แม่ท้องกับยา..ไทย จีน ฝรั่ง (Momypedia)
โดย บุษกร
คุณแม่ท้องหลายคน อาจเป็นกังวลเมื่อถึงคราวป่วยไข้ต้องกินยา เพราะส่วนใหญ่จะถูกเตือนกันมาจากหลายทาง ทั้งคุณหมอที่ดูแล หรือจากสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียงของการกินยาที่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้
ยิ่งยุคนี้การรักษาโรคมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน จึงเกิดข้อสงสัยกันมากว่า ยาของทั้ง 3 ศาสตร์การแพทย์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นปลอดภัยกับแม่ท้องหรือไม่ รวมถึงมีสรรพคุณช่วยรักษา บำรุงร่างกายได้จริงดังคำกล่าวอ้างหรือเปล่า และถ้าใช้ร่วมกันจะเป็นอย่างไร
ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในยาทั้ง 3 ศาสตร์ได้เลยค่ะ...
ยาแผนปัจจุบัน
ยาแผนปัจจุบันหรือเราอาจเรียกว่า ยาฝรั่ง ที่ทั้งโลกมีอยู่หลายแสนตำรับ แต่คุณแม่สบายใจได้ เพราะมีอยู่ไม่กี่สิบตำรับที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ ที่ทำให้เกิดความพิการอย่างแน่ชัด ส่วนที่เหลือแค่ควรระวังในการกินเท่านั้น
นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์ สูติแพทย์ โรงพยาบาลกลาง อธิบายว่ายาแบ่งเป็นหลายกลุ่มมีทั้งกลุ่มที่กินได้ไม่มีอันตราย กลุ่มที่ควรระวัง และกลุ่มที่มีอันตราย
"ยากลุ่มที่ควรระวัง เราก็ควรเลี่ยง เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดความพิการ แต่ก็ควรระวังไว้ก่อน แต่ก็มียาปฏิชีวนะบางกลุ่มที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแน่ ๆ เช่น กลุ่นเพนนิซิลิน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สบายก็ควรใช้ยาปฏิชีวนะพื้น ๆ ไม่ต้องไปบอกหมอว่าจะเอายาแรง ๆ เอาตัวใหม่ ๆ ล่าสุด เพราะเราต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย
ยาที่ปลอดภัยคือยาที่ใช้มานานแล้ว ส่วนยาที่ออกมาใหม่ ๆ ก็เลี่ยงไปก่อน เพราะวันนี้อาจยังไม่เจอรายงานความผิดปกติ แต่ไม่แน่อีก 5 ปี -10 ปี อาจจะเจอก็ได้"
นอกจากนี้ คุณหมอวิชัยได้อธิบายการแบ่งกลุ่มยาแผนปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่ม A B C D และกลุ่ม X ซึ่งเป็นกลุ่มยาอันตราย
ยากลุ่ม A รับรองว่าปลอดภัย 100 % ผ่านการวิจัยและทดลองมาแล้ว ยาในกลุ่มนี้ก็คือพวกวิตามิน ซึ่งกินแล้วมักไม่มีปัญหาอะไร
ยากลุ่ม B คือกลุ่มยาที่ผ่านการทดลองในสัตว์ พบว่าปลอดภัยไม่มีปัญหาอะไร แต่ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ แต่นำมาใช้ในคนแล้วเป็นระยะเวลานานพอสมควร และมีรายงานว่ายังไม่พบความพิการจากยากลุ่มนี้เลย
กลุ่มนี้คือ ยาปฏิชีวนะที่เราใช้กันทั่วไป ที่ทางการแพทย์ถือว่าปลอดภัย เช่น พวกแอมพิซิลิน เพนนิซิลิน และกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล ยาลดไข้ต่างๆ กลุ่มนี้ถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัย
ยากลุ่ม C คือกลุ่มยาที่ผลิตออกมาและทำการทดลองในสัตว์แล้ว พบว่าปลอดภัย แต่ในมนุษย์ยังไม่แน่ใจ คือค่อนข้างปลอดภัยแต่ไม่ 100% เต็ม เป็นกลุ่มที่ให้กินด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะเป็นยาปฏิชีวนะอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจมีคนไข้บางกลุ่มใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม B ไม่ได้ เช่น แพ้เพนนิซิลิน จึงต้องมาใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม C แทน โดยต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้การดูแลของแพทย์
