เมื่อเบาหวานมาเยือนแม่ท้อง รับมืออย่างไร ?

           เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้โดยที่คุณแม่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนได้ค่ะ โดยสาเหตุเป็นเพราะฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อตั้งครรภ์นั่นเอง

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

          เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับการตรวจวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่าเป็นภาวะ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะต้องทำการรักษาและควบคุมอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ จากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งคุณแม่และลูกน้อย แต่ไม่ใช่การอดอาหารนะคะ แล้วต้องดูแลตัวเองอย่างไร ? วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ มาฝากกันค่ะ

ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)

          เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับหญิงตั้งครรภ์ พบได้บ่อยประมาณ 2-10% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด โดยสาเหตุมาจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปแล้วอินซูลินจะทำหน้าที่นำน้ำตาล หรือกลูโคสที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารไปใช้เป็นพลังงาน แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางรายความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง ส่งผลให้มีน้ำตาลตกค้างในเลือดมากเกินไป

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ถ้าฉันควบคุมอาหารดีกว่านี้ คงไม่เป็นเบาหวานใช่ไหม ?

          คุณแม่หลายรายเมื่อตรวจพบว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักจะรู้สึกผิด และถามตัวเองว่าหากเราดูแลเรื่องอาหารดีกว่านี้ก็อาจจะไม่ต้องเป็นเบาหวานก็ได้ ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะควบคุมอาหารเป็นอย่างดี ก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ค่ะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้น ถึงคุณจะดูแลเรื่องโภชนาการเป็นอย่างดีก็มีโอกาสจะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้หากคุณอยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

         - คุณแม่มีภาวะน้ำหนักเกิน

         - เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

         - มีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน

         - มีความดันโลหิตสูง

         - ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

กินของว่าง ระหว่างมื้อ

          เมื่อเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม้จะหาของกินยากสักหน่อย แต่คุณแม่ก็ไม่ควรงดอาหารบางมื้อเด็ดขาดค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในมื้อถัดไปยากยิ่งขึ้น และแม้ว่าคาร์โบไฮเดรตจะทำให้น้ำตาลสูงแต่ก็ไม่ควรงดเช่นกัน แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะเจ้าตัวน้อยในครรภ์ยังจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนอยู่ การกินของว่างระหว่างมื้อไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างนานเกินไป เพราะของว่างจะช่วยทำให้คุณควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะก่อนนอนควรหาอะไรรองท้อง เพราะการปล่อยให้ท้องว่างนานเกิน 8 ชั่วโมง จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังตื่นนอนสูงขึ้นได้ง่าย

คุมอาหาร คุมเบาหวานขณะตั้งครรภ์

          โดยทั่วไปแล้วภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายเองได้หลังคลอด แต่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่จำเป็นต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อได้ยินคำว่าเบาหวาน คนทั่วไปมักคิดว่าควรหลีกเลี่ยงของหวาน และอาหารที่มีน้ำตาลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทะลุเพดาน คือ อาหารจำพวกแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตนั่นเอง

          ดังนั้น ในแต่ละมื้อว่าที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก เมื่ออ่านฉลากโภชนาการให้ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตแทนการดูปริมาณน้ำตาล เพราะปริมาณคาร์โบไฮเดรตในฉลากโภชนาการนั้นได้รวมปริมาณน้ำตาลไว้ด้วยแล้ว ทั้งนี้ หนึ่งหน่วยบริโภค (serving size) ของคาร์โบไฮเดรตจะอยู่ที่ 15 กรัม หากฉลากโภชนาการระบุว่าอาหารนั้น ๆ มีคาร์โบไฮเดรต 30 กรัม แสดงว่าอาหารนั้นมีคาร์โบไฮเดรตเท่ากับ 2 หน่วยบริโภค เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็มาดูว่าในแต่ละมื้อว่าที่คุณแม่ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเท่าใด เพื่อให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ

         - มื้อเช้า ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค หรือ 30 กรัม

         - อาหารว่างมื้อสาย ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค หรือ 15 กรัม

         - มื้อกลางวัน ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 4 หน่วยบริโภค หรือ 60 กรัม

         - อาหารว่างมื้อบ่าย ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค หรือ 15 กรัม

         - มื้อเย็น ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 4 หน่วยบริโภค หรือ 60 กรัม

         - อาหารว่างก่อนนอน ควรรับประทนคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 1 หน่วยบริโภค หรือ 15 กรัม โดยทั้งหมดนี้ ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตคู่กับโปรตีน และผักใบเขียวด้วยนะคะ

ออกกำลังกาย

          หลังมื้ออาหารควรเดินไปเดินมาประมาณ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้นำพลังงานไปใช้ ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ หากว่าที่คุณแม่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะช่วยทำให้คุณควบคุมภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ดีขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.23 Issue 269 ธันวาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อเบาหวานมาเยือนแม่ท้อง รับมืออย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 10 มกราคม 2563 เวลา 16:40:19 12,422 อ่าน
TOP
x close