วิธีให้นมลูก กับ 4 ความเชื่อแบบผิด ๆ ที่คุณแม่ต้องรีบทำความเข้าใจใหม่ด่วน ๆ

          วิธีให้นมลูก มีความเชื่ออยู่หลากหลาย บ้างก็เป็นข้อเท็จจริง บ้างก็เป็นเพียงเรื่องที่เล่าต่อกันมา แล้วพอจะมีเรื่องไหนที่เชื่อได้บ้าง เพื่อการให้นมของคุณแม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


แม่และเด็ก

          แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด จนสามารถทำนมผงเลียนแบบนมจากเต้าของแม่ได้อย่างเหมือนจริง ทั้งสารอาหารที่ครบถ้วน รสชาติที่ใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตาม ในน้ำนมของแม่ก็ยังมีสารอาหารบางอย่างที่นมผงทั่วไปไม่สามารถเลียนแบบได้ อีกทั้งความอบอุ่นที่ลูกจะได้รับก็มีไม่มากพอเมื่อเทียบกับการดูดนมจากเต้าและจากขวด ทว่า การให้นมแม่ก็ยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอยู่บ้าง ด้วยเต้านมนับเป็นจุดที่บอบบาง เมื่อได้รับการดูดก็มีความเจ็บปวดเป็นธรรมดา บางครั้งความปวดนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น บางครั้งก็นำไปสู่การเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ หรือการที่ลูกเผลอหลับไป โดยเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกดูดนมจากเต้าไปมากน้อยเพียงใด แต่ก็อนุมานว่าลูกคงกินอิ่มแล้วจึงนอนหลับไปอย่างง่ายดาย
   
          นี่เป็นเพียงความเชื่อบางส่วนที่พูดต่อ ๆ กันมา แล้วความจริงคืออะไร ความรู้เรื่องการให้นมของเหล่าคุณแม่ถูกต้องแค่ไหนกัน วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อข้องใจที่คุณแม่ทั้งหลายมี จะได้แก้ไขปัญหาคาใจเรื่องการให้นมลูกที่ถูกต้องได้สักที

1. คิดว่าเจ็บเต้าเพราะลูกดูดนมเป็นเรื่องธรรมดา

          หลายครั้งเลยที่คุณแม่มักจะละเลยเรื่องการเจ็บเต้านม เพราะคิดว่าการที่ลูกดูดนมวันละหลายครั้งย่อมทำให้แม่เจ็บเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่เลย การที่คุณแม่เจ็บเต้าจากการดูดนมของลูก เป็นการส่งสัญญาณความผิดปกติมากกว่าที่คาดคิด หากมีอาการเจ็บที่หัวนม อาจเกิดจากลูกน้อยของเรามีภาวะลิ้นติด ซึ่งภาวะลิ้นติดจะทำให้ลูกไม่สามารถดูดนมได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งลูกต้องใช้แรงมากขึ้นทำให้แม่เจ็บหัวนมได้นั่นเอง ทางที่ดีควรตรวจดูใต้ลิ้นของเขาว่าผิดปกติหรือไม่ หากลิ้นติดจริง ๆ ควรให้เขาเข้ารับการผ่าตัดถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ลูกก็ได้รับสารอาหารจากน้ำนมไม่เพียงพอทำให้เจริญเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น

          ส่วนคุณแม่ท่านไหนที่เจ็บบริเวณเต้านม อาจเกิดจากการที่ลูกดูดนมไม่มากพอหรือการใช้เครื่องปั๊มนมอย่างผิดวิธี ทำให้น้ำนมไหลออกไปไม่เกลี้ยงเต้า อาจนำไปสู่ปัญหาเต้านมคัด จนคุณแม่เจ็บเต้าแล้วถ้าปล่อยไว้จนติดเชื้อก็จะทำให้เป็นเต้านมอักเสบ ถึงขั้นที่คุณแม่มีไข้สูงได้เลย ทางที่ดี หากเจ็บเต้านมเพียงน้อยนิดก็ต้องรีบกลับมาตรวจดูพฤติกรรมการดูดนมของลูกว่าเขาดูดได้มากพอหรือยัง แล้วการปั๊มนมเก็บไว้ เป็นไปอย่างถูกวิธีหรือไม่

