อาการแบบไหนที่เรียกว่าอาการใกล้คลอด วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้วิธีสังเกตอาการใกล้คลอดของคุณแม่มาฝากกัน เพราะคุณแม่ท้องแรกอาจจะยังแยกอาการไม่ถูกว่าอาการแบบไหนเจ็บครรภ์ใกล้คลอด แล้วอาการแบบไหนต้องไปพบแพทย์ เรามีข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร MODERNMOM มาฝากกันค่ะ ^^
อาการของการเข้าสู่ระยะคลอดมีหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เมื่อศีรษะลูกเริ่มเคลื่อนต่ำลงไปอุ้งเชิงกราน จะมีอาการท้องลดคือ ช่วงระหว่างลิ้นปี่ถึงยอดมดลูกจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้น การหายใจจะรู้สึกสบายขึ้น เพราะยอดมดลูกกดเบียดกะบังลมจนเหลือพื้นที่น้อยลง แต่จะไปหน่วงแถว ๆ บริเวณหัวหน่าว หรือช่องคลอดแทน เพราะศีรษะ ทารกจะเริ่มมุดเข้าไปในอุ้งเชิงกราน
คุณแม่จะมีอาการปัสสาวะบ่อย เจ็บหน่วงที่หัวหน่าว หรือหลังบริเวณก้นกบ เมื่อมดลูกเริ่มมีการบีบตัว (Uterine Contraction) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ท้องแข็ง ต้องแยกให้ออกถึงความแตกต่างระหว่างมดลูกบีบตัวซึ่งเป็นการแข็งทั้งท้อง หรือที่เรียกว่า แข็งเป็นปั้น คือจับบริเวณไหนของท้องก็จะแข็งไปหมดทุกส่วน และมีจังหวะการบีบที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นทารกโก่งตัว จะแข็งแค่ส่วนที่เป็นด้านหลังของทารก ด้านตรงข้ามจะนุ่ม และอาการโก่งตัวของทารกในครรภ์ไม่มีจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ
เมื่อแยกระหว่างมดลูกบีบตัวและทารกโก่งตัวได้แล้ว ลำดับต่อไปต้องแยกระหว่างการบีบตัวที่เป็นการบีบเตือนหรือแข็งเตือน กับบีบจริงหรือแข็งจริง ซึ่งแตกต่างกันดังนี้ครับ
ท้องแข็งเตือน หรือเจ็บเตือน (False Labor) | ท้องแข็งจริง หรือเจ็บท้อง เข้าสู่ระยะคลอดจริง (True Labor) |
ท้องแข็งไม่เป็นจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หลาย ๆ ชั่วโมง แข็งหนึ่งครั้ง | ท้องแข็งเป็นจังหวะ สม่ำเสมอ และมีแนวโน้มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แข็งหลาย ๆ ครั้งในหนึ่งชั่วโมง |
ขึ้นกับกิจกรรมของคุณแม่ เช่น เดินมาก ยืนนาน ท้องจะแข็งถี่ขึ้น แต่เมื่อได้นอนพักจะค่อย ๆ ห่างออกและหายไป | ไม่ขึ้นกับกิจกรรม แม้นอนพักท้องก็ยังแข็งอยู่ |
ไม่มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด | มักมีลูกเลือดออกทางช่องคลอดร่วมด้วย |
อีกภาวะหนึ่งที่เราอาจจะเห็นได้จากละครหลาย ๆ เรื่องที่มีนางเอกตั้งท้อง พอใกล้คลอดจะมีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอดคล้ายปัสสาวะราด นั่งอยู่ก็จะเปียกชุ่มกางเกง หรือยืนก็จะไหลออกมาตามหน้าขา ภาวะแบบนี้ เรียกว่า "น้ำเดิน" หรือ "น้ำคร่ำเดิน" น้ำคร่ำเป็นน้ำที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ถ้ามีภาวะน้ำคร่ำเดินควรรีบมาโรงพยาบาล ไม่ควรนอนอยู่ที่บ้านเพราะสายสะดือของทารกในครรภ์อาจถูกกดทับจากภาวะที่น้ำคร่ำน้อยลง หรือเกิดภาวะสายสะดือโผล่แลบ (Umbilical Cord Prolapes) ในกรณีที่ทารกในครรภ์ไม่ได้อยู่ในท่าที่เอาศีรษะลงด้านล่าง (ท่าก้นหรือท่าขวางมีโอกาสเกิดมากขึ้น) หรือถ้าน้ำเดินเป็นเวลานานมากกว่า 18 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำตามมาได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้น ถ้าไม่แน่ใจให้มาตรวจก่อน เพราะแพทย์จะมีวิธีแยกระหว่างภาวะน้ำคร่ำเดินหรือตกขาวที่มากกว่าปกติได้
หลายคนกังวลว่าจะได้เป็นข่าวบนท้องถนนว่าคลอดบนรถมีตำรวจจราจรมาทำคลอดให้เพราะมาโรงพยาบาลไม่ทัน ส่วนใหญ่ที่คลอดก่อนมาถึงโรงพยาบาลมักเป็นการตั้งครรภ์ท้องหลัง ๆ เช่น ท้อง 3 ท้อง 4 ท้อง 5 ที่เคยคลอดเองมาก่อนในกลุ่มท้องแรกหรือท้องที่ 2 โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่คุณหมอมักจะให้สังเกตอาการของการบีบตัวของมดลูกทุกราย ถ้าเริ่มมีอาการมดลูกบีบตัวสม่ำเสมอ ทุก 5-10 นาที อาจร่วมกับการมีมูกเลือดหรือยังไม่มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด จะยังไม่มีอาการปวดท้อง อาจรู้สึกหน่วง ๆ ท้อง หัวหน่าว อวัยวะเพศหรือก้นกบ ถ้าปากมดลูกขยับไปเปิดเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 เซนติเมตร หรือที่เรียกว่าระยะ Active Phase อาจเริ่มมีอาการปวดให้เห็นเวลามดลูกมีการบีบตัว
ในท้องแรกใช้เวลาในการเปิดขยายของปากมดลูก 1.2 เซนติเมตรต่อชั่วโมงในท้องแรก และ 1.5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงในท้องหลัง ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีก 3-4 ชั่วโมงกว่าปากมดลูกจะเปิดหมดถึงระยะ 10 เซนติเมตร ที่เรียกว่า Fully Dilatation และยังมีเวลาที่ใช้ในการเบ่งคลอด ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น แรงเบ่งแม่ ขนาดอุ้งเชิงกราน ขนาดตัวเด็กและท่าเด็กในครรภ์นั่นเองครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.20 No.236 มิถุนายน 2558