x close

แม่ตั้งครรภ์ อย่ามองข้ามความปลอดภัย!

ตั้งครรภ์

แม่ท้องอย่ามองข้ามความปลอดภัย!
(Mother & Care )

           ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของการตั้งครรภ์ อุบัติเหตุเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจากการขับรถ การยืน เดินสะดุด หรือโดนกระแทกเพียงเล็กน้อย อาจทำให้คุณแม่บาดเจ็บและเป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้ การใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง และไม่ประมาทจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ

โดนชน-กระแทกหน้าท้อง

           การเดินในที่ที่มีคนพลุกพล่าน มักทำให้คุณแม่โดนชนหรือกระแทกที่หน้าท้องเมื่อเดินสวนกับคนอื่น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินค่ะ

ปลอดภัยไว้ก่อน :

         เลี่ยงการเดินไปในบริเวณที่มีคนพลุกพล่านหรือเบียดเสียด เพราะจะทำให้คุณแม่อึดอัดและเสี่ยงต่อการโดนชนหรือกระแทกหน้าท้องได้ง่าย หากเลี่ยงไม่ได้อาจเดินให้ช้าลงและให้มือกุมหน้าท้องไว้

         ไม่สะพายกระเป๋าใบใหญ่ หรือถือของเยอะ เพราะจะทำให้เดินไม่สะดวก หากโดนชนอาจทำให้หกล้มได้ และถ้าคุณแม่ไว้ผมยาวก็ควรรวบผมทุกครั้งเพื่อไม่ให้ผมรุงรังเกี่ยวกับสิ่งใดได้

เดินสะดุด

           บางครั้งสิ่งรอบตัวก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ขอบประตู ที่มักทำให้เดินสะดุดเพราะก้าวพลาด หรือเดินชนเพราะมองไม่เห็นค่ะ

ปลอดภัยไว้ก่อน :

         เลี่ยงการใส่กางเกงหรือกระโปรงที่ยาวและบานเกินไป เพราะรุ่มร่ามและทำให้เหยียบตรงชายกระโปรงหรือกางเกงเวลาเดิน

         ใช้มือช่วยกะระยะเวลาเดิน เช่น ก่อนเดินเข้าประตูให้ยื่นแขนไปจนสุด ถ้าแตะขอบประตูได้พอดีก็แสดงว่าเดินผ่านได้ เพราะท้องจะไม่ใหญ่เกินกว่าแขนยื่นสุดค่ะ

ลื่นล้ม

           การลุกนั่งหรือทำอะไรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบความคล่องแคล่วว่องไว คงจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นบันได ห้องน้ำ หรือพื้นที่ไม่เรียบ เพราะความเร่งรีบจะทำให้หน้ามืดลื่นล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายค่ะ

ปลอดภัยไว้ก่อน :

         การขึ้น-ลงบันไดควรเดินชิดกับราวบันได เนื่องจากขนาดหน้าท้องที่ใหญ่อาจทำให้มองเห็นทางเดินไม่สะดวกและกะระยะในการก้าวเดินพลาด ควรเดินช้าลงและจับราวบันไดทุกครั้ง

         เลือกเข้าห้องน้ำสาธารณะที่มีขนาดห้องกว้าง พื้นห้องน้ำแห้งไม่มีน้ำเฉอะแฉะ (มีแผ่นยางกันลื่น) และใส่รองเท้าที่มีดอกยางกันลื่น ไม่ต้องอายที่จะเลือกเข้าห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุที่มีราวจับสำหรับพยุงตัวเพื่อความปลอดภัยจากการลื่นล้มค่ะ

         การลุกจากเก้าอี้ ให้ขยับตัวออกมาริมขอบที่นั่ง และก้าวเท้าข้างหนึ่งมาด้านหน้าเล็กน้อย จับที่วางแขนไว้แล้วค่อยๆ พยุงตัวขึ้นโดยใช้สะโพก และกล้ามเนื้อขาในการช่วยยืน

         หากไม่ใช่ห้องที่ปูพรม ไม่ควรใส่ถุงเท้าเดินในห้องควรใส่รองเท้าหรือเดินเท้าเปล่าเพื่อป้องกันการลื่นล้ม

อุบัติเหตุจากการเดินทาง

           อุบัติเหตุเล็กน้อยจากการนั่งรถ สามารถเกิดได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็นคนขับรถเองหรือนั่งรถก็ตาม เช่น ตกหลุมหรือเบรกรถกะทันหัน หน้าท้องกระแทกพวงมาลัยหรือถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัยรัดหน้าท้อง เป็นต้น ซึ่งถึงแม้จะไม่รุนแรงแต่ถ้าเกิดบ่อย ๆ ก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน

ปลอดภัยไว้ก่อน :

         บอกคนขับว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงถนนที่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อ

         ควรคาดเข็มขัดนิรภัยใต้ท้อง ใช้หมอนใบเล็กรองเท้าส่วนล่างก่อนพาดเข็มขัด เพื่อลดแรงกระแทกและเสียดสีของท้องกับพวงมาลัยระหว่างขับรถ และขับให้ช้าลงเพื่อลดแรงกระแทกเวลารถเบรกกะทันหัน

         เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูก ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเองเมื่อใกล้คลอด เพราะท้องอาจติดพวงมาลัยทำให้ขับได้ไม่สะดวก

ตกส้นรองเท้า

           ในช่วงตั้งท้องคุณแม่คงต้องงดใส่รองเท้าส้นสูง ถึงแม้จะใส่จนชินแล้วก็ตาม เพราะการใส่ส้นสูงจะต้องเกร็งขาและหน้าท้องในการทรงตัวเดิน ทำให้เกิดอาการปวดขาและปวดหลัง รวมถึงรองเท้าที่มีส้นเรียบและสูง ไม่สามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ จะทำให้ตกส้นรองเท้าหรือเท้าพลิกได้ค่ะ

ปลอดภัยไว้ก่อน :

           เลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ย ความสูงไม่ควรเกิน 1 นิ้ว พื้นรองเท้ามีความเรียบเสมอกัน สามารถรองรับน้ำหนักได้ดีเพื่อไม่ให้เสียการทรงตัวเวลาเดินหรือยืน หมั่นเช็กดอกยางใต้รองเท้าว่ายังมีสภาพดีเพื่อป้องกันการลื่นล้ม

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แม่ท้องควรทำอย่างไร?

           เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว หากมีเพียงแค่รอยฟกซ้ำตามร่างกายคงไม่น่าเป็นห่วงเท่าใด แต่ควรสังเกตว่าไม่มีอาการเหล่านี้ด้วยค่ะ

         ไม่มีเลือดไหลทางช่องคลอด ถ้าล้มแล้วมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด อาจเป็นไปได้ว่ารถมีการลอกตัว หากมีเลือดออกมากอาจเป็นอันตรายทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

         ไม่เจ็บท้องและมดลูก เพราะอาการเจ็บท้องจะบ่งบอกถึงการได้รับการกระแทก หากเจ็บอยู่ตลอดเวลาอาจเป็นไปได้ว่ามดลูกแตก และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดด้วย

         ลูกไม่ดิ้น หากนับแล้วว่าลูกไม่ดิ้นเลยหรือดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกตให้รีบไปพบคุณหมอทันที


    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.6 No.7 1 พฤศจิกายน 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ตั้งครรภ์ อย่ามองข้ามความปลอดภัย! อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 13:41:01 13,422 อ่าน
TOP