อาหารเบาหวานคนท้อง เมื่อคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรวางแผนการกินอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก เรามีตัวอย่างเมนูง่าย ๆ มาแนะนำ พร้อมอาหารแบบไหนที่แม่ท้องเป็นเบาหวานต้องระวัง
ควรกินอะไรที่เบา ๆ ย่อยง่าย ยิ่งถ้าเป็นเครื่องดื่มอุ่น ๆ จะช่วยให้อิ่มท้องและหลับสบายมากขึ้น เช่น นมจืด 1 แก้ว
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเมื่อคุณแม่เริ่มตั้งท้อง รกจะสร้างฮอร์โมนขึ้นมา ซึ่งจะต้านฤทธิ์ของอินซูลินที่ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงวิถีการใช้ชีวิตของคุณแม่ ๆ ที่ออกกำลังกายได้น้อยลง หิวมากขึ้น อยากกินไปเสียทุกอย่าง ถ้าไม่ยับยั้งชั่งใจในการเลือกรับประทานอาหารก็จะเสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และมีผลกระทบต่อแม่และทารกตามมาได้
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเลือกกินอย่างไรดี
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เรื่องของอาหารการกินถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปกติแล้วว่าที่คุณแม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ โดยหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับพลังงานวันละ 30-35 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน (น้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์) และเพิ่มพลังงานสำหรับทารก 300 กิโลแคลอรี่
แต่ถ้าเป็นคุณแม่ท้องที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็ยิ่งต้องระวังในการเลือกรับประทานอาหาร อีกทั้งควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งหลักง่าย ๆ ที่ช่วยได้ก็คือ ควรแบ่งออกเป็นอาหารหลัก 3 มื้อต่อวัน และอาหารว่างอย่างน้อย 3 มื้อต่อวัน ทั้งนี้อาจมีมื้อก่อนนอนด้วย เพื่อป้องกันภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงกลางคืน แต่จะกินอะไรดีล่ะ ? จึงจะเหมาะสมและปลอดภัย วันนี้เรามีเมนูอาหารเบาหวานสำหรับคนท้องมาแนะนำกันแล้ว
เมนูมื้อเช้า
หลายคนมีปัญหาระดับน้ำตาลสูงในช่วงเช้า และการรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่ว่าในรูปแบบใดอาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ง่าย ดังนั้นในมื้อเช้าอาจรับประทานคาร์โบเดรตเพียงเล็กน้อย หรืออาจหลีกเลี่ยงการรับประทานคาร์โบไฮเดรตก่อนเวลา 11.00 น. นอกจากนั้น มื้อเช้าควรเป็นเมนูร้อน ๆ อาหารย่อยง่าย แต่ให้พลังงานแม่ท้องได้ตลอดทั้งวัน เช่น
- ข้าวต้มปลา
- ข้าวต้มเครื่องไก่
- โจ๊กไก่
- ข้าวกล้องกับแกงจืดเต้าหู้ เห็ดหอม
- ข้าวกล้อง แกงจืดเต้าหู้ตำลึง ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง
หากอยากกินขนมปังควรเลือกขนมปังโฮลวีต ไข่ดาว แฮม ทานคู่ผักกาดหอม มะเขือเทศ กับนมสดชนิดจืดพร่องมันเนย 1 แก้ว
เมนูอาหารว่างตอนเช้า
- แอปเปิ้ล 1 ลูกเล็ก
- แตงโม 10 ชิ้น
- นมจืด 1 แก้ว ฝรั่ง 1 ผล
- นมจืด 1 กล่อง มะละกอสุก 6 ชิ้น (ขนาดพอดีคำ)
เมนูมื้อกลางวัน
ควรเป็นอาหารที่มีรสชาติ แต่ยังคงไว้ซึ่งประโยชน์เต็ม ๆ เช่น
- ข้าวหมูอบ แกงจืดเต้าหู้หมูสับ