ยากลุ่ม D คือกลุ่มยาที่มีรายงานว่าทำให้เกิดความพิการ หรือความผิดปกติของเด็กในครรภ์ได้ แต่ใช้แล้วมีประโยชน์กับแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น ถ้าจะใช้ยาในกลุ่มนี้แพทย์ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์กับโทษ เช่น ยารักษาวัณโรค หรือยาควินินที่ใช้รักษาโรคมาเลเรีย ซึ่งมีโทษกับเด็กในครรภ์อาจทำให้เกิดความพิการ แต่ถ้าแม่เป็นวัณโรค เป็นมาเลเรียแล้วไม่รักษา โรคอาจลุกลามจนแม่เสียชีวิต
ยากลุ่มนี้จึงต้องกินด้วยความระมัดระวัง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดและวิจารณญาณของแพทย์ว่าจำเป็นต้องใช้เพียงใด
สุดท้ายยากลุ่ม X เป็นยาอันตราย กินเข้าไปมีผลกระทบกับลูก เป็นยาที่ทำให้เกิดความพิการต่อเด็กแน่นอน เช่น กลุ่มยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งทั้งหลาย ยากลุ่ม X จะมีสัญลักษณ์กากบาทเป็นตัว X ไว้บนฉลาก และบอกไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
และส่วนใหญ่หากคุณแม่เป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาด้วยยากลุ่ม X คุณหมอมักจะมีการตรวจร่างกายว่าตั้งครรภ์หรือไม่ก่อนเสมอ ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องกังวลกับยากลุ่มนี้มาก เพราะยากลุ่ม X ซึ่งถือเป็นยาอันตราย ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์ที่รัดกุมอยู่แล้วค่ะ
เตือนคุณแม่ไมเกรน เมื่อท้องต้องหยุดยา
ยาบางอย่างดูเหมือนไม่น่ากลัว แต่ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ลูกในครรภ์พิการได้ ที่พบบ่อย คือ ยาไมเกรน ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสตรี คุณแม่ที่เป็นไมเกรนเมื่อตั้งครรภ์ ต้องหยุดยารักษาไมเกรนตัวที่ใช้อยู่เดิมก่อน เพราะยารักษาไมเกรนมีคุณสมบัติทำให้เส้นเลือดหดตัว เนื่องจากคนที่เป็นไมเกรนเส้นเลือดในสมองจะโป่งพอง ทำให้ตึงในสมองและปวดมาก
ยาไมเกรนจะเป็นสารทำให้เส้นเลือดตีบตัว ถ้าคุณแม่กินเข้าไปจะทำให้เส้นเลือดที่รกตีบตัวไปด้วยจนเลือดไปเลี้ยงลูกไม่เพียงพอ ฉะนั้นถ้ากินยาไมเกรนในช่วงที่เด็กยังเป็นตัวอ่อนอยู่ก็อาจจะทำให้เด็กมี ความพิการหรือถึงกับเสียชีวิตในครรภ์ได้
คุณแม่ที่ต้องรักษาโรคไมเกรน หากจำเป็นต้องใช้ยาต้องปรึกษากับคุณหมอ และแจ้งให้คุณหมอทราบให้ชัดเจนว่าอายุครรภ์เท่าใด เพื่อให้คุณหมอเลือกให้ยาที่ไม่เป็นอันตรายกับลูกในท้อง หรืออาจเลี่ยงไปใช้วิธีการบรรเทาปวดศรีษะไมเกรนด้วยวิธีอื่นทดแทนการกินยาไปก่อนค่ะ
คุณแม่ท้อง รักษาสิวต้องระวัง
การรักษาสิว
ฟังดูไม่น่ากลัวอะไร แต่รู้หรือไม่คะว่า ยารักษาสิวบางตัวอันตรายมากสำหรับเด็กในครรภ์ เช่น ยารักษาสิวยี่ห้อโรแอคคิวเทน ซึ่งนิยมใช้มากในการรักษาสิวอักเสบที่มีอาการมาก ๆ เรื่องนี้คุณหมอวิชัยอธิบายว่า
