การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย แล้วจะใช้ยาอะไรได้บ้างที่ไม่เสี่ยงอันตรายต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร รักลูก กับกลุ่มยา 5 ชนิดที่คุณแม่สามารถกินได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ มาฝากกันค่ะ ส่วนจะมียาชนิดใดบ้างนั้นเราไปดูกันเลยค่ะ
การใช้ยาของแม่ส่งผลต่อลูกในท้อง เพราะลูกรับสารอาหารต่าง ๆ ผ่านรกและสายสะดือของแม่โดยตรง ดังนั้นถ้าแม่ใช้ยารักษาไม่ถูกต้องอาจเสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้
5 กลุ่มยาของแม่และลูกในท้อง
องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งกลุ่มยาตามระดับความปลอดภัยต่อแม่และลูกในท้องเป็น 5 ประเภทเรียกว่า Pregnancy Category A B C D และ X
- Pregnancy Category A เช่น วิตามินโฟเลต เป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงท้อง 3 เดือนแรก
- Pregnancy Category B เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Penicillin, Cephalosporin, Azithromycin ใช้รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ, ยาลดน้ำมูก CPM, ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน Dramamine, Onsia เป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัย เพราะผลการศึกษาในสัตว์พบว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์
- Pregnancy Category C เช่น ยาแก้ปวด Tramadol ยาแก้ไอ Dextromethorphan, ยาฆ่าเชื้อรา มีการศึกษาในสัตว์ว่ายากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ว่าส่งผลดังกล่าว
หากใช้ยาในกลุ่มนี้ แพทย์ต้องอนุญาตโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อการรักษา ว่าจำเป็นมากกว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์
- Pregnancy Category D เช่น ยาคลายกังวล, ยานอนหลับ Dormicum เป็นต้น ปัจจุบันห้ามจำหน่าย นอกจากแพทย์สั่งเท่านั้น โดยไม่ควรใช้ระยะยาว เพราะอาจมีภาวะพึ่งยาทั้งด้านร่างกายและจิตใจเมื่อไม่ได้รับยาหลังจากกินมาเป็นเวลานาน และขึ้นอยู่กับการตอบสนองยาของแต่ละคนด้วย เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ แพทย์จึงสั่งให้คุณแม่ทานยาเมื่อจำเป็นจริง ๆ เพื่อควบคุมโรค โดยได้คิดแล้วว่าประโยชน์จากการรักษาโรคที่ร้ายแรงนี้ความสำคัญจริง ๆ ที่จะยอมรับโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อลูกในครรภ์
- Pregnancy Category X เป็นกลุ่มยาที่แม่ท้องห้ามกินโดยเด็ดขาด เพราะมีอันตรายต่อลูกในท้องมากกว่ายากลุ่มอื่น ๆ เมื่อสมองติดยา แม่ท้องเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม ทารกในครรภ์เสี่ยงพิการและเสียชีวิต
หากใช้ผิด...อันตราย
แม้จะเป็นกลุ่มยา Pregnancy Category C และ D ซึ่งแพทย์เป็นผู้สั่งก็ตาม และมักให้ขนาดต่ำสุดแต่มีประสิทธิภาพรักษาโรคของแม่ท้องได้ ทั้งใช้ในกรณีจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น แต่ถ้าแม่ท้องใช้ยาจนเสพติดขึ้นมา จะส่งผลร้ายแรงได้ อาทิ
+ ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง : ทรามาดอล (Tramadol)
ถ้าใช้ปริมาณมาก จะทำให้การเต้นของหัวใจและการหายใจของแม่ช้าลง ง่วงนอนมาก ตัวเย็น จนเป็นลมได้ ลูกเสี่ยงเสียชีวิตในท้อง
ทั้งหลังคลอดหากกินมากติดต่อกัน 3 วัน จะทำให้ในน้ำนมมีความเข้มข้นของยาถึง 1.8 มิลลิกรัม/ลิตร ดังนั้นเมื่อลูกกินนมแม่ก็จะหายใจช้าลง และการเต้นของหัวใจลูกน้อยแรกเกิดช้ากว่าปกติ
+ ยาแก้ไอ : เด็กซ์โตรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
หากแม่ท้องกินมากกว่า 360 มิลลิกรัม จะเกิดคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ง่วงมาก กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะไม่ออก มึนงง ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก เซลล์สมองถูกทำลายถาวร หมดสติ อาจเสียชีวิตได้
+ ยาแก้แพ้ : โปรโคดิล (Procody)
ถ้ากินมาก ทำให้เกิดประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวน ไม่กระตือรือร้น รูม่านตาหด ไข้สูง ภาวะเม็ดเลือดขาวลดลง และไปกดการหายใจของแม่และลูกในท้อง ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว อาจชักและเสียชีวิตได้
+ ยานอนหลับ ยาคลายกังวล : โดมิคุม (Dormicum)
หากร่างกายได้รับยาเกินขนาด จะทำให้ซึมอย่างหนัก หลับนานผิดปกติ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน การตอบสนองลดลง สับสน และไม่รู้สึกตัว
เมื่อยาปนในนมแม่ จะทำให้ลูกน้ำหนักลด ไม่อยากอาหาร ไตวาย กล้ามเนื้ออ่อนแอ หงุดหงิด ร้องไห้บ่อย นอนหลับแบบไม่ยอมตื่น หายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ หัวใจเต้นไม่ปกติ และชักได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 396 มกราคม 2559