ลำไส้อักเสบในเด็กเล็กส่วนมากเกิดจากการติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่ง โดยการสัมผัส ผ่านทางการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งเชื้อที่ปนเปื้อนมานั้น ได้แก่ เชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือ โรต้าไวรัส โนโรไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือเชื้อซัลโมแนลลาอีโคไล เชื้อโปรโตชัว หรือพยาธิบางชนิด หากได้รับการติดเชื้อจะมีอาการเป็นไข้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
1. คลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย หากมีภาวะขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกคลอด หรือภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ ก็อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบได้
2. ให้นมเยอะเกินไป โดยเฉพาะคุณแม่ที่ให้นมผสม เช่น การให้น้ำนมเยอะเกินไป เพิ่มปริมาณน้ำนมเร็วไป หรือให้นมในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทารกมักมาพบคุณหมอด้วยอาการอาเจียนค่ะ
3. ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง เด็กที่มีภาวะร่างกายปกติ สุขภาพแข็งแรงดี มีความเสี่ยงน้อยกว่าเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยค่ะ เช่น มีโรคประจำตัว เป็นภูมิแพ้ เป็นโรคหัวใจ ซึ่งนอกจากจะมีโอกาสที่ได้รับเชื้อสูงกว่าแล้ว หากเป็นโรคนี้ก็มักจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กที่มีภูมิต้านทานดี
ความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ได้รับ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนถึงความรุนแรง เพื่อรีบพาเจ้าตัวเล็กไปพบคุณหมอได้ทันท่วงที ดังนี้ค่ะ
1. อุจจาระผิดปกติ อาการของลูกอาจเริ่มต้นที่กินนมได้น้อยลง อาเจียนหรือแหวะนมบ่อย ๆ ที่สำคัญหากคุณแม่สังเกตเห็นว่าอุจจาระของลูกผิดปกติไปจากเดิมมากกว่า 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นลิ่มเลือดแม้แต่ครั้งเดียว ก็ถือว่าผิดปกติแล้วค่ะ ทั้งนี้ลูกอาจมีอาการไข้ ตัวร้อนร่วมด้วย ให้คุณแม่รีบพาไปโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างอุจจาระใส่ภาชนะที่ไม่ดูดซึม แต่จะต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพราะหากนานกว่านั้นอาจจะจะแห้ง ซึ่งคุณหมอจะไม่สามารถตรวจได้
2. ลูกมีภาวะขาดน้ำหรือไม่ หากลูกถ่ายเหลว หรือท้องเสียติดต่อกัน อาจมีการขาดน้ำ และเกลือแร่จนเกิดภาวะช็อกได้ คุณแม่สามารถสังเกตได้จากการที่ลูกมีน้ำลายแห้ง ริมฝีปากแห้ง น้ำตาแห้ง ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม อยากกินน้ำบ่อย ฉี่มีสีเข้ม ออกมาปริมาณน้อย หรือไม่ฉี่เลย ซึ่งหากลูกไม่ฉี่นานเกิน 6 ชั่วโมง แสดงว่ามีอาการขาดน้ำรุนแรง และอาจช็อกได้ ให้รีบไปพบคุณหมอโดยเร็ว
3. สังเกตอาการอื่น นอกจากการสังเกตอุจจาระลูกเป็นสำคัญแล้ว หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อย เช่น มีไข้ มีภาวะตัวเย็นร่วมด้วย (อุณหภูมิที่ถือว่าไม่มีไข้ คือไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส หรือหากพบว่าภาวะตัวเย็นจะวัดได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส)
นอกจากนี้ควรสังเกตอาการโดยทั่วไปของลูกด้วยว่าผิดไปจากปกติหรือไม่ เช่น ซึม ร้องกวน ไม่ยอมดูดนม ไม่เล่น ก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าลูกมีภาวะการติดเชื้อที่จะเริ่มรุนแรงแล้ว ให้รีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วก่อนที่อาการจะรุนแรง
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคค่ะ โดยคุณหมอจะตรวจอุจาระ และมีการเอ็กซ์เรย์ช่องท้องเพื่อเจาะเลือดตรวจดูการติดเชื้อในเบื้องต้น หากพบว่ามีการติดเชื้อลำไส้อักเสบรุนแรง ก็จะให้งดนมในช่วงระยะเวลา 3-5 วัน ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียคุณหมอจะเริ่มให้ยาปฏิชีวนะทางสายน้ำเกลือ ยิ่งลูกน้อยได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ดีมากเท่านั้นค่ะ
โดยคุณแม่สามารถป้องกันลูกจากโรคลำไส้อักเสบรุนแรงได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ต่อไปนี้ค่ะ
1. นมแม่วัคซีนชั้นดี นมแม่เป็นวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ดี เพราะหากลูกน้อยได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้เยื่อบุลำไส้ ทั้งยังสะอาดและปลอดภัย
2. ขวดนมต้องสะอาดและปลอดเชื้อโรค ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องปั๊มนม ก็ควรดูแลทำความสะอาดขวดนม และอุปกรณ์ที่ใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อลูกดื่มนมหมดขวด ให้ล้างน้ำก่อนเพื่อทำความสะอาดคราบตะกอนนมติดค้าง เพราะหากทิ้งไว้ล้างทีหลัง คราบนี้อาจล้างไม่ออก จนเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ และควรปิดฝาขวดนมทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้
3.ใส่ใจความสะอาดของอาหารและสิ่งแวดล้อม เรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ลูกอยู่ที่สำคัญไม่แพ้กันค่ะ คุณแม่และคนอื่น ๆ ในครอบครัวควรหมั่นช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ข้าวของต่าง ๆ ที่ลูกสามารถหยิบจับได้ รวมทั้งต้องเป็นตัวอย่างของการมีสุขอนามัยที่ดีกับลูกด้วยนะคะ เช่น ไม่หยิบอาหารเข้าปาก โดยไม่ล้างมือ ที่สำคัญคือต้องกินอาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาว
การใส่ใจดูแลลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยป้องกันเจ้าตัวน้อยจากโรคภัยต่าง ๆ แล้ว ยังถือเป็นการสร้างภุมิคุ้มกันชีวิตที่แข็งแกร่งจนกระทั่งเขาโตเป็นผู้ใหญ่อีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารรักลูก