มะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน รักษาได้ไหม ศึกษาข้อมูลได้ที่นี่

          มะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ แค่โรคมะเร็งปากมดลูกก็น่ากลัวอยู่แล้ว แต่หากโชคร้ายตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ จะทำอย่างไรดี ? อันตรายมากน้อยแค่ไหน เรามีคำตอบมาฝากกัน

มะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของสตรีทั่วโลก และยังพบบ่อยที่สุดในมะเร็งที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ด้วย อายุที่พบคือ 30-35 ปี โดยส่วนใหญ่จะพบโรคในระยะแรก ๆ เนื่องจากมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในช่วงที่มาฝากครรภ์

          แต่กระนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกย่อมหนักใจกว่าผู้หญิงทั่วไป เพราะต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะรักษาอย่างไรไม่ให้กระทบต่อทารกในครรภ์ และจะรักษาช่วงไหนมะเร็งที่เป็นอยู่จึงจะไม่ลุกลามไปกว่าเดิม วันนี้เรามารู้จักมะเร็งปากมดลูกให้มากขึ้น ทั้งยังมีแนวทางการรักษา และการป้องกันมาฝากคุณแม่ ๆ กันด้วย

มะเร็งปากมดลูก เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน

          มะเร็งปากมดลูก ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่มีสาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อไวรัส โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า 99.7% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะตรวจพบเชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์

          แต่ความร้ายกาจของโรคนี้ก็คือ คุณแทบจะไม่รู้ตัวเลยว่าได้รับเชื้อ HPV เข้าไปในบริเวณปากมดลูกเรียบร้อยแล้ว และมักไม่แสดงอาการของโรคจนกว่าจะเข้าสู่ระยะท้าย ๆ จากสถิติพบว่าหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยปีละ 6,000 ราย ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ และรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากถึง 7 คนต่อวัน !

มะเร็งปากมดลูก

อาการของมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์

          อาการของโรคมะเร็งปากมดลูกในหญิงตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรค ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีตกขาวผิดปกติ เป็นหนองเหม็น ๆ เหมือนกลิ่นเน่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

          ถ้าก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้นจนไปกดเบียดอวัยวะข้าง ๆ ก็จะมีอาการของทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ท้องผูก และเมื่อลุกลามมากขึ้นก็จะรู้สึกปวดท้องน้อย ปวดเอวชาร้าวลงขา ปวดสีข้าง ตัวซีด หายใจเหนื่อย อาการที่กล่าวมานี้จะพบเมื่อเป็นมะเร็งระยะที่ 3 กับ 4 แล้ว เพราะฉะนั้นหากคุณแม่มีเลือดออกช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที

มะเร็งปากมดลูก

การรักษามะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์

          การรักษามะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาร่วมกันวางแผน เพราะจะต้องพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น ตั้งครรภ์ต่อหรือจะยุติการตั้งครรภ์ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น วิธีการรักษา เวลาและวิธีการคลอด ซึ่งอาจแบ่งเป็นแนวทางได้ ดังนี้

          - หากตรวจพบในระยะแรกของการตั้งครรภ์ และเป็นมะเร็งที่ยังไม่ลุกลาม อาจให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้แต่ต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งคลอด และหลังคลอด

          - ถ้าเป็นระยะที่เริ่มจะลุกลามแล้วและพบในระยะแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์จะดูว่ามีอายุครรภ์เท่าไร ถ้าน้อยกว่า 16 สัปดาห์หรือประมาณ 4 เดือน ควรทำการรักษาทันที โดยไม่คำนึงถึงการตั้งครรภ์ เพราะถ้ารอให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตมากกว่านี้ อาการนี้อาจจะลุกลามมากจนเป็นอันตรายกับคุณแม่และลูกในครรภ์จนเสียชีวิตได้

          - ถ้าเป็นระยะหลังของการตั้งครรภ์ แพทย์ต้องประเมินว่าสามารถรอให้ปอดทารกมีความสมบูรณ์พอที่จะมีชีวิตรอดเมื่อคลอดออกมาได้หรือไม่ ส่วนมากจะไม่รอเกิน 8 สัปดาห์ ซึ่งการคลอดต้องทำโดยผ่าตัดทารกออกทางหน้าท้องเสมอ เพื่อป้องกันการตกเลือด และการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น

มะเร็งปากมดลูก

การรักษามะเร็งปากมดลูกในขณะตั้งครรภ์ ทำได้ดังนี้

1. การผ่าตัด

          ถ้ามะเร็งอยู่เฉพาะปากมดลูกอาจจะผ่าตัดแค่บริเวณปากมดลูก แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายมาก แพทย์อาจจะตัดมดลูก ท่อรังไข่ รังไข่ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วย

2. การให้รังสีรักษา

          แพทย์จะให้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง 5วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ หรือฝังแร่อาบรังสีบริเวณปากมดลูก ฝังแต่ละครั้งนาน 1-3 วัน ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการใช้รังสีจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์แน่นอน ได้แก่ การแท้ง การเสียชีวิตในครรภ์ ความพิการตั้งแต่กำเนิด การเจริญเติบโตช้า และเกิดมะเร็ง คุณแม่อาจต้องทำใจล่วงหน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

3. การให้เคมีบำบัด


          แพทย์จะให้เคมีเข้าในเลือดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่จะหลีกเลี่ยงวิธีนี้ในช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เพราะผลของยาจะทำให้อวัยวะของทารกในครรภ์ทำงานผิดปกติ การเจริญเติบโตในครรภ์ช้า ทารกตายในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อยกว่าปกติ เกิดการกดไขกระดูกในมารดาและทารก นอกจากนี้ยังอาจส่งผลระยะยาวในเด็ก เช่น เป็นหมัน ระดับเชาว์ปัญญาลดลง

4. การสร้างภูมิคุ้มกัน
ใช้ยาบางชนิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทำลายมะเร็ง

มะเร็งปากมดลูก

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่อันตรายและคร่าชีวิตผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมากก็จริง แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

          1. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรืออายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง และผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งหากพบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณปากมดลูกตั้งแต่ในระยะแรก ก็จะสามารถรักษาก่อนมะเร็งจะลุกลามได้

          2. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค โดยควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          3. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

          ผู้หญิงไทยยังมีการตรวจพบว่ามีอาการมะเร็งปากมดลูกสูงมาก ดังนั้นผู้หญิงที่มีความเสี่ยงทุกคนจึงควรรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคุณแม่ ๆ ตรวจก่อน เจอก่อน รักษาได้ ลดอัตราการเสียชีวิตของทั้งแม่และลูก อีกทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังช่วยในการวางแผนการมีบุตรอีกด้วย


ข้อมูลจาก : smj.ejnal.com, bangkokhospital.com, maerakluke.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน รักษาได้ไหม ศึกษาข้อมูลได้ที่นี่ อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 14:01:25 32,417 อ่าน
TOP
x close