มาเคลียร์น้ำมูก ให้ลูกเล็กกันเถอะ

น้ำมูก

เคลียร์น้ำมูกให้ลูกเล็ก
(modernmom)
เรื่อง : อาคิรา ภาพ : ธาร ธงไชย

           ช่วงที่ลูกเล็กเป็นหวัด ตัวการสำคัญที่ส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจทำงานไม่สะดวก คือ น้ำมูก ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ก็พอที่จะสั่งออกมาให้รู้แล้วรู้รอดไป แต่เด็กเล็กเขายังสั่งน้ำมูกเองไม่เป็นนะคะ คุณแม่จึงต้องอาศัยตัวช่วยเคลียร์น้ำมูกกันหน่อย

น้ำมูกมาจากไหน

           น้ำมูกเกิดจากสารคัดหลั่งที่อยู่ในจมูกของเรา ซึ่งจะหลั่งออกมาเพื่อนให้ความชุ่มชื้นกับรูจมูก โดยปกติแล้วน้ำมูกจะมีสีใส ๆ และปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งที่มาระคายเคือง เช่น สมมติว่ามีการระคายเคืองมากยิ่งในช่วงเวลาเป็นหวัด จะมีการหลั่งสารเหล่านี้ออกมามาก ซึ่งปกติแล้วสีน้ำมูกจะมีสีใส แต่ในกรณีที่ในรูจมูกมีสิ่งระคายเคืองเข้าไป หรือเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค และเมื่อเม็ดเลือดขาวตายลง สีของน้ำมูกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเหลืองปนเขียว หรือสีเขียว หรือสีน้ำตาลนั่นเอง

เคลียร์น้ำมูก

          ดูดด้วยลูกยาง ล้างด้วยน้ำเกลือ

       อุปกรณ์ น้ำเกลือ ที่ดูดลูกยางขนาดเล็ก ไซริงค์ขนาดเล็ก

How to

           จับลูกนอนในท่าหงาย ชันคอขึ้นมาให้สูงนิดหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสำลักระหว่างดูดน้ำมูก นำไซริงค์ดูดน้ำเกลือขึ้นมา 2-3 หยด แล้วค่อย ๆ หยอดลงในรูจมูกข้างละ 3-5 หยด รอให้น้ำเกลือชะล้างความเหนียวสักระยะ แล้วบีบลมที่ลูกยางออก และใส่เข้าไปในรูจมูกลูก และปล่อยให้แรงลมจากลูกยางดูดน้ำมูกออกมา จากนั้นนำลูกยางดูดน้ำในอ่าง บีบลมเข้าออกจนสะอาด แล้วทำซ้ำอีกครั้ง จากนั้นก็ย้ายกลับมาทำอีกข้าง

Concern

           ก่อนที่จะทำการดูดน้ำมูกลูกด้วยวิธีนี้ ควรนำผ้ามาห่อตัวลูกไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกดิ้นจนนำมือมาปัดอุปกรณ์ขณะทำการดูด ในกรณีที่ไม่ชำนาญควรหาคนมาช่วยคุณแม่สักคนจะเป็นการดีมากค่ะ

           ไม่ควรหยอดน้ำเกลือทิ้งไว้นานโดยไม่เช็ดน้ำมูกหรือใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออก เพราะน้ำมูกที่แห้งจะพองตัวและอุดรูจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวกมากขึ้นไปอีก

จัดการสำลีพันไม้

           อุปกรณ์ สำลีพันไม้ขนาดเล็ก น้ำเกลือ

How to

           วิธีนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำมูกไม่มาก หรือเป็นหวัดในช่วงเริ่มต้น คุณแม่สามารถนำสำลีพันปลายไม้หรือคัตตอนบัด ชุบลงในน้ำเกลือ แล้วแหย่เข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเช็ดขี้มูกที่เป็นก้อน หรือน้ำมูกบางส่วนออกมา

Concern

           ควรใช้สำลีพันไม้ขนาดเล็ก และควรเปลี่ยนทุกครั้งที่มีการใช้เช็ดน้ำมูกไปแล้ว รวมถึงระวังไม่ควรแหย่เข้าไปลึกจนเกินไป เพราะหากลูกน้อยมีการดิ้น อาจทำให้คุณแม่ควบคุมมือยาก ซึ่งเสี่ยงต่อการแทงเข้าไปถึงเยื่อบุโพรงจมูกของลูกได้ อาจจะทำตอนที่ลูกหลับนะคะ แล้วควรทำอย่างเบามือด้วยค่ะ