"ยาที่คุมสิวได้มีคุณภาพมากที่สุดคือ โรแอคคิวเทน ซึ่งจะมีผลต่อการปรับระดับฮอร์โมนของผู้หญิง มีการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่า ถ้ากินเข้าไประหว่างตั้งครรภ์จะทำให้มีความพิการของทารกแน่นอน ซึ่งหากกินเข้าไปโดยที่ไม่รู้ว่าท้อง เมื่อทราบภายหลังอาจพิจารณาให้ทำแท้งได้เลย เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงมาก"
ดังนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์จะรักษาสิว ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ผิวหนังที่ดูแลทราบว่า คุณกำลังตั้งครรภ์อยู่เพื่อให้คุณหมอจ่ายยาที่ไม่เป็นอันตราย หรือบางคนหากจะต้องรับประทานยาตัวที่เป็นอันตรายที่ว่า ก็ควรตรวจเช็คร่างกายให้มั่นใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์อยู่
คุณหมอวิชัย สรุปในตอนท้ายว่าสำหรับยาแผนปัจจุบัน หลักในการใช้ยาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็คือ เลี่ยงการกินยาที่ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะ แต่หากคุณแม่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องได้รับยาบางชนิดเมื่อตั้งครรภ์ต้องรีบแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบทันที เพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียในการรับยานั้น
ยาสมุนไพรไทย
ยาไทยก็เช่นเดียวกับยาฝรั่ง มีทั้งกลุ่มที่ให้คุณประโยชน์ และกลุ่มที่ให้โทษ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและรู้จริง คุณสันติสุข โสภณสิริ แพทย์แผนไทย จากมูลนิธิสุขภาพไทย ให้ข้อแนะนำในการใช้ยาสมุนไพรกับคุณแม่ตั้งครรภ์ว่า
"ตามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยโบราณ มีตำรายาให้แม่ท้องกินตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ แต่ปัจจุบันยาเหล่านั้นบางตัวหายาก ซึ่งตอนนี้ยาที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประยุกต์มาจากตำรายาไทยโบราณ เพื่อใช้สำหรับแม่ตั้งครรภ์จะประกอบด้วยยาแก้อาการต่าง ๆ เช่น อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน แก้อาการท้องผูก แล้วก็ยาบำรุงครรภ์ บำรุงคุณแม่และเด็กในท้อง บางตัวเป็นยาที่เรารู้จักกันดีและใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่บางตัวต้องระวังในการใช้มาก ๆ"
ยาสมุนไพรไทยที่ใช้กับแม่ท้อง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. แก้อาการแพ้ท้อง 2. ยาระบาย และ 3. ยาบำรุงครรภ์
ยาแก้อาการแพ้ท้อง
ที่พอจะหาได้ง่าย ๆ คือ น้ำขิง ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน โดยใช้วิธีเตรียมแบบโบราณ คือ นำขิงแก่ ล้างให้สะอาด ขนาดเท่าหัวแม่มือมาทุบ ต้มกับน้ำประมาณ 1 แก้ว ใช้ไฟอ่อน ๆ ต้มให้เดือดประมาณ 1-2 นาที การใช้ไฟอ่อน ๆ จะทำให้เกิดการเดือดโดยที่น้ำไม่แห้ง เวลากินอาจเติมน้ำตาลนิดหน่อย ค่อย ๆ จิบ จะช่วยลดอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ได้
มะขาม ก็แก้อาหารแพ้ท้องได้ โดยใช้เนื้อมะขามล้วน ๆ ปั้นประมาณขนาดนิ้วหัวแม่มือ 2 ก้อนหรือ 1 ช้อนชา ละลายน้ำอุ่นแล้วจิบ หรือจะใช้มะขามเปียกจิ้มกับเกลือ กินพอรู้สึกดีขึ้นก็หยุด
ความจริงของเปรี้ยวหลายอย่าง เช่น มะนาว มะดัน ส้มเปรี้ยว ฯลฯ ใช้แก้อาการแพ้ท้องได้ แต่อย่างรับประทานมากเดินไป จะทำให้เสาะท้อง และกระทบกระเทือนกับช่วงมีครรภ์อ่อน
สมุนไพรแก้อาการแพ้ท้องอีกอย่างหนึ่งที่ตอนนี้หายากแล้วคือ ลูกยอ นำมาหั่นเป็นแว่นบาง ใช้ไฟอ่อน ๆ คั่วจนเหลืองกรอบหอม แล้วนำมาต้มหรือชงน้ำร้อน แก้อาการสำรอกอาเจียนได้
สมุนไพรบำรุงครรภ์
สมุนไพรที่โบราณนิยมใช้บำรุงครรภ์คือ เกสรดอกบัว นิยมใช้เกสรจากดอกบัวขาว หรือบัวหลวงที่เราใช้ไหว้พระนี่ล่ะค่ะ ดอกบัวถือเป็นยาบำรุงครรภ์ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้อาการใจสั่น ทำให้ธาตุในร่างกายสมดุล เชื่อกันว่าช่วยบำรุงครรภ์ ทำให้รกเกาะติดดี ไม่เคลื่อน ไม่คลอดก่อนกำหนด ป้องกันการแท้ง จะใช้สดหรือแห้งก็ได้ แต่ที่ต้องระวังคือ ต้องหาดอกบัวจากแหล่งที่ปลอดสารพิษนะคะ
วิธีใช้ คือ นำเกสรดอกบัวมาประมาณหยิบมือหนึ่ง จะเป็นเกสรแบบสดหรือแห้งก็ได้ แล้วชงกับน้ำร้อนเดือด ๆ ตั้งไว้ให้อุ่น ดื่มวันละแก้ว
ไม่เพียงเกสรดอกบัวเท่านั้น แม้แต่เมล็ดบัวก็ช่วยบำรุงครรภ์ได้ จะเป็นเมล็ดบัวแห้งที่เอามาทำเต้าทึง หรือเมล็ดบัวสด ๆ ก็ใช้ได้ โดยการใช้คือ นำเมล็ดบัว 1 ถ้วย (ประมาณ 30 กรัม) นึ่งหรือต้มแล้วกิน หรือจะเอาไปปั่นเพื่อให้กินง่ายขึ้นก็ได้ เมล็ดบัวอุดมด้วยสารอาหาร เช่น แคลเซียม โปรตีน เหล็ก วิตามินบี ช่วยบำรุงทั้งแม่และเด็กในท้อง
อีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เชื่อว่าช่วยบำรุงครรภ์คือ น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนเผา ซึ่งคุณสันติสุขแนะนำว่าให้ผู้หญิงที่ตั้งท้อง 5 เดือนขึ้นไปกินเพื่อบำรุงเท่านั้น ช่วยให้เด็กคลอดง่าย ไม่มีไขมันเมือกติดตัวเด็กเยอะ แต่ที่ต้องระวังคือ ท้องอ่อนอายุครรภ์ต่ำกว่า 5 เดือนไม่ควรกิน และมะพร้าวต้องเป็นมะพร้าวอ่อนจริง ๆ กินทั้งเนื้อทั้งน้ำมะพร้าววันละลูกก็พอ ถ้าเป็นมะพร้าวเผาก็จะยิ่งดี เพราะการเผาหากมีสารใดที่เป็นพิษกับร่างกายแบบนิด ๆ หน่อย การเผาด้วยความร้อนจะทำลายฤทธิ์ของสารต่าง ๆ นั้นได้ แต่มะพร้าวแก่ ๆ ไม่ควรกินเพราะมีกะทิซึ่งเป็นไขมันมากเกินไป ไม่เหมาะกับคนท้อง
ยาระบาย
ผู้หญิงท้องแก่มักท้องผูก ถ้าต้องออกแรงเบ่งถ่ายมากจะเป็นอันตราย เพราะฉะนั้นจึงมียาระบายมาช่วย คือ กล้วยน้ำว้าสุกงอมเต็มที่ ซึ่งย่อยง่าย ช่วยบำรุงร่ายกายได้ดี มีสารแพคตินมาก ช่วยระบายอ่อน ๆ กินครั้งละ 2-3 ลูก โดยต้องเคี้ยวนาน ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืนจะป้องกันอาการท้องอืดเพราะกล้วยไม่ย่อยได้
นอกจากนี้ ก็มีมะละกอสุกและน้ำมะขาม ที่เป็นยาระบายได้ดี ส่วนสมอไทยก็เป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่ปลอดภัย แต่ตอนนี้สมอไทยกลายเป็นของหายากในบ้านเราไปแล้ว
สมุนไพรไทยต้องห้ามของแม่ท้อง
สมุนไพรไทยทั้งหลายที่มีคุณสมบัติทำให้มดลูกบีบตัว หรือที่เราอาจเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าเป็นยาบำรุงเลือด เช่น ว่านชักมดลูก กวาวเครือ ว่านนางคำ ดอกคำฝอย แห้วหมู ล้วนเป็นสมุนไพรที่ทำกระทบกระเทือนต่อครรภ์ ซึ่งต้องระวังไม่ไปหลงกินหรือกินมากเกินไปในช่วงมีครรภ์
กลุ่มยาสตรีทุกยี่ห้อในท้องตลาด ก็ห้ามสตรีมีครรภ์กินโดยเด็ดขาด เพราะการที่บอกว่าเป็นยาบำรุงเลือด ยาขับประจำเดือน จะมีคุณสมบัติทำให้มดลูกบีบตัว หดตัวอย่างแรงมากในการที่จะขับเลือดออกมา โดยคุณสันติสุขให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า
