กลิ่นปากกลิ่นลมหายใจ...สัญญาณบอกโรค

ฟันผุ - กลิ่นปากเด็ก

กลิ่นปากกลิ่นลมหายใจ...สัญญาณบอกโรค
(รักลูก)
โดย: ก้านแก้ว

          คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่ากลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจ เป็นสัญญาณบอกโรคอะไรบ้าง ที่อาจเกิดกับลูกน้อย

          ก. โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ

          ข. โรคต่อมทอนซิลอักเสบ

          ค. โรคไซนัสอักเสบ

          ง. ถูกทุกข้อ

          คำเฉลย ข้อ ง. ถูกทุกข้อ

          กลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจจะเป็นสัญญาณเตือนทั้ง 3 โรคดังกล่าวได้อย่างไร เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

3 โรคที่มาพร้อมกลิ่น!

           1. โรคฟันผุและเหงือกอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจากการสะสมของเศษอาหาร จนทำให้ฟันผุและเกิดกลิ่นปากได้

           2. โรคต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากต่อมทอนซิลมีอาการบวมแดง หรืออาจมีเยื่อขาวๆ ปกคลุม ในบางคนต่อมทอนซิลอาจมีร่องหลืบทำให้เศษอาหารไปติด จนเกิดเป็นกลิ่นปาก

           3. โรคไซนัสอักเสบ ที่เกิดจากอาการภูมิแพ้ ทำให้มีน้ำมูก ซึ่งหากช่องจมูกอุดตันแล้วน้ำมูกไม่สามารถไหลมาทางจมูกด้านหน้าได้ น้ำมูกก็จะไหลย้อนกลับเข้าไปขังในโพรงไซนัส ทำให้ไซนัสอักเสบ ซึ่งโพรงไซนัสจะอยู่ติดกับช่องคอด้านหลัง น้ำมูกที่ไหลมาทางช่องคอก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจที่เหม็น

อาการร่วมนอกจากกลิ่นปาก

          นอกจากกลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจที่เหม็นจะเป็นสัญญาณเตือนโรคแล้ว จะต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วม เช่น

          หากลูกเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ จะมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ กลืนอาหารแล้วติดขัด กลืนลำบาก และหากเป็นต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการไข้ร่วมด้วย

          หากลูกเป็นไซนัสอักเสบ จะมีอาการไอตอนกลางคืน เพราะน้ำมูกที่ไหลลงมาด้านหลังคอ (Post nasal drip syndrome) จะไหลลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อเด็กนอนน้ำมูกก็จะไหลลงมา ซึ่งบริเวณนั้นจะมีเส้นประสาทที่กระตุ้นอาการไอ และหากเด็กๆ อ้าปากจะมองเห็นเป็นน้ำมูกสีเหลืองๆ เขียวๆ ด้านหลังลิ้นไก่

          หากลูกมีกลิ่นปากอย่างเดียว ไม่มีอาการร่วมดังกล่าว น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ควรหันมาใส่ใจโรคในช่องปากของลูก เช่น โรคฟันผุหรือเหงือกอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจฟันกับทันตแพทย์เด็กค่ะ

ระวัง! โรคปอดที่ร้ายแรง

          เด็ก ๆ ที่เป็นโรคหลอดลมโป่งพอง (Bronchiectasis) ซึ่งมักจะเกิดตามหลังการติดเชื้อในปอด ที่พบได้บ่อยคือวัณโรค ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีหนองขังอยู่ในปอด เวลาไอออกมาจะมีเสมหะที่มีกลิ่นคาวเหม็น และยังมีโรคปอดเรื้อรัง (Cystic fibrosis หรือ CF) และโรคฝีในปอด (Lung abscess)

          โดยทั้ง 3 โรคนี้ เป็นโรคเรื้อรังที่ใช้ระยะเวลายาวนานเป็นเดือนๆ กว่าจะมีกลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจเหม็นออกมาค่ะ

ดูแลรักษาเมื่อมีสัญญาณเตือนโรค

          สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเมื่อลูกมีกลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจ ไม่ว่าจะเกิดจากโรคใดก็ตาม คือการดูแลสุขภาพในช่องปากให้สะอาด เพราะช่องปากและช่องจมูกเป็นทางผ่านของเชื้อโรค

โดยการดูแลรักษาโรค ควรทำดังนี้

          ในเด็กเล็กที่ฟันยังไม่ขึ้น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณรอบๆ เหงือกและลิ้นหลังมื้อนม ส่วนเด็กที่ฟันขึ้นแล้วควรแปรงฟันให้สะอาด หากมีฟันผุควรรับการรักษา และควรใช้น้ำเกลือ 0.9% ที่เป็นน้ำเกลือทางการแพทย์บ้วนปากด้วยค่ะ

          ไซนัสอักเสบ จะมีน้ำมูกสะสมที่จมูกเป็นจำนวนมาก ควรใช้น้ำเกลือ 0.9% ที่เป็นน้ำเกลือทางการแพทย์ล้างช่องจมูก ห้ามใช้น้ำเปล่าหรือน้ำประปาล้าง เพราะสารประกอบต่างๆ ในน้ำประปาอาจทำให้จมูกบวมยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีล้างจมูกควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องร่วมไปกับการกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค และในเด็กบางคนคุณหมออาจให้ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเพื่อลดการอักเสบ

          ต่อมทอนซิลอักเสบ เด็กจะมีอาการเจ็บคอและมีไข้ ควรพาไปพบคุณหมออย่างรวดเร็ว โดยคุณหมอจะให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดตัวให้ลูก พยายามให้ลูกดื่มน้ำมากๆ และกินอาหารอ่อนๆ และควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อชะล้างเชื้อโรคบริเวณต่อมทอนซิล

          หากเกิดจากสาเหตุเฉพาะ เช่น โรคปอด มีฝีในปอด จะต้องมีการทำกายภาพบำบัดทรวงอก เคาะปอด ดูดเสมหะ โดยคุณหมอจะแนะนำวิธีการให้ เพราะโรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องกลับไปดูแลลูกที่บ้านด้วย

อาหารเพิ่มกลิ่นปาก

          ข้อมูลจากวารสารในต่างประเทศ พบว่า อาหารที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้นั้น คือหัวหอมและกระเทียม ซึ่งในอาหารไทยก็จะพบว่ามี 2 อย่างนี้เป็นส่วนผสม ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย แต่เป็นกลิ่นปากที่ไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนโรค

สิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก

          ถ้าลูกมีกลิ่นลมหายใจและน้ำมูกเรื้อรังจากรูจมูกเพียงข้างเดียว อาจเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมค้างคาในรูจมูกได้ เช่น เมล็ดผลไม้ ของเล่นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ควรพาไปตรวจกับแพทย์แต่เนิ่นๆ ก่อนจะมีการอักเสบลุกลามหรือติดเชื้อแทรกซ้อนได้ค่ะ

          หมั่นสังเกตสุขภาพ และอย่าลืมใส่ใจกับกลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจของลูกนะคะ เพราะหากพบเจอโรคได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อการดูแลสุขภาพของลูกมากขึ้นค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลิ่นปากกลิ่นลมหายใจ...สัญญาณบอกโรค อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2558 เวลา 16:56:03 58,569 อ่าน
TOP
x close