x close

ครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร ? เรื่องนี้คุณแม่ควรรู้...

ครรภ์ไข่ปลาอุก

          ครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร อันตรายแค่ไหน ลุกลามเป็นมะเร็งจริงหรือ แล้วรักษาหายไหม ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ  

          หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ ครรภ์ไข่ปลาอุก ว่าคืออะไร เป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ มีอาการบ่งชี้อย่างไร แล้วใครที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ได้บ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมได้รวบรวมข้อสงสัยของโรคนี้มาให้แล้ว ไปรู้คำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
1. ครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร ?

          ครรภ์ไข่ปลาอุก คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ ที่ตัวอ่อนและรกไม่เจริญเติบโตขึ้นตามปกติ

ซึ่งการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

          - ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete Molar Pregnancy) เกิดจากเซลล์ผิดปกติ ทำให้ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโตไปเป็นทารก

          - ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก (Partial Molar Pregnancy) เกิดจากเซลล์ผิดปกติเติบโตขึ้นมาพร้อมตัวอ่อนที่มีความผิดปกติ ส่งผลให้ตัวอ่อนเติบโตไม่ได้ หรือทำให้ทารกพิการได้    

          ซึ่งสาเหตุการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกมาจากเซลล์ทำงานผิดปกติ รกไม่ลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงตัวอ่อน รวมถึงไม่สามารถกำจัดของเสียออกไปได้ ทำให้ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโตไปเป็นทารกและกลายเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ มีลักษณะคล้ายพวงองุ่นสีขาวหรือไข่ปลากระจายเต็มมดลูก จึงเรียกว่า "ครรภ์ไข่ปลาอุก" นั่นเอง ซึ่งถุงน้ำหรือก้อนเนื้อที่พบนี้ อาจมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคมะเร็งเนื้อรกได้ค่ะ

ครรภ์ไข่ปลาอุก

2. อาการน่าสงสัย แบบนี้ใช่ "ครรภ์ไข่ปลาอุก" ไหมนะ  

          ส่วนใหญ่มักพบอาการครรภ์ไข่ปลาอุกในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยอาการน่าสงสัยมีดังนี้ค่ะ 

          - อาการจะเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์

          - ขนาดของมดลูกโตเร็วกว่าปกติ

          - มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด   

          - มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง  

          - อาจมีชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายไข่ปลาหลุดออกมาทางช่องคลอด

          - บางคนมีอาการต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก หรือคอกพอกเป็นพิษ จะมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรืออาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้นได้ ทำให้มีอาการตัวบวม มีความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีฮอร์โมน HCG  สูงกว่าปกตินั่นเอง

3. รู้ได้อย่างไรว่าเป็น ครรภ์ไข่ปลากอุก แน่ ๆ  

          อาการที่แสดงออกภายนอก บางครั้งอาจมีอาการเหมือนโรคอื่น ๆ ได้ แต่ถ้าอยากรู้ว่าจะเป็นโรคนี้แน่นอนหรือไม่ ต้องทำการตรวจวิฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ 

          - ตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับฮอร์โมน HCG (ฮอร์โมนการตั้งครรภ์) หากพบว่ามีระดับสูงกว่าคนตั้งครรภ์ปกติ แสดงว่ามีโอกาสเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกได้ 

          - ตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์ เพื่อดูเนื้อเยื่อภายในมดลูกว่าเป็นอย่างไร ดูภายในมดลูกว่าพบถุงน้ำหรือไม่ หากภายในมดลูกมีความผิดปกติ พบว่ามีถุงน้ำก็มีโอกาสเป็นไปได้  

          - ตรวจอุ้งเชิงกราน เพื่อดูอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานทั้งขนาด ตำแหน่งของช่องคลอด ปากมดลูก หากมดลูกมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ และต้องทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง

          - นำชิ้นเนื้อไปตรวจ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงของโรคมะเร็งรกหรือไม่ หากทำการตรวจแล้ว พบว่ามีภาวะผิดปกติดังที่กล่าวมา แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป

ครรภ์ไข่ปลาอุก


4. ครรภ์ไข่ปลาอุก รักษาหายได้ จริงหรือ ?   

