รักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ก่อนอยู่ดี ยาต้านซึมเศร้านั้นจะมีผลต่อสารเคมีในสมองซึ่งเกี่ยวกับข้องการควบคุมอารมณ์ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ายานี้โดยทั่วไปถือว่าปลอดภัยที่จะใช้ในระหว่างการให้นม แต่ก็ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อย

คนใกล้ชิดช่วยอะไรได้บ้าง

          สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี พ่อแม่ หรือแม้แต่เพื่อนฝูง มักจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่รับรู้ถึงอาการซึมเศร้าหลังคลอดของบรรดาคุณแม่มือใหม่ สิ่งที่สามารถช่วยได้คือ พูดคุย รับฟังปัญหาหรือความเครียดต่าง ๆ ที่เธอต้องเจอ ชวนเธอไปพบนักจิตบำบัด และช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูก เช่น ช่วยเหลืองานบ้านอื่น ๆ หรือช่วยเลี้ยงลูกในส่วนที่สามารถทำได้ ก็จะช่วยลดความเครียดและอาการซึมเศร้าของคุณแม่ได้ค่ะ
 

          โรคซึมเศร้าหลังคลอดเป็นเรื่องเล็กที่ไม่เล็ก และคุณแม่ต้องการกำลังใจอย่างมากในการผ่านพ้นวิกฤตชีวิตในช่วงนี้ไปให้ได้ ดังนั้นอย่าลืมดูแลกันและกันให้ดีนะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : nimh.nih.gov, womenshealth.gov, psychiatry.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคซึมเศร้าหลังคลอด อันตรายที่เกิดได้กับคุณแม่มือใหม่ คนใกล้ชิดไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 14:55:17 9,470 อ่าน
TOP