แรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นสามารถทำงานได้ และกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองด้วย แต่พวกเธอมีสิทธิและได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง วันนี้ อ.ประมาณ จะมาชี้แจงให้ทราบ
"ผู้หญิงไทยเดี๋ยวนี้เก่งนะครับ ทั้งทำงานบ้านทั้งเลี้ยงลูก ไหนจะดูแลครอบครัวและพ่อแม่ตัวเอง บางคนพ่วงการดูแลครอบครัวของสามีอีก (อันนี้หมายญาติของสามีนะครับ ไม่ใช่ครอบครัวเล็กครอบครัวน้อยของคุณสามี) ลองสังเกตเวลาเลิกงานสิครับ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จะต้องหอบหิ้วข้าวของพะรุงพะรัง ข้าวของส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหาร ผลไม้ บางคนสะพายเป้หนังสือของลูกไว้ข้างหลัง สะพายคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไว้ไหล่ขวา มือซ้ายจูงลูกมือขวาหิ้วอาหารการกิน...เห็นแล้วก็ลุ้นใจแทบขาดให้เธอไม่หกล้ม...เพราะเธอสวมรองเท้าส้นสูงครับ"
"พูดถึงผู้หญิงแล้วทำให้ผมนึกถึงภาระอันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงที่ผู้ชายทำไม่ได้ นั่นก็คือการตั้งครรภ์ มีลูกแล้วก็คลอดลูกครับ ซึ่งภาระหน้าที่ตามธรรมชาตินี้ก็ส่งผลให้กฎหมายเข้าไปคุ้มครองคุณแม่ที่ทำงานให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อการทำหน้าที่ของแม่นักทำงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ครับผม"
"ระหว่างตั้งครรภ์...ห้ามทำงานนอกเวลา ปกติแล้วงานหนัก ๆ กฎหมายก็ห้ามไม่ให้นายจ้างใช้ให้คุณผู้หญิงทำอยู่แล้วนะครับ ซึ่งงานพวกนี้ก็คือ งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป หรืองานผลิต ขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ ถ้านายจ้างคนไหนให้ลูกจ้างหญิงทำงานประเภทนี้ถือว่าผิดกฎหมายแรงงานเลยนะครับ"
ยิ่งถ้าเป็นคุณผู้หญิงตั้งครรภ์ กฎหมายห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 4 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า ห้ามทำงานล่วงเวลา ห้ามทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
งานที่ทำในเรือ หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
หากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท โทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำล่วงเวลาได้...สำหรับบางงาน
แต่กฎหมายก็ยกเว้นให้สำหรับงานล่วงเวลาที่นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานได้เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ รวมทั้งงานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี สามารถทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ (ไม่ใช่ล่วงเวลาในช่วงวันหยุด) โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
เปลี่ยนรูปแบบงานได้...ถ้าหมอยืนยัน
ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งตั้งครรภ์ไปหาหมอแล้วมีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้อีกต่อไป (เพราะอาจส่งผลต่อทารกและสุขภาพของเธอ) ลูกจ้างคนนั้นมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมชั่วคราวในช่วงก่อนหรือหลังคลอด แล้วให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสม ถ้าหากลูกจ้างหญิงขอเปลี่ยนงานแล้วนายจ้างไม่ให้ (ทั้ง ๆ ที่เธอมีใบรับรองแพทย์) แบบนี้นายจ้างมีโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท โทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ
ปลดออกเพราะเหตุตั้งครรภ์...ไม่ได้
นางจ้างบางคนเกรงว่าหญิงมีครรภ์จะทำงานได้ไม่ดี เท่าเดิม หรือเมื่อเธอมาขอเปลี่ยนลักษณะงานเห็นเรื่องมากแบบนี้ก็เลยจัดแจงให้เธอออกจากงาน เพราะต้นเหตุมาจากตั้งครรภ์ แบบนี้กฎหมายก็ไม่ให้สิทธิครับ จะมาอ้างเหตุผลร้อยแปดพันเก้าแล้วให้ลูกจ้าหญิงตั้งครรภ์ออกจากงาน นายจ้างมีโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท โทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ
ลาคลอดได้ไม่เกิน...3 เดือน
นอกจากได้รับการคุ้มครองระหว่างการทำงานแล้ว กฎหมายยังคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ให้มีสิทธิลาคลอด (ในแต่ละครรภ์) ได้ไม่เกิน 3 เดือนครับ โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน นอกจากนี้ ในบางหน่วยงานก็จะให้สิทธิพิเศษ เพิ่มเติมในเรื่องการลาคลอดอีกนะครับ (แล้วแต่ข้อกำหนดในการให้สิทธิลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ๆ
กฎหมายไทยให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัว ดูแลทรัพยากรของชาติและสุขอนามัยแม่ลูก ดังนั้น ถ้าคุณคิดจะมีลูกหรือตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณยังทำงานอยู่กฎหมาย ก็ดูแลคุณครับ...ไม่ต้องเป็นห่วง
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช น.บ., น.บ.ท., น.ม. สาขากฎหมายมหาชน http://www.pramarn.com/
ขอขอบคุณข้อมูลจาก