มหัศจรรย์ร่างกายของ ...แม่ตั้งครรภ์



          เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่ก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์ วันนี้กระปุกดอทคอมมีพัฒนาการเรื่องสรีระร่างกายของคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงใกล้คลอดมาฝากกัน พร้อมแล้วเราไปดูความมหัศจรรย์และการเตรียมความพร้อมก่อนอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆจะลืมตามาสู่โลกกว้างกับนิตยสาร MODERNMOM กันเลยค่ะ ^^

          ระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ธรรมชาติสร้างร่างกายของผู้หญิงให้สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอีกหนึ่งชีวิตอันงดงามที่กำลังจะเติบโตอยู่ในตัวของคุณแม่เป็นเวลานานถึง 9 เดือน
มดลูกขยายตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ

          ตลอดการตั้งครรภ์ มดลูกของผู้หญิงจะขยายตัวตลอดเวลา ช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์มดลูกของผู้หญิงมีน้ำหนักประมาณ 70 กรัม แต่เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะค่อย ๆ ขยายตัวจนมีความจุเฉลี่ยถึง 5 ลิตร และมีน้ำหนักประมาณ 1,100 กรัม และเมื่อคลอดแล้ว มดลูกก็จะกลับไปมีขนาดและน้ำหนักเท่าเดิมกับตอนก่อนตั้งครรภ์

เลือดมากขึ้น 50% หัวใจโตขึ้นพร้อมสูบฉีด

          ปริมาณเลือดในร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึงประมาณ 40-50% เพื่อให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้นถึง 20% เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งมีอีกหนึ่งชีวิตที่กำลังเติบโตอยู่ในตัวของคุณแม่ นั่นทำให้หัวใจของคุณแม่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นในระหว่างที่ตั้งครรภ์เพราะหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น มีจังหวะการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นเพื่อทำงานให้สัมพันธ์กับปริมาณเลือดที่เพิ่มมากขึ้น

ต่อมใต้สมองใหญ่ขึ้น เพื่อผลิตฮอร์โมนสำคัญ

          จากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงตั้งครรภ์ทำให้ต่อมพิทูอิทารีหรือต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งต่อมใต้สมองส่วนหน้าจะผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ คือ ฮอร์โมนเล็กโตจินิก หรือโปรแล็กดิน ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเต้านมและต่อมน้ำนมขณะตั้งครรภ์ ต่อมใต้สมองส่วนหลังผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการบีบตัวของมดลูกขณะคลอดบุตร และช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมด้วย

ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนใน 1 วัน มากกว่าผู้หญิงปกติ 3 ปี

          ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์มหัศจรรย์ราวกับซูเปอร์วูแมน เมื่อการตั้งครรภ์สมบูรณ์ คุณแม่จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนในหนึ่งวัน ได้มากกว่าผู้หญิงซึ่งไม่ได้ตั้งครรภ์ผลิตฮอร์โมนนี้ในเวลา 3 ปี ความมหัศจรรย์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ มีบทบาทในการพัฒนาเต้านม และช่วยให้มดลูกยืดขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับกับขนาดของทารกที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เส้นเอ็นต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกราน และหัวหน่าวคลายตัวยืดหยุ่นขึ้น ช่วยให้บริเวณช่องคลอดขยายกว้างขึ้น เป็นการเตรียมคุณแม่ให้พร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะมาถึง

กระดูกเชิงกรานขยายได้เท่าตัวลูก

          ข้อต่อต่าง ๆ ของคุณแม่จะยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอด ร่างกายได้ผลิตฮอร์โมนรีแลกซิน ซึ่งทำให้ข้อต่อและเอ็นต่าง ๆ เกิดการยืดตัวหรือหลวมขึ้น ความยืดหยุ่นนี้ช่วยให้ทารกผ่านกระดูกเชิงกรานออกมาได้ในระหว่างการคลอด

เท้าใหญ่รองรับน้ำหนัก

          ฮอร์โมนที่มีชื่อว่า รีแลกซิน ที่ผลิตขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้เส้นเอ็นของเท้ายืดขยายตัว ประกอบกับเท้ามีการบวมจากการคั่งของเหลวในร่างกาย เท้าของคุณแม่จึงขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งพอดีกับน้ำหนักของร่างกายที่เพิ่มมากขึ้น เท้าที่ขยายตัวออกทั้งด้านกว้างและยาวช่วยรับน้ำหนักได้ดีซึ่งไม่ต้องกังวลไป หลังคลอดประมาณ 2 เดือน เท้าจะกลับมามีขนาดปกติเท่าเดิม

อยากกินของแปลก

          ความอยากอาหารบางอย่างมากเป็นพิเศษเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของแม่ตั้งครรภ์ เช่น อยากรับประทานไอศกรีมมากตลอดเวลา ถ้าเป็นอาหารธรรมดาก็คงไม่แปลกอะไร แต่ถ้าหากอยากอาหารที่แปลกประหลาดมาก ๆ เช่น อยากรับประทานเกลือ หรือดิน อาจเป็นสัญญาณว่าคุณแม่กำลังต้องการสารอาหารอะไรบางอย่าง และควรเน้นรับประทานให้ครบ 5 หมู่เป็นหลัก

หนึ่งลมหายใจสองชีวิต

          คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการออกซิเจนมากขึ้น ประมาณ 15% (30 มล.ต่อนาที) เพื่อให้ได้ปริมาณออกซิเจนเพียงพอกับความต้องการของตัวคุณแม่เองและทารกน้อยในครรภ์ โดยระบบทางเดินหายใจของคุณแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลง เพราะร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดและกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัวส่งผลให้หายใจเร็วและแรงขึ้น นอกจากนี้มดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเบียดกระบังลมให้สูงขึ้นทำให้อกขยายออกทางด้านข้าง ความจุปอดยังเพิ่มมากขึ้นด้วย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.238 สิงหาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มหัศจรรย์ร่างกายของ ...แม่ตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2558 เวลา 09:12:39 8,032 อ่าน
TOP
x close