ไส้ติ่งอักเสบในเด็ก...ภัยเงียบที่ต้องระวัง (รักลูก)
เรื่อง : วรกร เรียบเรียงการสัมภาษณ์ ผศ.พญ.ปานิยา เพียรวิจิตร กุมารแพทย์ด้านทางเดินอาหาร ภาพ อุทัย ใยย้อย
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากเวลาที่เด็กเล็ก ๆ ไม่สบาย ก็คือการที่เขาไม่สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร เจ็บ หรือปวดตรงไหนค่ะ
ยิ่งถ้าเป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะยิ่งอันตราย เพราะกว่าที่จะรู้ว่าเป็นโรคอะไร อาการของหนูน้อยก็อาจจะรุนแรงจนยากที่จะรักษา อย่างเช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ ที่เด็กจะแสดงอาการต่างจากผู้ใหญ่ และอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่น ๆ ได้ค่ะ
รู้จักไส้ติ่ง
ไส้ติ่งเป็นเนื้อเยื่อเล็ก ๆ ที่ปลายลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ข้างในจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่ คนเรามีไส้ติ่งมาตั้งแต่แรกเกิด และขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จนมาหยุดอยู่ที่ 5-10 เซนติเมตร โดยปกติเวลาที่ต้องผ่าตัดช่องท้อง คุณหมอจะตัดเอาไส้ติ่งออกให้ด้วย เพราะเป็นอวัยวะที่ไม่ได้ทำหน้าที่อะไร และเพื่อป้องกันการสับสนระหว่างไส้ติ่งอักเสบกับปวดท้องจากพังผืดบริเวณแผลผ่าตัดนั่นเองค่ะ
ไส้ติ่งอักเสบเพราะ...
อาการไส้ติ่งอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เกิดจากการอุดตันและมีเชื้อโรคมาสะสมภายในไส้ติ่ง โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัย 2 ประเภทนี้ค่ะ
ปัจจัยภายใน เกิดจากเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองในไส้ติ่งขยายใหญ่ขึ้น เช่น เวลาที่ติดเชื้อไวรัสหรือเป็นหวัด หรือก้อนแคลเซียมในร่างกายตกเข้าไป จนอุดตัน มีเชื้อโรคมาสะสม และอักเสบขึ้น
ปัจจัยภายนอก คือการที่มีอาหารแข็ง ๆ เข้าไปอุดตันไส้ติ่งเกิดการสะสมของเชื้อโรคจนอักเสบ แต่กรณีนี้โอกาสเกิดมีน้อยค่ะ
โรคไส้ติ่งอักเสบในเด็กที่พบบ่อยจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 7-8 ขวบค่ะ แต่ที่จริงเกิดกับเด็กได้ตั้งแต่เล็ก ๆ เลย และยิ่งเล็กก็ยิ่งรู้ยาก เพราะบางทีอาการจะไปเลียนแบบโรคอื่น ๆ ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจผิด ที่สำคัญเด็กมีโอกาสที่จะไส้ติ่งแตกมากกว่าผู้ใหญ่ค่ะ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ขวบ เพราะกว่าจะรู้ไส้ติ่งก็แตกแล้ว หลังจากนั้นเชื้อโรคจะกระจายในช่องท้อง ทำให้อาการหนักและรักษายากขึ้นไปอีก ซึ่งเด็กมีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ถ้าให้ยาฆ่าเชื้อทันเวลาเด็กก็จะปลอดภัยค่ะ
ไส้ติ่งอักเสบ...สังเกตอย่างไร
อาการปวดท้องแบบฉุกเฉินในเด็กส่วนมากมักเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่แล้วเด็กจะมีอาการต่างกันค่ะ คือไม่ได้ปวดท้อง อาเจียน และเบื่ออาหารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งอาจจะแค่บ่นปวดแถว ๆ กลางท้องหรือท้องน้อยด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของไส้ติ่ง เด็กอาจอาเจียนหรือไม่อาเจียนก็ได้ แต่จะไม่ยอมกิน หรือบางคนอาจจะถ่ายเหลวทำให้เข้าใจว่าท้องเสียธรรมดา บางทีไข้ก็สูง ในขณะที่ผู้ใหญ่จะมีไข้ค่อนข้างชัดเจนค่ะ
