เด็กแพ้อาหาร อาการที่พบบ่อยในเด็กวัยกำลังกินกำลังนอนในปัจจุบัน อาการแพ้อาหารเป็นอย่างไร มีวิธีสังเกตและรับมืออย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ พร้อมลิสต์อาหารเสี่ยงแพ้ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังมาฝาก
ทำไมลูกแพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารพบได้บ่อยถึง 10% ในเด็ก โดยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- เผ่าพันธุ์ โดยคนผิวดำที่ไม่ใช่คนเอเชียและเป็นเพศชาย มีความเสี่ยงสูงในการเกิดการแพ้อาหาร
- กรรมพันธุ์ หากในครอบครัวมีสมาชิกที่เป็นโรคภูมิแพ้ 1 คน ความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหารในเด็กจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว
- การขาดวิตามินดี เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแพ้อาหาร
- การรับประทานอาหารซ้ำ ๆ แบบเดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้ลูกเกิดความเสี่ยงในการแพ้อาหารได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่หลากหลายตั้งแต่ยังเป็นทารก เพื่อป้องกันอาการแพ้อาหาร
ลูกแพ้อาหาร อันตรายหรือไม่
ความรุนแรงของอาการแพ้อาหารในเด็กมีตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และรุนแรง โดยอาการที่รุนแรงที่สุด คือ การเกิดปฏิกิริยาเฉียบพลันต่อระบบของอวัยวะในร่างกายที่สำคัญตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป ซึ่งร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้
สังเกตอย่างไรว่าลูกแพ้อาหาร
อาการแพ้เกิดขึ้นได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าตัวเล็กจะมีอาการอย่างไร โดยแบ่งการแสดงอาการแพ้ได้เป็น 4 ทางใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
- ระบบทางเดินอาหาร อาการแพ้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย คันในช่องปาก มีอาการบวมของริมฝีปาก ลิ้น หรือเพดานปาก คันหรือแน่นในคอ
- ระบบผิวหนังและดวงตา อาการที่พบบ่อย คือ มีผื่นคัน ตุ่มแดง ลมพิษ บริเวณผิวหนังหรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย คันตา น้ำตาไหล ตาแดง อาการบวมรอบตา
- ระบบทางเดินหายใจ อาการที่พบ คือ แน่นจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันในจมูก คอแห้ง หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หอบ กล่องเสียงบวม มักพบร่วมกับอาการทางระบบทางเดินอาหารหรือผิวหนัง
- หัวใจและหลอดเลือด อาการที่พบ คือ หัวใจเต้นเร็ว มึนงง สลบหรือเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ
ในรายที่แพ้รุนแรง ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาอะดรีนาลิน (Adrenaline) ให้เร็วที่สุด แต่หากมีอาการไม่มาก แพทย์จะแนะนำให้กินยาแก้แพ้ได้ ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกรับประทานอาหารชนิดที่แพ้
แต่ถ้าอยากรู้ว่าลูกแพ้อาหารอะไรบ้าง สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบด้วยวิธีสะกิดผิว (Skin Prick Test) การเจาะเลือดเพื่อวัดระดับการแพ้ที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้น ๆ (Specific IgE) และการทำ Oral Food Challenge Test ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและฉับพลัน โดยแพทย์จะให้เด็กรับประทานอาหารที่สงสัยว่าอาจจะแพ้ ด้วยชนิดและปริมาณที่เหมาะสม ค่อย ๆ ให้เด็กกินในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงจะทราบแน่ชัดว่าเด็กแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ หรือไม่
อาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้
