เวิร์กกิ้งมัม กับแท้งคุกคาม

ตั้งครรภ์

Working mom กับแท้งคุกคาม (Mother & Care )

           ในปัจจุบันภาวะแท้งคุกคามเกิดขึ้นได้บ่อยในการตั้งครรภ์แรก เนื่องจากสภาพแวดล้อม การทำงานความเครียดจากในชีวิตประจำวันทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเวิร์กกิ้งมัมที่มีความกดดันจากทั้งการทำงาน และการตั้งครรภ์จึงต้องดูแลและระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ

แท้งคุกคาม คืออะไร?

           ภาวะแท้งคุกคาม มักเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม การตั้งครรภ์โดยไม่มีตัวอ่อน ความผิดปกติของมดลูก และสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้การเติบโตของทารกไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ หรือการมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิด และก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์

           นอกจากนี้ อาหาร ความเครียด และการทำงานยังมีส่วนทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคามได้ ซึ่ง 80% มักเกิดในช่วงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก เช่น ภาวะไข่ฝ่อ มีการอักเสบติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของแม่ผิดปกติ หรือการฝังของตัวอ่อนที่ยังไม่แข็งแรงจึงทำให้เกิดการหลุดของทารก แต่หากตรวจพบก่อนก็จะสามารถดูแลและป้องกันได้ค่ะ

เวิร์กกิ้งมัมปรับรูปแบบการทำงาน

           แม้ว่าแท้งคุกคามจะเกิดจากการผิดปกติของฮอร์โมน มดลูกหรือการฝังตัวของตัวอ่อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเครียด สิ่งแวดล้อมรอบตัว อาหารอื่นๆ ก็มีผลต่อความแข็งแรงในการสร้างตัวของทารกเช่นกัน คุณแม่ที่ทำงานในช่วงตั้งครรภ์จึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ และควรค่อย ๆ ปรับรูปแบบการทำงาน เพื่อป้องกันภาวะแท้งคุกคาม

        1. ผ่อนหนักเป็นเบา : คุณแม่ควรรีบบอกให้ที่ทำงานรู้เมื่อตั้งครรภ์ เพื่อจะได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ว่างานใดที่ยังสามารถทำได้อยู่และควรหลีกเลี่ยงงานใด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้แรงกำลังการลุกนั่งบ่อย ๆ หรืองานเอกสารที่มีความเครียดมาก

        2. หาเพื่อนคุย : หากเริ่มมีอาการวิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น คลื่นไส้หรือแพ้ท้องระหว่างทำงาน ให้หยุดพักสักครู่ หากมีความเครียดจากการทำงาน ก็ควรหาเพื่อนคุยเป็นคนใกล้ชิด หรือเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยระบายความเครียด

        3. กินเป็นเวลา : นอกเหนือจากการกินอาหารครบ 5 หมู่แล้ว การกินอาหารตรงเวลาและเป็นเวลาก็สามารถช่วย ป้องกันแท้งคุกคามได้ เนื่องจากบางครั้งติดพันอยู่กับการทำงานจนลืม หรือละเลยเมื่อถึงช่วงเวลากินข้าว ถึงแม้จะไม่รู้สึกหิวก็ควรฝึกกินให้เป็นเวลา เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ทำงานเป็นปกติ คุณแม่และทารก ได้รับพลังงานและสารอาหารเพื่อช่วยในการเติบโตได้อย่างเพียงพอ

        4. เดินทาง : เชื้อโรคและสารพิษต่าง ๆ ที่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากระหว่างการเดินทาง จึงควรหลีกเลี่ยงการเดนิทางไกลหรือไปในที่มีมลพิษมาก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อาจพกผ้าปิดปากและจมูก เจลสำหรับล้างมือ กระดาษทิชชูไว้ด้วย เพื่อรักษาความสะอาดหรือในกรณีที่ล้างมือไม่ได้ นอกจากนี้ ควรเลือกเดินทางด้วยพาหนะที่มีความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์หรือไปในเส้นทางที่ขรุขระ เลือกตำแหน่งการนั่งที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพราะจะเสี่ยงต่อการกระแทกหน้าท้องได้ง่ายหากรถหยุด

        5. ลุก นั่ง เดิน : ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ที่รกอาจยังเกาะตัวกับมดลูกได้ไม่ดีนัก ควรระมัดระวังการลุกและนั่งในท่าที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการก้ม เขย่ง การยกของที่ต้องออกแรงหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องมาก ไม่เดินเยอะจนเกินไปและไม่สวมรองเท้าที่มีส้นสูงเกิน 1 นิ้ว เพราะจะทำให้เดินลำบากต้องเกร็งกล้ามเนื้อในการทรงตัวมากขึ้น และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากรู้สึกปวดเกร็งกล้ามเนื้อให้หยุดเดิน และนั่งพักทันที

        6. อย่าชะล่าใจ : หมั่นสังเกตอาการของตัวเองเสมอ หากเริ่มมีอาการวิงเวียน หน้ามืดระหว่างทำงาน ปวดท้องหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดแม้เพียงเล็กน้อย ให้หยุดพักจากการทำงานก่อน นั่งหรือนอนพักนิ่ง ๆ แล้วโทรหาคุณหมอทันที เพื่อขอคำแนะนำ

        7. นอนเพียงพอ : ไม่ควรคิดหรือเครียดเรื่องงานก่อนช่วงเข้านอน เพราะจะนอนหลับไม่สนิท และควรหลับให้นานในช่วงกลางคืนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง เมื่อคุณแม่พักผ่อนทารกก็จะได้พักผ่อนด้วย จะช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกได้อย่างเต็มที่

        8. ลูกดิ้น : หากถึงช่วงที่สามารถรู้สึกได้แล้วว่าลูกดิ้น (เริ่มเมื่อตั้งครรภ์ 4-5 เดือน) ให้หมั่นสังเกตและนับการดิ้นของลูกเสมอ เช่น ดิ้นลดลงหรือมากขึ้น ไม่ดิ้น หรือดิ้นแรงจนเจ็บท้อง เนื่องจากการดิ้นของลูกที่เพิ่มหรือลดล งสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติได้ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกดิ้นผิดปกติ มักเกิดจากการที่แม่ทำงานหนักเกินไป หรือมีความเครียด จึงไม่ควรละเลยการดิ้นของลูก ถ้ารู้สึกว่าการดิ้นผิดปกติให้รีบปรึกษาคุณหมอ

        9. ออกกำลัง : แม้ว่าการออกกำลังจะไม่สามารถทำได้ในช่วงตั้งครรภ์ แต่ควรหากิจกรรมที่เคลื่อนไหวน้อย ๆ ทำ เช่น งานฝีมือ งานศิลปะ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดในช่วงตั้งครรภ์และจากการทำงาน ทั้งยังช่วยเพิ่มสมาธิอีกด้วย

        10. ใกล้หมอ : การอยู่ใกล้หมอจะช่วยให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง หากเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ นอกจากคุณหมอที่ฝากครรภ์แล้ว ควรดูว่ามีโรงพยาบาลใดที่อยู่ใกล้ที่ทำงานที่สุด เผื่อในกรณีฉุกเฉินจะได้ไปพบหมอได้ทันค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.6 No.72 ธันวาคม 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เวิร์กกิ้งมัม กับแท้งคุกคาม อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 13:29:46 1,441 อ่าน
TOP
x close