สถิติไส้ติ่งอักเสบในเด็ก
คนที่อายุยังน้อยหรือเด็กเล็กมีโอกาสที่ไส้ติ่งจะอักเสบได้มากกว่าผู้ใหญ่ อาจเป็นเพราะไส้ติ่งมีขนาดเล็ก พอบวมเพียงนิดเดียวหรือมีเศษแคลเซียมเล็ก ๆ หลุดเข้าไป จึงอุดตันได้ง่ายกว่า
สถิติในสหรัฐอเมริกา อัตราการเกิดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ปี คือ 1-2 ราย ต่อเด็ก 10,000 คนต่อปี
นอกจากนี้ยังพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า
ส่วนอัตราการเสียชีวิตมีน้อยมาก เพียง 0.1-1%
ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าเด็กอาจไส้ติ่งอักเสบ คุณหมอจะส่องตรวจอัลตราซาวด์ทันทีโดยที่ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร บางทีอาจมีลมในลำไส้มาบังทำให้หาไส้ติ่งไม่เจอ ซึ่งก็ต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้แน่ใจว่าใช่ไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการรักษาค่ะ
ส่วนในเด็กเล็ก ๆ ที่ยังพูดไม่ได้นั้น อาการของไส้ติ่งอักเสบจะสังเกตค่อนข้างยาก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด และแม้ว่าบางทีโรคไส้ติ่งอักเสบจะมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ แต่ยังมีจุดแตกต่างให้สังเกตได้ค่ะ
1. ไม่กินนมหรืออาหาร เด็กบางคนร้องกวนผิดปกติ เนื่องจากไม่สบายท้อง
2. บางคนอาจถ่ายเหลว โดยไม่ทราบสาเหตุ
3. เด็กที่กำลังเดินเตาะแตะจะไม่ยอมเดิน เพราะเดินแล้วเจ็บ
4. ถ้าคลำท้องบริเวณด้านขวาล่างที่เป็นตำแหน่งของไส้ติ่งแล้วลูกเกร็งต้าน แสดงว่าเขารู้สึกเจ็บ
5. บางครั้งอาจปวดท้องจนตัวงอ โดยจะปวดมวนท้องอยู่ตลอดเวลา
6. อาการปวดมวนท้องไม่ลดลงแม้ว่าจะอาเจียนหรือถ่ายออกไปแล้ว ซึ่งต่างจากโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
7. ถ้ามีไข้ด้วยจะค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบค่ะ
ผ่าตัด...ทางเดียวในการรักษา
พอรู้ว่าหนูน้อยเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบแน่นอน การรักษามีทางเดียวคือต้องผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกเท่านั้นค่ะ แต่จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือไส้ติ่งไม่แตก และไส้ติ่งแตก
ไส้ติ่งไม่แตก
ถ้าหนูน้อยไส้ติ่งอักเสบเฉย ๆ แต่ยังไม่แตก คุณหมอซึ่งเป็นศัลยแพทย์สำหรับเด็กโดยเฉพาะจะผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก โดยเป็นการผ่าตัดที่แผลไม่ใหญ่ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยิ่งถ้าใช้วิธีผ่าแบบส่องกล้องแผลก็จะยิ่งเล็ก เด็กอายุเกิน 10 ขวบ ที่ร่างกายโตพอสมควรสามารถรับการผ่าตัดจากหมอผู้ใหญ่ได้ค่ะ
สำหรับการดูแลลูกน้อยหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ทำได้โดยให้เขากินอาหารอ่อน ๆ สัก 1 สัปดาห์ เพื่อให้ลำไส้สมานกันดีก่อน หลังจากนั้นก็สามารถกินอาหารได้ตามปกติค่ะ
โรคที่เกิดในเด็กเล็กนั้นมักจะมีความอันตรายมากกว่าโรคที่เกิดในผู้ใหญ่ เพราะเด็กยังภูมิต้านทานน้อยและยังไม่สามารถบ่งบอกอาการเป็นคำพูดได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตให้มากในทุก ๆ อาการของลูกนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 373 กุมภาพันธ์ 2557