มีอาหารหลายอย่างที่เด็ก ๆ มักจะเกิดอาการแพ้กัน ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตการแพ้ได้ด้วยการลองให้อาหารเหล่านั้นทีละน้อยแล้วสังเกตอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้น หากมีอาการที่เริ่มส่งสัญญาณ เช่น อาเจียน ปวดท้อง ปากบวมเจ่อ มีผื่นคัน จาม คันในจมูก หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หอบ ฯลฯ ให้รีบหยุดอาหารนั้นทันที เพราะถ้าลูกรับไปมาก ๆ อาจเกิดการแพ้รุนแรง ผื่นขึ้นเต็มตัว ไข้ขึ้น หายใจไม่ออกและเกิดอันตรายได้
Top 5 อาหารที่เด็ก ๆ มักเสี่ยงแพ้
1. นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว
ชีส โยเกิร์ต ครีม เป็นอาหารกลุ่มต้น ๆ ที่เด็กจะเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งการแพ้อาจมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือพันธุกรรม และการแพ้โปรตีนเวย์ เคซีน และ B-Lactoglobulin ซึ่งเป็นการแพ้โปรตีนนมวัว หรือที่เรียกว่า Cow Milk Protein Allergy
เมนูทดแทน : นมแม่ นมถั่วเหลือง หรือนมไก่ โปรตีนในนมทางเลือกเหล่านี้ จะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่านมวัว แต่มีสารอาหารใกล้เคียงกันจึงสามารถใช้ทดแทนกันได้
2. ถั่วต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสง ถั่วเหลือง หรืออาหารที่ทำมาจากถั่วต่าง ๆ เช่น ซีอิ๊ว เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เนยถั่ว เค้ก คุกกี้ที่ใส่ถั่ว นอกจากอาจจะแพ้เพราะพันธุกรรมแล้ว สารไกลโคโปรตีนในถั่วก็เป็นสาเหตุสำคัญ หรืออาจเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เมล็ดถั่วเก็บสะสมไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วเอง รวมทั้งอาจเกิดจากการกินอาหารของแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูก เช่น กินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษก็ได้
เมนูทดแทน : โปรตีนจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อปลา ไก่ แพะ แกะ หมู เนื้อวัว รวมถึงนม
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารทะเลคือ โปรตีน Parvalbmins และ Gad c1 ซึ่งมีอยู่ในเนื้อปลาทะเลทุกชนิด ส่วนโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง ประเภทกุ้งและหอย คือ Tropomyosin
เมนูทดแทน : โปรตีนอื่น เช่น หมู ไก่ สาหร่าย ถั่วเหลือง รวมทั้งปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาทับทิม ฯลฯ ซึ่งมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายคล้ายกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ทะเล
4. ไข่
ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะแพ้เฉพาะไข่ขาว แต่เด็กบางคนอาจแพ้ไข่แดงได้ด้วย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแพ้คือ โปรตีนที่อยู่ในไข่ขาวที่ชื่อ Ovomucoid, Ovalbumin และ Ovotransternin ดังนั้น การให้อาหารเสริมช่วง 6 เดือนจึงควรเริ่มด้วยไข่แดงก่อน
เมนูทดแทน : โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา แพะ แกะ นม
กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบมากในอาหารที่ทำจากแป้งสาลี เช่น เค้ก ขนมปังต่าง ๆ รวมทั้งธัญพืช โดยเฉพาะที่นิยมกินเป็นอาหารเช้า เช่น ซีเรียล ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ต นอกจากนี้กลูเตนยังมีมากในเนื้อสัตว์เทียมที่ทำจากแป้งสาลี ดังนั้น ควรอ่านฉลากโภชนาการอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้ออาหารให้ลูก เพราะอาหารบางอย่างดูจากภายนอกอาจไม่รู้ส่วนผสมที่แท้จริงว่ามีอะไรบ้าง
เมนูทดแทน : อาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ซึ่งไม่มีโปรตีนกลูเตน ทำให้ลูกไม่แพ้แต่ยังได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน
นี่คืออาหารที่เจ้าตัวเล็กมักเกิดอาการแพ้ หากจะเริ่มด้วยเมนูเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรระวังและเฝ้าสังเกตอาการลูกเป็นพิเศษด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : pharmacy.mahidol.ac.th, phyathai.com, hopkinsmedicine.org, healthline.com