- ข้าวกล้อง ปลาย่าง แกงส้มผักรวม
- ข้าวกล้อง ปลานึ่ง น้ำพริก ผักต้มและผักสด
- ข้าวกล้อง ผัดกะเพราไก่ ผักสด
- ข้าวกล้อง ต้มยำกุ้ง ผัดผักรวมมิตร
- ข้าวสวย ผัดฟักทอง ปลากระพงนึ่งบ๊วย
- ราดหนัาผักรวม หมูหรือไก่
- เส้นหมี่ ลูกชิ้นหมู ใส่ถั่วงอกสุก
เมนูอาหารว่างตอนบ่าย
- แซนวิชโฮลวีตทูน่า
- นมสด 1 แก้ว แซนวิซโฮลวีตไก่
- น้ำเต้าหู้ไม่ใสน้ำตาล 1 แก้ว ขนมปังแครกเกอร์ 1 ห่อเล็ก
- นมจืด 1 กล่อง ส้มเขียวหวาน 2 ผล
เมนูมื้อเย็น
ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เพื่อป้องกันอาการท้องอืดและกรดไหลย้อน เช่น
- ข้าวสวย ผัดกะเพราปลา นมจืด 1 กล่อง
- ข้าวสวย แกงเลียงกุ้ง ผักรวม ไข่เจียว และผลไม้
- ข้าวกล้อง ไข่ต้ม 1 ฟอง น้ำพริกปลาป่น พร้อมผักสด นมจืด 1 แก้ว กล้วย 1 ผล
- ข้าวกล้อง ต้มยำกุ้ง ผัดผักกวางตุ้ง ฝรั่ง 1 ผล นมสด 1 แก้ว
- ข้าวกล้อง แกงส้มผักรวมกุ้ง ไก่กะเพรา ส้มโอ นมจืด 1 กล่อง
- ข้าวกล่อง ต้มยำปลาใส่เห็ดฟาง ผัดบล๊อคโคลี่ นมพร่องมันเนย 1 แก้ว
- ข้าวกล้อง แกงเลียงกุ้ง ผักรวม
- ข้าวกล้อง ต้มยำปลาไม่เผ็ด
เมนูก่อนนอน
ควรกินอะไรที่เบา ๆ ย่อยง่าย ยิ่งถ้าเป็นเครื่องดื่มอุ่น ๆ จะช่วยให้อิ่มท้องและหลับสบายมากขึ้น เช่น นมจืด 1 แก้ว
อาหารเบาหวานที่คนท้องควรเลี่ยง
หลักสำคัญที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกว่าอาหารชนิดใดควรหลีกเลี่ยง สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันสูง ได้แก่
- เครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำมะพร้าว และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- งดเว้นการใช้น้ำตาล น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และคุมปริมาณการกินขนมหวาน
- ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน องุ่น มะม่วงสุก ละมุด เงาะ รวมถึงผลไม้อบแห้ง
- ผักที่เป็นหัว เช่น แครอท เผือก มัน ข้าวโพด เพราะจะมีคาร์โบไฮเดรตสูง ควรเลือกกินให้เหมาะสมในแต่ะวัน
- อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูติดมัน หนังไก่ กะทิ เนย ครีมเทียม น้ำมันหมู และควรปรุงอาหารด้วยไขมันจากพืชแทน เพื่อป้องกันภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ซุปกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ขนมคบเคี้ยวต่าง ๆ รวมถึงอาหารแปรรูปอย่างเบคอน ไส้กรอก แหนม
- อาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น น้ำปลา ของหมักดอง หมูเค็ม ปลาเค็ม เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ง่าย
คุณแม่ท้องที่เป็นเบาหวาน ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพียงแค่ดูแลตัวเองด้วยการวางแผนเมนูอาหารที่เหมาะสมตั้งแต่วันนี้ ควบคุมระดับน้ำตาล จัดสัดส่วนปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์โบไฮเดรต ร่วมกับการพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ก็จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย และลูกน้อยในท้องก็จะมีสุขภาพแข็งแรงแล้วค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai.com, saintlouis.or.th, dmthai.org