"เจ"ของแม่ท้องและน้องหนู (momypedia)
โดย: จันทร์กะพ้อ
อาหารเจนั้นดีต่อสุขภาพกายและใจก็จริง แต่สำหรับคุณแม่ท้องและเด็กเล็ก ๆ แล้ว ต้องกินอย่างเหมาะสมค่ะถึงจะได้ประโยชน์
คุณ ๆ ที่กินเจทุกปีคงรู้สึกอิ่มบุญ อิ่มกาย อิ่มใจ และใบหน้าก็อิ่มเอิบจากการกินอาหารเพื่อสุขภาพ แพทย์จีนเคยกล่าวไว้ว่า "หัวใจของการมีสุขภาพที่ดี คือการกินที่ถูกต้อง" หลายคนจึงรอคอยเทศกาลนี้
สำหรับแม่ท้องและเจ้าหนูตัวน้อย อาจสงสัยว่าการกินเจจะสอดคล้องกับสภาพร่างกาย และเป็นการกินที่ถูกต้องหรือเปล่า ดิฉันมีคำตอบมาฝากค่ะ
อาหารเจกับแม่ท้อง
อย่างที่ทราบกันค่ะว่าข้อจำกัดหนึ่งของอาหารเจนั้น คือห้ามกินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งค่อนข้างตรงกันข้ามกับความต้องการของแม่ท้อง ที่ต้องกินอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผัก เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
ดังนั้นการกินเจอาจทำให้แม่ท้องขาดโปรตีน วิตามินบี 12 และกรดอะมิโน แม้ว่าผักหลายชนิดจะมีโปรตีนเข้ามาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่ก็มีกรดอะมิโนในสัดส่วนที่น้อยกว่า ถ้าแม่ท้องต้องการกินเจเพื่อสุขภาพที่ดี อยากแนะนำให้กินอาหารมังสวิรัติแทนค่ะ เพราะแม้ว่าอาหารมังสวิรัติจะกินเนื้อสัตว์ไม่ได้ เช่นเดียวกับอาหารเจ แต่ก็สามารถกินนม เนย และไข่ได้ ซึ่งแหล่งอาหารเหล่านี้ มีโปรตีนเพียงพอที่จะไปทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ค่ะ
ที่สำคัญอาหารเจในบ้านเราค่อนข้างจะหนักไปทางแป้งและน้ำมันค่ะ การกินอาหารเจติดต่อกันหลายวันอาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันได้
ถ้าต้องกิน
โดยปกติผู้หญิงที่กินเจเป็นประจำอย่างเคร่งครัด เมื่อรู้ตัวว่าท้องก็จะเลื่อน ช่วงเวลาการกินเจออกไปจนกว่าจะคลอดแล้วค่อยเริ่มกินใหม่ แต่สำหรับแม่ท้องที่มีความจำเป็นต้องกินเจจริง ๆ ไม่สามารถเลื่อนช่วงเวลาได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ และไม่สามารถกินอาหารมังสวิรัติเพื่อทดแทนอาหารเจ ก็สามารถกินเจได้ค่ะ แต่ต้องกินวิตามินเกือบทุกชนิดในปริมาณที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะต้องกินอาหารจำพวกถั่วให้หลากหลายและผสมอย่างอื่นไปด้วย เช่น งา เมล็ดดอกทานตะวัน ผัก เพื่อให้ได้สารอาหารที่ขาดไป (ดูตารางประกอบ)
การเลือกอาหารสำหรับผู้กินเจ
กลุ่ม A | กลุ่ม B | กลุ่ม C | กลุ่ม D |
ธัญพืชซ้อมมือ | ถั่วเมล็ดแห้ง | ถั่วเปลือกแข็ง | มันฝรั่ง |
ข้าวสาลี | ถั่วลิสง | มะม่วงหิมพานต์ | ผักใบเขียว |
ลูกเดือย | ถั่วเขียว | ถั่วพิสตาชิโอ | |
ข้าวโพด | ถั่วเหลือง | ถั่วอัลมอนด์ | |