          แม้ฟังแล้วอาจจะดูน่ากลัว และอาจทำให้คุณผู้หญิงเกิดความกังวลใจกันไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่อายุ 35+ และกำลังวางแผนจะมีลูก แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลจนไม่กล้ามีลูกนะคะ เพราะโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีน้อย และโรคนี้ยังสามารถรักษาให้หายได้ เมื่อหายแล้วก็สามารถมีลูกได้ค่ะ

วิธีการรักษา

          - ขูดมดลูก เพื่อนำส่วนที่เป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกออกไป

          - หลังจากขูดมดลูกต้องคุมกำเนิดนาน 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อควบคุมให้ระดับฮอร์โมน HCG หายไปก่อน เพราะถ้าเกิดตั้งครรภ์ขึ้นอีกจะทำให้ระดับฮอร์โมนHCG เพิ่มขึ้นได้อีก และตรวจติดตามผลไม่ได้ เพราะการตรวจติดตามผลอาจทำโดยการตรวจภายใน ทางอัลตราซาวน์ หรือทางรังสีตามความเหมาะสม   

          - ติดตามระดับฮอร์โมน HCG โดยตรวจวัดฮอร์โมนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าฮอร์โมนลดลง ไม่มีเนื้องอกหลงเหลืออยู่ และเอ็กซ์เรย์ปอดเป็นระยะ โดยจะยังตรวจติดตามผลทุก 1 หรือ 2 เดือน เป็นเวลา 1 – 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะหายเป็นปกติ และอาการจะไม่กำเริบกลายไปเป็นโรคมะเร็งได้ 

5. หากเสี่ยงเป็นมะเร็ง จะรักษาอย่างไร ?


          สำหรับคนที่ทำการรักษา ควบคุมฮอร์โมน HCG แล้ว ฮอร์โมนยังไม่ลดลง และมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้นั้น จะต้องทำการรักษาดังนี้ค่ะ

          - ผ่าตัดมดลูก หากยังพบว่ามีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกอยู่ นั่นแสดงว่าอาจจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้นจึงต้องผ่าตัดเอามพลูกออกไป เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

          - กินยารักษามะเร็ง ถ้าเชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจาย จะสามารถรักษาให้หายได้ 100%

          - ทำเคมีบำบัด ในกรณีที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือตัดชิ้นเนื้อออกไปแล้ว แต่ปริมาณฮอร์โมน HCG ยังไม่ลด และเนื้องอกนั้นเกิดการลุกลาม ต้องทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมกับยาอื่น ๆ

          - ฉายรังสี สำหรับผู้ที่เนื้ององกระจายไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จะได้รับการฉายรังสีเอกซ์เรย์กำลังแรงสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั้น

          อย่างไรก็ตาม สำหรับโรคครรภ์ไข่ปลาอุก หากทำการรักษาอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่ง ดูแลตัวเองตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ โรคนี้ก็หายขาดได้ และสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยอีกครั้งค่ะ    

ครรภ์ไข่ปลาอุก

6. เป็นแล้ว ตั้งครรภ์ได้อีกไหม ?

          หมดความกังวลใจได้ สำหรับคนที่เป็นครรภ์ไข่ปลาอุก แต่อยากจะมีลูก ก็สามารถตั้งครรภ์ได้อีกโดยปฏิบัติดังนี้ค่ะ 

          - มีลูกได้ แต่ต้องได้รับการรักษาให้หายขาดก่อน อย่างร้อยใช้เวลารักษาประมาณ 1 – 2 ปี ซึ่งช่วงที่ทำการรักษาจะต้องกินยาคุมกำเนิด และคอยตรวจติดตามผลให้ระดับฮอร์โมน HCG ลดลงเป็นปกติ

          - เมื่อตั้งครรภ์ครั้งใหม่ต้องรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อตรวจว่ามีเสี่ยงจะเป็นอีกไหม 

          - ต้องบอกประวัติกับคุณหมอ ว่าเคยเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกมาก่อน เพื่อจะได้เฝ้าระวังอาการ และแพทย์จะแนะนำการดูแลการตั้งครรภ์ครั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกอีก

          - ไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง อาจจะมีการนัดบ่อยขึ้น เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น

          ได้รู้คำตอบของโรค ครรภ์ไข่ปลาอุก กันไปแล้วว่าคือโรคอะไร มีอาการแบบไหน อาจจะทำให้คุณแม่ที่กำลังวางแผนการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่อายุ 35+ เกิดความกังวลใจ กลัวว่าตัวเองจะเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ บอกเลยว่าอย่าเพิ่งกลัวจนเกินไปนะคะ เพราะโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย และสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นคุณแม่ที่วางแผนตั้งครรภ์ควรสังเกตและดูแลตัวเองให้มากขึ้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอ จะได้ทำการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีสุขภาพครรภ์ที่ดีต่อไปค่ะ       

 ข้อมูลจาก : si.mahidol.ac.th, dmh.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร ? เรื่องนี้คุณแม่ควรรู้... โพสต์เมื่อ 9 มีนาคม 2561 เวลา 14:38:54 16,087 อ่าน
TOP