x close

ดูดนม 5 เทคนิคฝึกลูกน้อยให้กินนมง่าย พร้อมกระตุ้นน้ำนม ฉบับคุณแม่มือใหม่

          ดูดนม ฝึกลูกน้อยอย่างไรให้ถูกวิธี เมื่อแรกคลอด ลูกดูดเต้าไม่เป็น ทำให้คุณแม่มือใหม่กลุ้มใจ เราเลยมีวิธีให้ลูกดูดเต้าแบบง่าย ๆ และปลอดภัยมาฝาก รับรองว่าพอรู้เทคนิคนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก 

นมแม่

          ขุมทรัพย์ทางโภชนาการสำหรับทารกแรกเกิด คงไม่มีเมนูไหนมีประโยชน์เท่ากับ "นมแม่" อีกแล้ว เพราะนอกจากจะอุดมด้วยสารอาหารชั้นเยี่ยม ยังช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับทารก แต่คุณแม่มือใหม่อาจเจอกับปัญหาลูกไม่ยอมดูดนมแม่ หรือไม่รู้ว่าจะให้ลูกเข้าเต้าอย่างไรดี ซึ่งหากลูกดูดเต้าไม่เป็นแล้ว อาจทำให้สารอาหารไม่เพียงพอ คุณแม่เองก็จะผลิตน้ำนมได้น้อย หรือท่อนมอุดตัน ส่งผลให้เต้านมปวดบวมได้

          วันนี้กระปุกดอทคอมเลยมีเทคนิคฝึกให้นมลูกอย่างถูกวิธี ทั้งง่ายและใช้ได้จริงมาฝาก ด้วย 5 เทคนิคที่คุณแม่ให้นมลูกควรรู้

1. ดูดเร็ว

          เทคนิคแรก เน้นให้คุณแม่หลังคลอดที่พักฟื้นร่างกายแล้ว ควรนำลูกน้อยมาเริ่มดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด เพราะถ้าเริ่มดูดนมช้า น้ำนมก็จะยิ่งมาช้านั่นเอง โดยทั่วไปคุณหมอจะแนะนำให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด แม้ลูกน้อยจะยังไม่ดูดนมแม่ทันทีก็ไม่เป็นไรค่ะ อาจต้องใช้เวลาสัก 20-70 นาที เพื่อให้เขาค่อย ๆ เคลื่อนตัวและซุกไซ้หาหัวนมแม่ตามสัญชาตญาณของทารกแรกเกิด

          เมื่อลูกน้อยเริ่มดูดนมแม่แล้ว จะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกติก ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมมาเร็ว รวมถึงฮอร์โมนออกซิโตซินที่จะกระตุ้นการหลั่งน้ำนมออกจากท่อน้ำนม ช่วยให้มดลูกหดตัว ลดการตกเลือด ขับน้ำคาวปลา และทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเมื่อลูกน้อยเพิ่งเกิดได้นอนซบแนบอกอุ่น ๆ ของแม่ นับเป็นช่วงเวลาที่อบอุ่น มีค่าและน่าประทับใจ จะหาโมเมนต์ไหนมาเทียบก็ไม่ได้เลยล่ะค่ะ

2. ดูดบ่อย

          ในช่วงแรกเกิดจนถึง 1 เดือน คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้ดูดนมบ่อยตามที่ต้องการ หิวเมื่อไรก็ให้ดูด เพราะนมแม่นั้นย่อยง่ายอยู่แล้ว ยิ่งในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นน้ำนมแม่ จากนั้นก็ให้ลูกดูดตามต้องการได้ โดยภายใน 1 วัน เด็กควรได้ดูดนมแม่อย่างน้อย 8 ครั้ง และหากลูกนอนหลับนานเกิน 3 ชั่วโมง คุณแม่สามารถปลุกลูกให้ตื่นมากินนมได้เลย เมื่อลูกเริ่มโตก็จะดูดนมเองได้มากขึ้น รวมถึงปรับตัวมากินนมในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน

          อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่รู้สึกคัดเต้านม ต้องให้ลูกดูดนมออกทันที ซึ่งการให้ลูกกินนมแม่บ่อยจะช่วยระบายน้ำนมออกจากเต้า และให้เต้านมสร้างน้ำนมใหม่เรื่อย ๆ ไม่เช่นนั้นคุณแม่จะเจ็บตึง และทำให้เต้านมสร้างน้ำนมได้น้อยลงด้วย

