คลอดก่อนกำหนดของคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดขี้นได้หลายสาเหตุ ต้องรับมืออย่างไรลูกน้อยจึงจะสมบูรณ์แข็งแรง วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ ในการเตรียมตัวและดูแลเมื่อลูกคลอดก่อนกำหนด และต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ เราไปดูกันเลยค่ะ
เจ้าตัวน้อยที่ลืมตาออกมาดูโลกก่อนอายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นหนูน้อยที่คลอดก่อนกำหนด และจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิดค่ะ เนื่องจากปอด และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ จนกว่าคุณหมอจะมั่นใจว่าลูกน้อยพร้อมจะออกสู่โลกกว้างอย่างปลอดภัย
ข้อควรระวัง !!!
ทารกคลอดก่อนกำหนด เมื่อกลับมาบ้านแล้ว หากมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดูดนมได้น้อย หรือไม่ดูดนมเลย ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
NICU เมื่อหนูต้องอยู่ในตู้อบ
NICU (Neonatal Intensive Care Unit) หรือห้องอภิบาลทารกแรกเกิด เป็นสถานที่ที่คุณพ่อคุณแม่ของหนูน้อยคลอดก่อนกำหนดต้องทำความรู้จักค่ะ เพราะในช่วงแรก ๆ ของชีวิตลูกรักจะต้องอยู่ในห้องนี้ อาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของทารกขณะคลอด และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยทั่วไปหนูน้อยจะอยู่ในตู้อบ ที่ให้ความอบอุ่นและป้องกันเชื้อโรคทั้งยังมีเครื่องมือแพทย์ระโยงระยางดูน่ากลัว แต่อย่ากังวลไปค่ะ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยดูแลให้เจ้าตัวน้อยปลอดภัย ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักตัวน้อย แพทย์จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งลูกมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กก. ขึ้นไป หรือเมื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของลูกพัฒนาจนสามารถอยู่เองได้โดยไม่ต้องใช้ตู้อบ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์ก็จะอนุญาตให้เจ้าตัวน้อยกลับบ้านได้
ดูแลอย่างไร เมื่อพาลูกกลับบ้าน
การได้พาลูกรักกลับบ้านถือเป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่รอคอย ถึงแม้คุณหมอจะบอกว่าลูกรักแข็งแรงพร้อมที่จะกลับบ้านได้แล้ว แต่การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดก็จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมากกว่าทารกที่คลอดตามเกณฑ์ ทั้งนี้เพราะหนูน้อยมีโอกาสที่จะติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอาจยังไม่แข็งแรงดีพอ
จำกัดปริมาณคนเยี่ยม ใคร ๆ ก็อยากจะเห็นสมาชิกตัวน้อยของครอบครัว แต่หากเป็นไปได้ในช่วง 3 เดือนแรก คุณควรจำกัดปริมาณคนที่จะมาเยี่ยมให้อยู่เฉพาะญาติ และเพื่อนที่สนิทจริง ๆ ผู้ที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัวควรขอให้งดการมาเยี่ยม เพื่อให้คุณ และลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อต่าง ๆ คุณอาจแจ้งให้เพื่อน ๆ ทราบว่าลูกคลอดก่อนกำหนด และยังไม่แข็งแรงดี ขอเวลาอีกไม่นานทุกคนจะได้ชื่นชมหลานอย่างแน่นอน
หลีกเลี่ยงการพาลูกไปที่สาธารณะ หากไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ควรพาลูกออกไปนอกบ้านค่ะ หากต้องไปหาหมอ ควรนัดช่วงเช้าเป็นคิวแรก ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรออยู่ที่โรงพยาบาลนานเกินไป
สัมผัสผิวต่อผิว มีการวิจัยที่พบว่าการอุ้มลูกแบบจิงโจ้ (Kangaroo Care) โดยอุ้มทารกที่ใส่เพียงผ้าอ้อม วางลงแนบอกของคุณพ่อ หรือคุณแม่ ให้ผิวของลูกได้สัมผัสผิวของพ่อแม่โดยตรงจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการ และสุขภาพโดยรวมของทารก สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้
สภาพแวดล้อมและความสะอาด อากาศภายในบ้านควรถ่ายเท ไม่อับชื้น ควรทำความสะอาดบ้านให้พร้อมก่อนพาลูกกลับบ้าน หากมีสัตว์เลี้ยงในช่วงแรกนี้ ควรแยกให้อยู่ห่างจากทารก ปรับอุณหภูมิในบ้านไม่ให้ร้อน หรือเย็นจัดเกินไป ไม่ควรเปิดพัดลมจ่อตัวลูก หรือหากเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอุณหภูมิให้ต่ำกว่านอกห้องประมาณ 4-5 องศา แต่ไม่ควรต่ำกว่า 25 องศา ไม่ควรให้ลูกอยู่ห้องแอร์ตลอดเวลา ในช่วงเช้า ๆ อาจเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทบ้าง
พยายามให้ลูกกินนมแม่ น้ำนมแม่มีคุณสมบัติช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนดแข็งแรงเร็วยิ่งขึ้น ควรนำลูกมาเข้าเต้าบ่อย ๆ กลิ่นของคุณแม่จะกระตุ้นให้ลูกอยากดูดนมแม่ พอได้ดูดบ่อย ๆ น้ำนมแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากลูกดูดไม่เก่ง ให้คุณแม่ปั๊มนม และค่อย ๆ เอาน้ำนมที่ปั๊มออกมานั้นหยดที่มุมปากของลูกขณะที่ลูกกำลังอม ๆ ดูด ๆ นมจะซึมเข้าปาก ลูกก็จะได้ฝึกดูดนมแม่ ประมาณ 2 อาทิตย์ลูกจะดูดได้เก่งขึ้นค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.23 Issue 269 ธันวาคม 2558