วัยทารกมีอายุถึงเท่าไหร่ แต่ละเดือน แต่ละช่วงวัย มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง รวมถึงพัฒนาการทารกจะเป็นยังไง คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มาเรียนรู้กัน
สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้ว การเห็นลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตสมวัยเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด แต่สงสัยกันไหม ว่าวัยทารกมีอายุถึงเท่าไหร่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของวัยทารกมีอะไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะได้สังเกต พร้อมส่งเสริมพัฒนาการทารกให้ดีสมวัย
วัยทารกมีอายุเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่
คำว่า “ทารก” หมายถึงเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ขวบ ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะมีพัฒนาการและทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย การฟัง การมองเห็น การรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่พ่อแม่จะสามารถส่งเสริมพัฒนาการของทารกได้
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของวัยทารก
ที่เคยได้ยินกันมาว่าเด็ก ๆ โตไว นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปีจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- เมื่ออายุประมาณ 5 เดือน น้ำหนักและส่วนสูงจะเพิ่มเป็น 2 เท่า และเมื่ออายุครบ 1 ปี จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักและส่วนสูงช่วงแรกเกิด
- ขนาดศีรษะและสมองของเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือนจะยังมีกระดูกกระโหลกศีรษะไม่เต็ม สมองจะพัฒนาขึ้นประมาณ 50% และเซลล์สมองเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะเต็มแล้วและแข็งแรงขึ้นนั่นเอง
พัฒนาการของทารกในแต่ละเดือน
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะเลี้ยงลูกเหนื่อยจนลืมไปว่าในแต่ละเดือน ทารกมีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีในการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของลูกน้อย
- 1 เดือน - ทารกจะมองหน้า สบตา เอียงหน้าไปมา ซึ่งสามารถเสริมพัฒนาการเขาได้ด้วยการพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ ยิ้ม สบตา เอียงหน้าไปมาช้า ๆ ให้เขามองตาม
- 2 เดือน - ทารกจะเริ่มชันคอในท่าคว่ำ ส่งเสียงอ้อแอ้ ยิ้ม มองตามสิ่งเคลื่อนไหว ให้พ่อแม่พูกคุย ทำเสียงต่าง ๆ หรือร้องเพลงให้ฟัง รวมถึงแขวนพวกโมบายล์ให้เขามองตาม
- 3 เดือน - เริ่มส่งเสียงโต้ตอบได้ ชันคอให้ตรงได้เมื่ออุ้มในท่านั่ง ดังนั้นในช่วงนี้ควรจับเขาอุ้มในท่านั่งบ่อย ๆ พร้อมพูดคุยให้เขาโต้ตอบเยอะ ๆ
- 4 เดือน - จะเริ่มหัวเราะส่งเสียงดัง เริ่มไขว้คว้าสิ่งของ ช่วงนี้พ่อแม่สามารถใช้ของเล่นกับลูกได้ โดยชูของเล่นขึ้นให้เขาคว้า และให้กำลังใจเมื่อเขาทำได้
- 5 เดือน - ทารกจะเริ่มคืบ พลิกตัว ให้จัดพื้นที่นุ่ม ๆ กว้าง ๆ เพื่อให้เขาเคลื่อนไหว เล่นกับเขาโดยการให้คืบไปหาของเล่น
- 6 เดือน - ทารกจะส่งเสียงโต้ตอบ คว้าของมือเดียว และหันหาเสียงเรียกชื่อและเสียงต่าง ๆ ในช่วงนี้ให้เล่นกับเขาโดยการหาของให้จับ เรียกชื่อเขาบ่อย ๆ รวมถึงเริ่มให้เขาเรียนรู้เสียงต่าง ๆ
- 7 เดือน - ในวัยนี้ทารกจะคว้าของ นั่งทรงตัวได้เอง เปลี่ยนสลับมือถือของได้ ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มเขาให้น้อยลง ปล่อยให้นั่งเล่นเอง และเริ่มหาของเล่นที่มีผิวสัมผัสและขนาดแตกต่างกันให้เขาได้เล่น
- 8 เดือน - ทารกจะเริ่มมองตามของตก สังเกตสิ่งของใกล้ตัว ให้เล่นกับเขาด้วยการกลิ้งของให้มองตาม
- 9 เดือน - ช่วงวัยนี้ทารกจะคลาน เล่นตบมือ จ๊ะเอ๋เป็น เข้าใจเสียงคำสั่ง ใช้นิ้วและหัวแม่มือจับของ เป็นช่วงวัยที่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก พ่อแม่ต้องคอยระวังให้ดี ช่วงนี้สามารถเล่นตบมือ จ๊ะเอ๋ แมงมุม ปูไต่ กับเขาได้ และสามารถฝึกให้เขากินของขิ้นเล็ก ๆ นิ่ม ๆ เองได้
- 10 เดือน - เป็นช่วงวัยที่เริ่มเหนี่ยวตัวและเกาะยืน เกาะเดิน รวมถึงส่งเสียงมีความหมาย และอาจจะเรียก พ่อหรือแม่ ได้ในช่วงนี้ ซึ่งพ่อแม่ก็ควรจะหาเวลาฝึกให้เขาได้ลองเดินอย่างเต็มที่ และคุยกับเขาให้มากขึ้น
- 11 เดือน - เป็นวัยเริ่มตั้งไข่ รวมถึงเลียนแบบเสียงพูดและท่าทาง ช่วงนี้ให้ปล่อยเขาให้ลองเดินด้วยตัวเอง แต่ต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่อย่างใกล้ชิด
- 1 ขวบ - ทารกจะก้าวเดินได้เอง 2-3 ก้าว เลียนเสียงพูดและท่าทางได้ รวมถึงพูดคำที่มีความหมายเยอะขึ้น ช่วงนี้เป็นเวลาทองของการสอนคำต่าง ๆ ซึ่งควรเน้นสบตา มองหน้า มองปาก ให้เขาพูดตาม
ทราบช่วงวัย การเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาการของทารกกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมสังเกต และส่งเสริมให้เขามีพัฒนาการที่ดีสมวัยกันนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนนทเวช, โรงพยาบาลกรุงไทย, โรงพยาบาลเปาโล