ดูดด้วยอุปกรณ์

           วิธีนี้ช่วยเบาแรงของคุณแม่ได้ดีค่ะ โดยปัจจุบันมีการผลิตอุปกรณ์สำหรับการดูดน้ำมูกโดยอัตโนมัติ และแบบพ่นน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูก ซึ่งน้ำมูกก็จะค่อย ๆ ไหลออกมาเอง เช่น

เครื่องดูดน้ำมูกชนิดสายยาง

How to

           การใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ในการดูดน้ำมูกให้เด็กนั้น ต้องอาศัยช่วงจังหวะที่สัมพันธ์กันทั้งคุณแม่และคุณลูก โดยคุณแม่ต้องนำขวดที่ติดมากับที่ดูดมารองไว้ที่รูจมูกลูกก่อน ขณะเดียวกันให้คุณแม่ออกแรงดูดเบา ๆ ที่ปลายของสายยางที่ติดกับขวด จึงจะทำให้น้ำมูกไหลออกมา ซึ่งน้ำมูกทั้งหมดจะถูกดูดออกมาแยกเก็บใส่ขวด ง่ายต่อการมองเห็น และทำความสะอาดโดยไม่ไหลย้อนกลับไปในสายยางอีกด้วย

เครื่องดูดน้ำมูกอัตโนมัติ

How to

           อุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณแม่ได้มากเลยค่ะ เพราะเจ้าตัวเครื่องถูกออกแบบมาให้ใช้งานแบบอัตโนมัติ เพียงแค่คุณแม่นำเครื่องไปจ่อไว้ที่รูจมูกลูก และกดปุ่มทำงาน ภายในไม่กี่วินาทีเครื่องจะทำการดูดน้ำมูกออกมาไว้ในลูกโป่งที่มีไว้สำหรับเก็บน้ำมูก ด้วยแรงดูดที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายกับโพรงจมูกลูกอีกด้วย

Concern

           ในกรณีที่น้ำมูกแห้งจนกลายเป็นก้อนแข็ง ให้หยดน้ำเกลือลงไปในรูจมูกทั้ง 2 ข้างแล้วจึงใช้เครื่องดูดน้ำมูกออกมา ซึ่งเครื่องมือทุกชนิดจำเป็นต้องใช้คู่กับน้ำเกลือเท่านั้น

ดูดด้วยปากคุณแม่

How to

           วิธีโบราณที่ถือว่ายังใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยจริง ๆ คือการใช้ปากดูดน้ำมูกออกจากรูจมูกของลูกทีละข้าง คล้าย ๆ กับการจุ๊บแรง ๆ ซึ่งคุณแม่สามารถควบคุมความแรงได้ด้วยตนเอง แล้วจึงบ้วนน้ำมูกที่ออกมาทิ้งไป

Concern

           ควรทำความสะอาดช่องปากของคุณแม่ให้ดี เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ค่ะ

ดูดน้ำมูกอย่างปลอดภัย

           ไม่แนะนำให้คุณแม่ใช้นิ้วตนเองแคะเข้าไปในโพรงจมูกของลูก เพราะนอกจากนิ้วคุณแม่จะใหญ่กว่ารูจมูกของลูกแล้ว นิ้วยังมีเล็บคมและอาจมีสิ่งสกปรกแฝงอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกมากค่ะ

       ล้างมือทุกครั้งก่อนดูดหรือล้างจมูกให้ลูก

       หลังกินนมเสร็จใหม่ ๆ ไม่ควรดูดหรือล้างน้ำมูก เพราะอาจทำให้เด็กอาเจียนหรือสำลัก

       หากอาเจียนหรือสำลักขณะที่ดูด ให้จับเด็กนอนคว่ำ ศีรษะต่ำ ตบหลังเบา ๆ เพื่อให้สิ่งที่อาเจียนออกมาไม่สำลักเข้าปอด

       น้ำเกลือที่ใช้ควรเป็นน้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกโดยเฉพาะ ไม่ควรนำเกลือมาผสมกับน้ำค่ะ และควรเทน้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้ หากใช้ไม่หมดไม่ควรนำเทกลับลงในขวดตัดใจทิ้งจะดีกว่าค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.18 No.206 ธันวาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาเคลียร์น้ำมูก ให้ลูกเล็กกันเถอะ อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2558 เวลา 16:45:40 78,331 อ่าน
TOP
x close