หัวใจเต้นผิดปกติในแม่ตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่หัวใจของคุณแม่เต้นไม่เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป แต่ละครั้งจะกินเวลาไม่กี่วินาที และจะหายไปเองไม่เป็นอันตรายต่อแม่และลูกในครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการ หน้ามืด ตาลาย เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หรือเป็นลมหมดสติ ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดน่ารู้และสัญญาณเตือนหัวใจเต้นผิดปกติจากนิตยสาร รักลูก มาฝากคุณแม่กันด้วยค่ะ
คุณแม่คะหากรู้สึกใจสั่น รวมถึงเหนื่อยง่าย เวียนศีรษะด้วยละก็ต้องระวังแล้วค่ะ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า...หัวใจคุณแม่เต้นผิดปกติ
เมื่อหัวใจทำงานปกติ
หัวใจมีทั้งหมด 4 ห้อง แบ่งเป็นสองห้องบนซ้ายขวา และสองห้องล่างซ้ายขวา การทำงานของหัวใจจะควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าค่ะ โดยมีปุ่มกำเนิดไฟฟ้าอยู่ที่หัวใจห้องบนขวา กระแสไฟฟ้าจะกระตุ้นหัวใจห้องบนทั้งสองห้องก่อน ต่อจากนั้นกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านระบบไฟฟ้าลงสู่หัวใจห้องล่างทั้งสองห้อง หัวใจห้องบนและล่างจะทำงานสัมพันธ์กัน หลังจากที่กระแสไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจห้องบน จะทำให้หัวใจห้องบนบีบตัวผลักเลือดลงสู่หัวใจห้องล่าง ต่อจากนั้นกระแสไฟฟ้าจะกระตุ้นหัวใจห้องล่างทั้งสองห้องให้บีบตัวสูบฉีดเลือดออกไป
หัวใจห้องล่างขวาจะสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนต่ำไปที่ปอด ปอดจะทำการฟอกเลือดให้มีออกซิเจนสูง แล้วค่อยส่งเลือดกลับมาที่หัวใจห้องบนซ้าย หัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ระหว่างหัวใจห้องบนและล่าง และหัวใจห้องล่างกับหลอดเลือดใหญ่จะมีลิ้นหัวใจกั้นอยู่ เพื่อเปิดให้เลือดผ่านลงมา และปิดเพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
หัวใจเต้นผิดปกติ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจก็จะเต้นผิดปกติได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่หัวใจห้องบน หรือห้องล่าง โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ หัวใจเต้นผิดปกติที่ทำให้หัวใจเต้นช้า และหัวใจเต้นผิดปกติที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดหัวใจเต้นเร็วพบได้บ่อยกว่าชนิดเต้นช้ามาก โดยเฉพาะแม่ท้องใกล้คลอด อัตราการเต้นของหัวใจจะสูงกว่าปกติ ทำให้โอกาสที่หัวใจจะเต้นผิดจังหวะจึงมากขึ้นและบ่อยขึ้น มักเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ แต่ละครั้งจะกินเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น และจะหายไปเอง ไม่เป็นอันตรายต่อแม่และลูกในครรภ์
หัวใจที่เปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
ระบบต่าง ๆ ของร่างกายแม่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์และการเติบโตปกติของลูกน้อยในครรภ์ อายุครรภ์มากขึ้น มดลูกจะดันอวัยวะภายในให้สูงขึ้น กะบังลมก็ถูกดันให้ยกสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้หัวใจถูกดันสูงขึ้นตา และเบี่ยงไปทางซ้ายมากกว่าปกติ ที่สำคัญแม่ท้องจะมีหัวใจโตร่วมด้วยเฉลี่ยร้อยละ 10-12 หัวใจที่โตขึ้นนี้ เป็นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ทำให้ปริมาตรภายในเพิ่มขึ้นตามมาได้ถึง 80 มิลลิลิตร ปริมาตรของเลือดที่หัวใจสูบฉีดขณะหัวใจบีบตัวแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์ จะเพิ่มขึ้นรวดเร็วในไตรมาส 2 และคงที่ในไตรมาส 3 โดยในอายุครรภ์ที่ 30-32 สัปดาห์ปริมาตรเลือดที่สูบฉีดจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30-45
ปริมาตรของเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในเวลา 1 นาที จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-50 โดยจะเพิ่มสูงสุดในระหว่างอายุครรภ์ 20-24 สัปดาห์ การเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกเกิดจากปริมาตรของเลือดที่หัวใจสูบฉีดออกมาในขณะบีบตัว 1 ครั้งเพิ่มขึ้น ส่วนในครึ่งหลังเป็นผลจากการเพิ่มของอัตราการเต้นของหัวใจ แรงต้านทานในหลอดเลือดจะลดลงในไตรมาสแรก จะลดต่ำสุดในช่วงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในเลือด ตอนช่วงคลอดจะลดต่ำลงมาได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งทำให้เกิดอาการวิงเวียน หรือปวดศีรษะ
นอกจากนี้อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 20-25 อาจจะสูงกว่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ในไตรมาส 3 ปริมาตรของเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในเวลา 1 นาที อาจลดลงได้จากขนาดมดลูกที่ใหญ่กดหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง โดยเฉพาะในท่านอนหงาย แนะนำให้คุณแม่นอนตะแคงซ้าย และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบหัวใจ และหลอดเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์อีกมากมาย แต่สิ่งที่ช่วยคลายความกังวลได้คือ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งปกติของคุณแม่ค่ะ
สัญญาณเตือน
ส่วนใหญ่แม่ตั้งครรภ์ที่มีหัวใจเต้นผิดปกติจะมีอาการใจสั่นเหนื่อยง่ายกว่าปกติ วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนอาการเป็นลม หรือเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดปกติพบได้น้อยมาก
การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจะวินิจฉัยจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายตามปกติแล้ว แพทย์จะส่งตรวจเลือดทั่วไป ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจหรือไม่ นอกจากนี้จะตรวจหาโรคบางชนิดที่ก่อให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
การรักษาขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติชนิดใด เนื่องจากมักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่การอธิบายให้ทราบก็เพียงพอแล้ว มีส่วนน้อยที่แพทย์แนะนำให้กินยา หรือการจี้รักษา ซึ่งจะแนะนำให้ทำในภาวะหัวใจเต้นผิดปกติแบบเต้นเร็วบางชนิด และจะทำหลังจากที่คลอดบุตรแล้ว
หากคุณแม่มีอาการใจสั่นและเป็นนานกว่าปกติ ไม่หายเอง สิ่งที่คุณแม่ควรทำมีดังนี้ ตั้งสติ แล้วลองไอติดต่อกันหลายครั้ง อาจจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงได้ หรือลองนั่งลงแล้วเบ่งคล้ายเบ่งถ่าย เพราะทั้งสองวิธีนี้เหมือนการกลั้นลมหายใจชั่วขณะทำให้แรงดันในช่องอกเพิ่มขึ้น เพื่อไปกระตุ้นเส้นประสาท ทำให้หัวใจเต้นช้าลง จะช่วยบรรเทาอาการให้คุณแม่ได้โดยไม่ต้องกินยา ส่วนใหญ่เมื่อคุณแม่ทำตามนี้แล้วมักได้ผลดี แต่ถ้าทำแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการวิงเวียนศีรษะมากหรือเป็นลม ต้องรีบพบแพทย์ คุณแม่อาจต้องกินยา แต่จะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกในท้องค่ะ
ในกรณีที่คุณแม่มีความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจและเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะช่วยรักษาด้วยการกระตุกไฟฟ้าผ่านแผ่นที่หน้าอกได้ การรักษาวิธีนี้จะทำให้คุณแม่และลูกปลอดภัย
ที่สำคัญคือ ต้องดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ มีสุขภาพจิตที่ดี แล้วตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 34 ฉบับที่ 397 กุมภาพันธ์ 2559