แม่และเด็ก

2. คิดว่าการให้นมลูกต้องมาก่อนจนลืมดูแลสุขภาพ

          เพราะการให้นมลูกต้องดึงสารอาหารจากร่างกายของคุณแม่ออกไป ทั้งจากเลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เพื่อที่จะได้ผลิตน้ำนมให้กับลูกน้อยอย่างเพียงพอและมีสารอาหารครบถ้วน แต่คุณแม่หลายคนก็ละเลยการดูแลตัวเอง หันไปทุ่มเทกับการบำรุงลูกน้อยจนลืมบำรุงร่างกายไป ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วลูกของเราก็หวังพึ่งพาสารอาหารจากร่างกายของคุณแม่ไม่น้อย ทว่า ด้วยต้องตื่นมาดูลูกทั้งวันทั้งคืน อีกทั้งเวลากินอาหารยังไม่ค่อยจะมี ดังนั้นการกินวิตามินเสริมจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด คุณแม่ลูกอ่อนควรเริ่มใส่ใจตัวเอง ด้วยการกินวิตามินบี ทั้งบี 6 และ บี 12 ซึ่งช่วยลดการเกิดภาวะเลือดจาง อีกทั้งยังช่วยดูดซึมโปรตีนเพื่อไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายได้อีกด้วย จากนั้นก็กินเป็นแร่ธาตุสังกะสี ซึ่งช่วยให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ตามด้วยด้วยการกินแคลเซียมและวิตามินดีเพื่อบำรุงกระดูก เนื่องจากการผลิตน้ำนมต้องดึงสารอาหารจากกระดูกออกไปทำให้กระดูกของคุณแม่พรุนได้ง่ายนั่นเอง

3. ลูกหลับตอนให้นมแสดงว่าลูกอิ่มแล้ว

          คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกดีใจทุกครั้งที่ลูกหลับไป ยิ่งหลับในช่วงให้นมด้วยแล้วก็ยิ่งหมดห่วงเพราะคิดว่าลูกอิ่มท้องเลยเผลอหลับไป ซึ่งความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่แบบที่แม่คิดเสมอไป การที่ลูกเผลอหลับส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะได้ใกล้ชิดและได้รับความอบอุ่นจากแม่เสียมากกว่า ไม่ใช่เพราะกินอิ่ม นั่นก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางร่างกายของลูกน้อยเลย ในเมื่อกินนมไม่พอ สารอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกายเขาก็ไม่ครบตามไปด้วย ทางที่ดีหากสังเกตว่าลูกของเราจะเผลอหลับไประหว่างให้นม คุณแม่ควรจับลูกน้อยเปลี่ยนเต้าไปอีกข้างเพื่อกระตุ้นให้เขาตื่นนอนเพื่อกินนมจนอิ่ม หรือวางเขาลงที่นอนก่อนสักครู่แล้วค่อยป้อนนมต่อได้

4. ให้คนอื่นมาตัดสินเรื่องการให้นมของเรา

 
          นี่คือปัญหาสำคัญที่พ่อแม่หลายคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะมาจากผู้ใหญ่ใกล้ตัวหรือเพื่อนที่สนิทกัน แต่ละคนต่างก็มีข้อปฏิบัติในการให้นมลูกที่เเตกต่างกันออกไป เด็กบางคนป้อนนมแค่ 5 นาทีก็อิ่มท้องมากแล้ว ในขณะที่ลูกของเราใช้เวลาถึง 20 นาที แต่กลับยังไม่อิ่ม หรือบางคนก็ให้ลูกออกเต้าตั้งแต่ 6 เดือน บางคนก็ให้นมลูกถึง 2 ขวบ เพราะฉะนั้น เทคนิคการให้นมลูกไม่ควรถูกกำหนดด้วยพ่อแม่คนอื่น ๆ เราควรดูแลลูกและตั้งเป็นกฎเฉพาะในครอบครัวเราเองจะดีกว่า

แม่และเด็ก

          การให้นมลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญต่อพัฒนาการของเขามาก ความเชื่อหรือข้อปฏิบัติบางอย่างที่ใช้ไม่ได้จริงก็ควรหยุดพฤติกรรมนั้นเสีย ควรศึกษาวิธีการให้นมลูกอย่างถี่ถ้วนและตรงตามหลักทางการแพทย์จะดีที่สุด
 
ข้อมูลจาก : todaysparent.com, americanpregnancy.org, kellymom.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีให้นมลูก กับ 4 ความเชื่อแบบผิด ๆ ที่คุณแม่ต้องรีบทำความเข้าใจใหม่ด่วน ๆ อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 11:55:31 90,793 อ่าน
TOP
x close