ข้าวฟ่าง | ถั่วรูปไต | เมล็ดฟักทอง | |
ถั่วเลนทิล | เมล็ดดอกทานตะวัน | ||
ถั่วลันเตา | งา |
โดยปกติคนทั่วไปควรได้รับปริมาณสารอาหารใน 1 มื้อ อย่างน้อย ดังนี้
1. กลุ่ม A อย่างน้อย 2-3 ทัพพี
2. กลุ่ม B+C อย่างน้อย 1/2 ถ้วยตวง (อย่างสุก)
3. ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง อย่างน้อย 1 ถ้วยตวง
4. กลุ่ม D อย่างน้อย 1/2 (อย่างสุก)
5. ผลไม้ อย่างน้อย 1 ผลกลาง
หมายเหตุ แม่ท้องหรือให้นมลูก ต้องเพิ่มอาหารเหล่านี้อีก 2-3 เท่าค่ะ
ถ้าแม่ท้องต้องการกินอาหารเจจริง ๆ ก็ควรดูว่ากำลังท้องอยู่ในช่วงไหน เช่น ช่วงท้องประมาณ 7-8 เดือน สามารถกินเจได้ เนื่องจากเด็กในท้องมีร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว แต่ต้องกินอาหารเสริมทดแทนด้วยนะคะ
ส่วนแม่ท้อง 2-4 เดือนแรกจริง ๆ แล้วไม่แนะนำนะคะ แต่ถ้าต้องกินก็ควรกินอาหารตามตารางข้างต้นเสริม 2-3 เท่า ยิ่งเป็นคนที่ไม่เคยกินเจมาก่อน ก็ยิ่งไม่แนะนำเพราะต้องมีการเตรียมตัวก่อน 1 วัน ซึ่งเป็นวันที่ร่างกายต้องปรับตัวอย่างมาก จะทำให้แม่ท้องไม่มีเรี่ยวแรงได้ นอกจากนี้ การกินเจในช่วงที่กำลังท้องอยู่อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตบางส่วนของลูกในท้องได้
อาหารเจกับน้องหนู
เด็กก็เหมือนกับแม่ท้องค่ะ ที่ต้องการสารอาหารครบถ้วน เพราะร่างกายส่วนต่างๆ กำลังเจริญเติบโตโดยเฉพาะสมอง ถ้าเด็กกินอาหารเจเพียง 1 วันหรือ 2 วัน ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าต้องกินติดต่อกันหลายวัน จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักได้แม้ว่าจะได้รับอาหารเสริมก็ตาม
จึงไม่แนะนำให้เด็กกินค่ะ เพราะการกินเจของเด็กนั้นจะกินผักได้ไม่หลากหลายเหมือนผู้ใหญ่ ส่วนมากผักที่เด็กกินก็จะมีผักกาดขาว แตงกวา ตำลึง ถั่วฟักยาวและแครอทครั้งละนิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเด็กก็ไม่สามารถกินนมกินไข่ได้ ขอบเขตการกินอาหารของเด็กจึงเล็กมาก
เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้เด็กกินอาหารเพื่อสุขภาพจริงๆ ขอแนะนำอาหารมังสวิรัติเหมือนกับแม่ท้องค่ะ เพราะมีทั้งผัก ถั่ว นม เนยและไข่ มีโปรตีนจากแหล่งต่าง ๆ ให้เด็กได้รับแม้ว่าเด็กจะกินผักได้น้อยชนิดแต่ก็ยังมีนมมีไข่เสริม และได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการด้วยค่ะ
การกินอาหารเจเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับเด็กเล็กและแม่ท้องแล้ว อาจต้องคำนึงถึงสารอาหารที่ต้องได้รับอย่างพอเพียงเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ๆ ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก