การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ และการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ว่าที่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพัฒนาการการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์แล้วค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ ในการเช็กการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ว่าปกติหรือไม่ปกติเป็นอย่างไรมาแนะนำคุณแม่กันค่ะ
ช่วงเวลาหนึ่งที่น่าตื่นเต้นของการตั้งครรภ์... คงหนีไม่พ้น เมื่อคุณรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวน้อยในครรภ์เป็นครั้งแรก ความรู้สึกคล้าย ๆ กับฟองสบู่ บุ๋ง ๆ ในท้อง หรือคุณแม่บางคนก็บอกว่ารู้สึกเหมือนมีเจ้าปลาตัวน้อยตอดอยู่ในท้อง ความรู้สึกเหมือนมีอะไรมาดุกดิก ๆ อยู่ในท้อง ทำให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์มีพัฒนาการสมบูรณ์ แข็งแรง และที่สำคัญยังทำให้คุณรู้สึกใกล้ชิดกับชีวิตน้อย ๆ ที่ยังไม่ได้เห็นหน้ามากยิ่งขึ้น
อายุครรภ์ กับการเคลื่อนไหวของลูก
ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวภายในครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ระหว่าง 16-25 สัปดาห์ แต่หากเป็นการตั้งครรภ์ท้องแรกคุณอาจจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวจนกระทั่งอายุครรภ์ประมาณ 25 สัปดาห์ สำหรับครรภ์ที่สอง คุณแม่บางรายอาจรู้สึกถึงการดิ้นของลูกตั้งแต่สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์เลยทีเดียว ทั้งนี้สรีระร่างกายของคุณแม่ก็มีความเกี่ยวข้องด้วยว่าคุณจะรู้สึกถึงการดิ้นของลูกเร็ว หรือช้าเพียงใด เพราะคุณแม่ที่มีร่างกายผอมบาง หน้าท้องไม่หนา มดลูกจะลอยไปสัมผัสที่หน้าท้องได้เร็วกว่าจึงทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นได้เร็วกว่าคุณแม่ที่มีหน้าท้องหนาค่ะ
กลางวันตื่น กลางคืนดิ้น จริงหรือ ?
ว่าที่คุณแม่หลายท่านอาจเคยได้ยิน หรือประสบกับตัวเองมาบ้างแล้วว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์นั้นมักจะคึกคักในเวลากลางคืน ยิ่งดึกก็ยิ่งดิ้น จนทำให้คุณแม่ไม่เป็นอันหลับนอน โดยเฉพาะในช่วงเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม ไปจนถึงตี 1 แต่สำหรับบางรายก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะทารกบางคนก็ดิ้นไม่เป็นเวลา ทั้งนี้ส่วนใหญ่หนูน้อยในครรภ์มักดิ้นบ่อยหลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหาร โดยเฉพาะขนมหวาน และเครื่องดื่มเย็น ๆ
นับลูกดิ้น จำเป็นหรือเปล่า
ในช่วงต้น ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณอาจยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยมากนัก หรือหากรู้สึกก็นาน ๆ ครั้ง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงท้าย ๆ ของไตรมาสที่ 2 คุณจะรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ชัดเจนขึ้น และบ่อยยิ่งขึ้น มีการศึกษาที่พบว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์นั้น หนูน้อยในครรภ์ดุกดิก ๆ ถึงชั่วโมงละ 30 ครั้งเลยทีเดียว เมื่ออายุครรภ์ของคุณแม่ประมาณ 28 สัปดาห์ แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณแม่นับการดิ้นของลูก เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการปกติตามเกณฑ์ เพราะหากทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง อาจหมายถึงภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง โดยทารกจะดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้นเป็นเวลาประมาณ 12-48 ชั่วโมง ก่อนที่จะเสียชีวิต ดังนั้น การนับการดิ้นของลูกจะช่วยป้องกันภาวะเสี่ยงนี้ได้
การนับและจดบันทึกการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ ควรเริ่มเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทำได้โดยเลือกเวลาที่คุณรู้สึกว่าเจ้าตัวน้อยคึกคักที่สุด โดยทั่วไปมักเป็นเวลาหลังอาหาร นั่ง หรือนอนตะแคง ในท่าที่ผ่อนคลาย แล้วลองเริ่มนับ จากนั้น โดยภายใน 2 ชั่วโมงคุณควรรู้สึกว่าลูกเคลื่อนไหวประมาณ 10 ครั้ง หากครบ 2 ชั่วโมงแล้วยังรู้สึกว่าลูกดิ้นไม่ครบ 10 ครั้ง ลองใหม่อีกครั้ง โดยอาจจะรอจนถึงหลังอาหารมื้อต่อไป หากยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์
Time Line การเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์
อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
การเคลื่อนไหว ลูกในครรภ์เริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวนี้ เพราะลูกยังตัวเล็กอยู่มาก
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์
การเคลื่อนไหว ว่าที่คุณแม่บางรายอาจเริ่มรู้สึกเหมือนมีปลาตัวเล็ก ๆ ตอดในท้อง ซึ่งความรู้สึกนี้อาจเป็นเพราะลมในกระเพาะอาหาร หรือการเคลื่อนไหวของลูกก็ได้
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
การเคลื่อนไหว เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าลูกดิ้นเป็นครั้งแรก
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์
การเคลื่อนไหว การดิ้นของลูกเริ่มเป็นเวลามากขึ้น คุณแม่อาจพอเดาได้ว่าลูกจะดิ้นในช่วงเวลาใด หากคุณรู้สึกเหมือนมีอะไรกระตุกในท้อง นั่นอาจเป็นเพราะลูกกำลังสะอึก
อายุครรภ์ 28 สัปดาห์
การเคลื่อนไหว ลูกน้อยเริ่มดิ้นบ่อย และแรงขึ้น การเคลื่อนไหวของลูก กลายเป็นความสุขเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันของคุณไปแล้ว
อายุครรภ์ 36 สัปดาห์
การเคลื่อนไหว ภายในมดลูกแทบจะไม่เหลือพื้นที่ เพราะลูกน้อยเติบโตขึ้นมาก การเคลื่อนไหวอาจช้า และน้อยลงในช่วงนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.23 Issue 267 ตุลาคม 2558