"ยาสตรีหรือยาขับประจำเดือนบำรุงเลือด พวกนี้จะมีสมุนไพรที่เรียกว่า เจตมูลเพลิงแดงผสมอยู่ ที่เขาใส่เจตมูลเพลิงแดง เพราะเป็นสมุนไพรที่เป็นตัวขับเลือด ยาสตรีบำรุงเลือดพวกนี้เป็นยาตำรับ ผสมพวกสมุนไพรร้อนเข้าไป จึงเป็นยาที่บีบมดลูกแรงมากเพื่อขับประจำเดือน อีกตัวที่เขาใส่คือ เอี้ยบ่อเช่า หรือภาษาไทยคือ กัญชาเทศ ตัวนี้เป็นตัวเสริมกับเจตมูลเพลิงแดง เป็นตัวขับเลือด นอกนั้นอาจจะใส่ว่านชักมดลูกเข้าไปด้วย จำง่าย ๆ ว่ากลุ่มยาบำรุงเลือดทั้งหลาย ยังไงก็เป็นยาขับประจำเดือนอยู่แล้ว แม่ท้องห้ามกิน"
นอกจากนี้กลุ่มยาดองเหล้าทั้งหลายก็ห้ามนะคะ เพราะผสมแอลกอฮอล์ ไม่มีประโยชน์ต่อแม่และลูกอยู่แล้ว
ส่วนยาสมุนไพรที่เราเห็นในท้องตลาดเป็นสมุนไพรแบบแห้ง ๆ ที่เป็นยาหม้อ ยาต้ม คุณสันติสุข กล่าวว่า ความจริงแพทย์แผนไทยก็เหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบัน มีการควบคุมการประกอบโรคศิลป การที่แพทย์แผนไทยจะจ่ายยาเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์หรือหลังคลอดบุตร ต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย คุณแม่ควรดูให้แน่ว่าแพทย์แผนไทยคนนั้น มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป จากกระทรวงสาธารณสุขหรือเปล่า ดังนั้นทางที่ดีอย่าเสี่ยงรับยาไทย ยาหม้อ ยาต้มจากใครก็ไม่รู้ ที่สำคัญเราเองก็ไม่ทราบว่าตัวยานั้นคืออะไร
ยาจีน
ใครอยู่ในครอบครัวคนจีน ต้องเคยเห็นอาม่าหายาจีนมาคะยั้นคะยอให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในครอบครัวกินแน่นอน คุณแม่สมัยใหม่บางคนไม่มั่นใจว่ายานี้คืออะไร กินแล้วจะมีอันตรายไหม ซึ่งหมอสูติฯ เกือบทุกคนก็ต้องเคยเจอกับคำถามคาใจแบบนี้จากคุณแม่
นพ.สมชัย โกวิทเจริญกุล สูติแพทย์ ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และนายกสมาคมแพทย์ฝังเข็มและสมุนไพร คุณหมอสมชัยเป็นหนึ่งในแพทย์แผนปัจจุบัน ที่หันไปสนใจศึกษาศาสตร์แพทย์แผนจีน ทั้งเรื่องการฝังเข็มและสมุนไพรจีนจนเชี่ยวชาญ ได้เล่าให้ฟังถึงยายอดนิยมที่คนจีนทั่วโลกต้องหามาให้แม่ท้องกินคือ ตัวยาที่ชื่อ จับซาไท้เป้า ที่มีสูตรเดียวกันทั่วโลก
"จับซาไท้เป้า เป็นกลุ่ม 13 ตัวยาที่ใช้รวมกัน เพื่อจะปกปักรักษาทั้งแม่ทั้งลูก ส่วนใหญ่จะทำให้สุขภาพของแม่ตั้งครรภ์ดีขึ้น เพราะแม่มักจะอ่อนแอในระยะท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ แต่เป็นช่วงที่ต้องเริ่มสะสมอาหาร สะสมพลังงานและภูมิต้านทานเผื่อไว้ให้ลูกและการคลอด ยานี้จะกินหลังจากอายุครรภ์ 6 เดือนไปแล้ว เชื่อกันว่าช่วยให้แม่ตั้งครรภ์สุขภาพแข็งแรงขึ้น มีกำลังในการเบ่งคลอด มีสตรีตั้งครรภ์กินยาจีนจำนวนมาก ก็ยังไม่พบรายงานความผิดปกติ การใช้ยาจีนขณะตั้งครรภ์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความรู้จริง"
จับซาไท้เป้า ได้รับความนิยมมากมีตั้งแต่รูปแบบยาต้มจนถึงยาลูกกลอน โดยตามร้านขายยาจีนจะเจียดยาให้เป็นสมุนไพรแผ่น ๆ หรือเม็ด ๆ หรือเป็นผง เป็นรากไม้ ใบไม้ ผสมกัน 13 อย่างนำมาต้ม แล้วก็กรองดื่ม หรือในปัจจุบันมียาเม็ดจับซาไท้เป้าที่หลายบริษัทในเมืองจีนผลิต แล้วส่งเข้ามาขายในเมืองไทย สามารถหายาตัวนี้ได้ทั่วโลก ทุกประเทศที่มีร้านขายยาจีน และเป็นจับซาไท้เป้าสูตรเดียวกันทั่วโลก
