ท้องทิพย์ คืออะไร ? รู้จักโรคคิดไปเองว่าท้อง หรือ Pseudocyesis ที่เกิดขึ้นได้จริง

          ท้องทิพย์ คืออะไร การที่คุณแม่บางคนคิดไปเองว่าท้อง แต่พอไปตรวจกลับไม่พบว่าตั้งครรภ์ ลองมาดูกันว่าโรคท้องหลอกนี้มีจริงไหม เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมแนวทางการรักษา
ตั้งครรภ์

          การ “ท้องทิพย์” หรือโรคคิดไปเองว่าท้อง ถือเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ในข่าวบ่อย แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ พร้อมขมวดคิ้วสงสัยว่าโรคนี้มีจริงหรือ ? ลองมารู้จักภาวะท้องหลอก ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นแบบไหน พร้อมวิธีการรักษาในปัจจุบันกัน

ท้องทิพย์คืออะไร มีจริงไหม

          ท้องทิพย์ หรือ ท้องหลอก ในทางการแพทย์เรียกว่าภาวะท้องเทียม (Pseudocyesis) คืออาการผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้หญิงคิดว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยจะรู้สึกว่ามีอาการเหมือนคนท้องทุกอย่าง แต่เมื่อพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายดูแล้ว กลับไม่พบสิ่งที่แสดงว่าตั้งครรภ์ ซึ่งต่างจากกรณีภาวะท้องลมที่แพทย์ตรวจพบอาการบ่งชี้ว่ามีการตั้งครรภ์จริง แต่ไข่ฝ่อไปหรือตัวอ่อนไม่มีการเจริญเติบโต
 

          อย่างไรก็ตาม ท้องเทียมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้น้อยมากเพียงแค่ 0.0045-0.0272% ของการตั้งครรภ์เท่านั้น และในปัจจุบันมีแนวโน้มพบได้น้อยลงเรื่อย ๆ โดยไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น เพราะมีรายงานการพบภาวะท้องเทียมในผู้ชายด้วย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มีอาการหลงผิด

ท้องทิพย์ หรือ ท้องหลอก เกิดจากอะไร

          แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมากพบว่าโรคท้องทิพย์นี้เกิดจากสภาพทางจิตใจเป็นหลัก โดยผู้หญิงที่เป็นมักจะต้องการมีบุตรอย่างมากแต่ไม่มีสักที อาจผ่านการรักษาหมดเงินหมดทองไปมากมายแต่ก็ยังไม่ท้อง จนทำให้เครียด โดยทางการแพทย์เชื่อว่าความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีลูก ทำให้ร่างกายตอบสนองบางอย่าง บวกกับสมองเชื่อหรือรับรู้แบบผิด ๆ ไปว่าตั้งท้อง จึงกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดออกมา เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรแลกติน (Prolactin) ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายเกิดอาการเหมือนกับการตั้งครรภ์จริง ๆ
 

          ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การเสียใจจากการแท้ง การต้องการที่จะแต่งงาน การกลัวการตั้งครรภ์อย่างมาก การผิดหวังจากการที่ต้องตัดมดลูก หรือในบางกรณีก็พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) เป็นต้น

ตั้งครรภ์

อาการท้องหลอกเป็นอย่างไร

          โรคท้องทิพย์ หรือ ภาวะท้องเทียม เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่มีอาการแสดงต่าง ๆ ได้แก่
 

  • ประจำเดือนขาด

          การที่ประจำเดือนขาดสามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่มากระตุ้นรังไข่ ทำให้ผนังมดลูกหนาตัวและไม่มีประจำเดือน โดยทั่วไปแล้วจะขาดไปประมาณ 3-4 เดือน แต่ก็เคยมีรายงานว่าขาดประจำเดือนไปถึง 9 เดือนเลยก็มี
 