          สำหรับวิธีที่จะทราบว่าลูกน้อยหิวนมแม่แล้ว ก็คือสังเกตอาการของลูก เมื่อไรที่ลูกเริ่มส่ายหน้าหาหัวนม เอามือถูที่ปาก หรือทำท่าดูด แสดงว่าลูกต้องการดูดนมแล้ว

นมแม่

3. ดูดถูกวิธี

          ดูดนมถูกวิธีมีผลต่อสุขภาพแม่และลูก หากลูกดูดถูก จะได้รับน้ำนมเต็มที่ อิ่มท้อง นอนหลับง่าย ไม่ร้องกวน แต่ถ้าหากดูดผิดวิธี จะทำให้คุณแม่หัวนมแตก เจ็บ ท้อแท้ ไม่กล้าให้นมลูก ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากคุณแม่รู้วิธีที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ท่าดูด ดังนี้

          - ปากลูกต้องเปิดกว้าง เพื่ออมหัวนมให้ลึกที่สุดจนมิดลานนม ถ้าลานนมกว้างก็ให้อมให้มากที่สุด คางจรดเต้า ปลายจมูกชิดหรือแตะเต้านม ไม่ถูกสิ่งใดกดเบียด และริมฝีปากบน-ล่างบานออก

          - ลูกออกแรงดูดนม โดยใช้ลิ้นรีดน้ำนมเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ได้ยินเสียงกลืนนมเป็นจังหวะ

          - ถ้าลูกไม่ค่อยดูดหรือดูดช้าลง ให้บีบเต้านมช่วย เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมเข้าปากลูก หรือแม่กระตุ้นใต้คางเบา ๆ เพื่อให้ลูกดูดต่อ

          - หากลูกเอาปากออกจากหัวนมแม่ ไม่ดูดต่อ หมายถึงลูกอิ่ม


          ทั้งนี้ ท่าดูดนมที่ถนัดดี ตัวลูกควรอยู่ในแนวเส้นตรง และคุณแม่จะไม่เจ็บหัวนมขณะลูกดูดนม

4. ดูดนาน

          ในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนม ให้ดูดนาน ๆ ประมาณข้างละ 15 นาที หรือดูดจนกว่าลูกจะเลิกดูดไปเอง วิธีดังกล่าวจะทำให้น้ำนมผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ป้องกันปัญหาการมีน้ำนมน้อยลง รับประกันว่าคุณแม่จะมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยแน่นอน

5. ดูดเกลี้ยงเต้า

          นอกจากการให้ลูกกินนมแม่นานพอแล้ว เรื่องที่คุณแม่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือต้องให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าด้วย นั่นเป็นเพราะว่าน้ำนมก้นเต้าหรือนมแม่ส่วนหลังจะมีโปรตีนและไขมันสูงกว่านมส่วนหน้า อุดมด้วยโอเมก้าและดีเอชเอ ที่มีส่วนเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองและสายตาของเจ้าตัวน้อย ทั้งยังมีน้ำย่อยไลเปสช่วยย่อยไขมันจากนม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ลูกกินนมแม่แล้วท้องไม่ผูก ช่วยให้ลูกอิ่มนาน ไม่หิวบ่อย

          ทราบได้อย่างไรว่าลูกดูดน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว

          - หลังให้ลูกดูดนมเสร็จแล้ว เต้านมนิ่มลงทั้งเต้า

          - อาการเจ็บตึงที่เต้านม หรือที่เรียกว่านมคัดก็หายไปด้วย

          - ถ้ายังไม่แน่ใจให้ลองบีบเต้านมดู น้ำนมจะไม่พุ่งแต่ออกมาเพียง 1-2 หยดเท่านั้น

          วิธีให้ลูกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพควรให้ลูกดูดนมทั้ง 2 ข้าง โดยเริ่มดูดนมเต้าแรกจนเกลี้ยงเต้าก่อนแล้วจึงเปลี่ยนไปดูดเต้าที่สอง พอมื้อต่อไปก็ให้เริ่มดูดจากเต้าที่สองของมื้อที่แล้ว เพื่อให้เต้านมได้รับการกระตุ้นทั้ง 2 ข้างนั่นเอง

นมแม่

          เมื่อลูกดูดนมได้อย่างถูกวิธีแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน แค่ลองฝึกฝนสักนิด รับรองว่าการให้ลูกเข้าเต้าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถของคุณแม่ทุกคนแล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : happymom.im.th, caringmybabies.com, mamaexpert.com
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูดนม 5 เทคนิคฝึกลูกน้อยให้กินนมง่าย พร้อมกระตุ้นน้ำนม ฉบับคุณแม่มือใหม่ อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2563 เวลา 15:50:13 48,664 อ่าน
TOP