คุณหมอสมชัย อธิบายต่อว่ายาจีนทุกตัวเป็นสมุนไพร ที่ผ่านการทดลองในคนไข้จริง ๆ เป็นเวลาพัน ๆ ปี ผลหรือประสิทธิภาพย่อมเป็นที่ประจักษ์ ยาจีนตัวใดที่มีความไม่ปลอดภัย มีอันตราย ทำให้เด็กผิดปกติ ทำให้เกิดการแท้ง หรือยาที่ทำให้เด็กปลอดภัย มีสุขภาพดี สิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในตำราแพทย์แผนจีน มีการบันทึกเหมือนแพทย์แผนปัจจุบันว่า ยากลุ่มใดมีผลต่อแม่ ยากลุ่มไหนมีผลต่อลูก แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ ยาที่มีผลต่อแม่โดยตรง
กลุ่มที่ 2 คือยาที่มีผลต่อลูกในครรภ์
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีผลต่อการคลอด
กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่มีผลต่อทารกแรกเกิด
"ยาที่มีผลต่อเด็กในครรภ์แบ่งคร่าว ๆ ได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งทำให้เด็กพิการ อีกกลุ่มหนึ่งทำให้เกืดการแท้ง มียาจีนที่ทำให้เด็กแท้งประมาณ 50-60 ตัว ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นยากลุ่มที่ต้องห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
อีกกลุ่มคือยาที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง อาจจะไม่ทำให้แท้ง แต่อาจทำให้เด็กพิการได้ ตามตำราบันทึกไว้มีประมาณ 50-60 ตัวเช่นกัน ถ้าจะใช้ยากลุ่มนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดปกติขณะตั้งครรภ์หรือคลอด แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็จะปลอดภัย โดยต้องใช้ภายใต้การแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ"
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาที่มีประโยชน์ เช่น ยาแก้อาการแพ้ท้อง มียาจีนที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งใช้ได้ในช่วงต้น ๆ ของการตั้งครรภ์ และยังมีกลุ่มยาที่ทำให้เด็กสุขภาพแข็งแรง และกลุ่มที่ช่วยให้แม่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งยาบำรุงร่างกายของแม่และลูกนี้มักให้แม่กินในช่วงหลังอายุครรภ์ 6 เดือนไปแล้ว
ข้อควรระวังสั่งยาจีน
ส่วนยาจีนที่ห้ามแม่กิน คุณหมอสมชัยบอกว่ามี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ยากลุ่มที่ทะลุทะลวงไปกระจายเลือดที่อุดตันหรือคั่งอยู่ ซึ่งจะไปทะลุทะลวงที่บริเวณเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดในมดลูกด้วย ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้
และอีกกลุ่มที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับยากลุ่มแรก คือ ยาที่ทำให้เลือดไหลช้าลงหรือไม่ต้องการให้เลือดไหลพุ่งมาก ยากลุ่มนี้ก็จะไปรบกวนการไหลเวียนของเลือดในมดลูกหรือตัวเด็กให้ช้าลงจนไม่เพียงพอ ทำให้เด็กแท้งหรือไม่เจริญเติบโตเต็มที่
"ยาจีนหรือการฝังเข็ม มีหลักเหมือนกันคือต้องระมัดระวังผลที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ บวกและลบ คือทั้งการกระตุ้นและลดสลายจะมีผลกับมดลูกได้ ต้องระมัดระวังว่าจะไปมีผลต่อตัวเด็กและตัวมดลูก หลักการของยาจีนคล้ายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการจัดระบบและระบุไว้ในตำรายาจีนเป็นพันปีมาแล้ว"
ข้อคิดเรื่องยาจีน