  • หน้าท้องโตขึ้น

          สำหรับท้องที่ใหญ่ขึ้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด อาจเกิดจากคนกลุ่มนี้อยากท้องอยู่แล้ว จึงกินอาหารบำรุงทำให้เกิดการสะสมของชั้นไขมันหน้าท้อง
 

  • รู้สึกว่ามีลูกดิ้นในท้อง

          ผู้หญิงรู้สึกว่าลูกดิ้นหรือคนรอบข้างจับต้องได้นั้นเกิดจากการบีบตัวของลำไส้ หรือการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ทำให้มีการขยับคล้ายกับลูกดิ้นได้ในบางราย
 

  • เต้านมขยายใหญ่ขึ้น

          เต้านมขยายเกิดมาจากต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนของสตรีมีครรภ์ออกมา เพื่อกระตุ้นให้เต้านมขยายเตรียมพร้อมผลิตน้ำนมให้ลูก
 

  • มีอาการแพ้ท้อง

          อาการแพ้ท้องต่าง ๆ สามารถเกิดได้จากอารมณ์ จิตใจ ความเครียด และการที่มีลมอยู่ในระบบทางเดินอาหารก็กระตุ้นให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
 

  • ท้องแข็ง ปัสสาวะบ่อย

          เกิดจากความวิตกกังวลและคิดหมกหมุ่นจนทำให้รู้สึกต้องปัสสาวะบ่อย ๆ หรือมีอาการท้องแข็งได้

         
          อาการเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้หญิงแต่ละคน รวมถึงประวัติทางการแพทย์ด้วย บางคนมีอาการท้องหลอกอยู่เพียงไม่กี่วัน เป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยทั่วไปแล้วจะท้องหลอก 9 เดือนและอาจนานถึงปีเลยก็มี
ตั้งครรภ์

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะท้องทิพย์ หรือ ท้องเทียม

          การวินิจฉัยสำหรับภาวะท้องเทียม ได้แก่ การทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะให้ผลเป็นลบ (คือไม่ท้อง) นอกจากนั้นการตรวจอื่น ๆ ที่ช่วยให้รู้ได้ชัดเจนว่าท้องหลอก ได้แก่ การตรวจร่างกายแล้วฟังไม่ได้ยินเสียงหัวใจทารก หรือคลำมดลูกกับตัวทารกไม่ได้ รวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์แล้วไม่พบว่ามีทารกอยู่ในมดลูก ซึ่งจากความก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะพบผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเทียมนานหลาย ๆ เดือนโดยไม่รู้ตัวว่าไม่ได้ตั้งครรภ์จริง

การรักษาโรคท้องทิพย์

          โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนจากการตรวจเพิ่มเติมแล้วว่าไม่ได้ท้องจริง อาการที่คล้ายการตั้งครรภ์ต่าง ๆ ก็มักจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่การพบจิตแพทย์ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะปัญหาด้านจิตใจเป็นต้นเหตุของอาการท้องทิพย์ โดยแนวทางการรักษาจะมุ่งเน้นการเยียวยาทางใจมากกว่าใช้ยา เช่น การให้คำแนะนำ การให้กำลังใจ การช่วยผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล  
 

          ถึงท้องทิพย์จะเป็นแค่อาการที่คิดไปเอง แต่อย่าลืมว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อรู้ความจริงก็อาจจะเกิดความผิดหวังรุนแรงที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้นครอบครัวจึงควรดูแลสภาพจิตใจให้มาก ๆ อีกทั้งสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ที่ดี จะได้ไม่ต้องพบเจอกับภาวะท้องหลอกอีก
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : si.mahidol.ac.th, praram9.com, เฟซบุ๊ก OBG Social, เฟซบุ๊ก Absolute-Health.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องทิพย์ คืออะไร ? รู้จักโรคคิดไปเองว่าท้อง หรือ Pseudocyesis ที่เกิดขึ้นได้จริง อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2564 เวลา 16:58:52 20,676 อ่าน
TOP
x close