คุณหมอสมชัยบอกว่า ต้องมั่นใจว่าผู้ที่จ่ายยาให้เรามีความรู้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงความปลอดภัย เพราะหากมีความรู้เรื่องตัวยา สรรพคุณ น้ำหนักของยา และทราบระยะเวลาของการตั้งครรภ์แน่นอน แพทย์จีนท่านนั้นก็จะสามารถสั่งยาที่ปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ และสามารถให้คำแนะนำในการใช้ที่ถูกต้องได้
ส่วนเรื่องแหล่งในการซื้อยาจีนนั้น ในเมืองไทยรัฐบาลยังไม่มีระบบควบคุมยาจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ แต่ปัจจุบันมีความพยายามของสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงสาธารณสุข กำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลและควบคุมมาตรฐานเรื่องการแพทย์แผนจีนโดยเฉพาะอยู่
"เบื้องต้นการเลือกร้าน ขายยาจีนในประเทศไทย ควรเลือกร้านที่เชื่อถือได้ เป็นที่รู้จักว่า เขามีหมอจีนหรือเภสัชกรจีนที่ไว้ใจได้ เชื่อถือได้ ขายยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย และมีความรู้จริง มีจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงที่จะต้องจัดระเบียบต่อไปด้วย แต่ปัจจุบันมีแพทย์จีนหรือแพทย์ฝังเข็มถูกจัดเข้ามาสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เวลานี้มีหลายร้อยท่านที่ได้รับการรับรองผ่านการสอบกับกระทรวงสาธารณสุข เรียบร้อยแล้ว มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง ถ้าจะหายาจีนแล้วไม่รู้แหล่งก็มองหาร้านที่แพทย์แผนจีนมีใบอนุญาตจากกระทรวง สาธารณสุข ก็จะการันตีความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง"
ยาจีนกับความจำเป็น
"ในมุมมองของผม เราอาจไม่เรียกว่าเป็นแพทย์ทางเลือก แต่น่าจะนำมาใช้ในการผสมผสานวิธีการรักษาให้เกิดผลดีกับคนไข้ เพราะมีหลายอย่างที่ได้ประโยชน์กับคนไข้ เช่น คนไข้แพ้ท้องมาก รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผล อาจเลือกใช้การรักษาด้วยการฝังเข็มและยาจีน ซึ่งอาจทำให้อาการดีขึ้นและปลอดภัย
ส่วนยาจีนเพื่อการบำรุงครรภ์ ผมมองว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะสิ่งสำคัญเวลาตั้งครรภ์ แม่ต้องดูแลเรื่องการพักผ่อน เรื่องจิตใจ เรื่องอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ให้เหมาะสมถูกต้อง แม่ก็จะมีสุขภาพที่ดีและสมบูรณ์ได้ ถามว่าจะใช้ยาจีนได้ไหม ถ้าจะใช้ก็ต้องมีความรู้จริง และใช้เป็นส่วนเสริมเข้ามาเท่านั้น"
ฟังข้อมูลจากแพทย์ทั้ง 3 ศาสตร์แล้ว สรุปได้ว่าหลักการในการใช้ยาของทั้ง 3 ทางเลือกคล้ายกันค่ะคือ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ภายใต้การแนะนำของแพทย์หรือผู้รู้ในศาสตร์นั้น ๆ โดยเฉพาะในช่วง 3-5 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไม่ควรจะกินยาที่ไม่รู้จักสุ่มสี่สุ่มห้า ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องปรึกษาแพทย์ หรือก่อนจะรับยาใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ว่ากำลังตั้งครรภ์และอายุครรภ์กี่เดือน
ยาก็เหมือนทุกสิ่งในโลกนี้มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ใช้ถูกก็ให้คุณอนันต์ ใช้ไม่ถูกหรือไม่ระวังก็ให้โทษตามมาค่ะ
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