ทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง คุณแม่มือใหม่อาจจะกังวลเรื่องการขับถ่ายของลูกน้อย ว่าขับถ่ายวันละกี่ครั้งถึงจะเป็นปกติ แล้วแบบไหนถึงจะบ่งบอกว่าลูกป่วย มาหาคำตอบกัน
สุขภาพของเด็กแรกเกิดเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องใส่ใจมาก ๆ เพราะหลายอาการสามารถบ่งบอกว่าทารกป่วยได้ โดยเฉพาะเรื่องการขับถ่าย ที่ต้องสังเกตเป็นพิเศษว่าทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายบ่อยแค่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นอาการปกติ สำหรับใครที่อยากรู้ว่าทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง อาการของลูกปกติหรือเปล่า กระปุกดอทคอมมีคำตอบค่ะ
ปกติแล้วทารกถ่ายวันละกี่ครั้ง
ทารกจะถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อุจจาระนี้มีสีเทาปนดำ เรียกว่า ขี้เทา (meconium) ไม่มีกลิ่น หลังจากนั้นระบบขับถ่ายของทารกจะเป็นไปตามอายุในแต่ละสัปดาห์ ดังนี้
- แรกเกิด - 6 สัปดาห์ - ทารกส่วนใหญ่จะขับถ่ายวันละ 2-5 ครั้ง โดยบางคนจะถ่ายทุกครั้งหลังจากกินนม
- 6 สัปดาห์ - 3 เดือน - ความถี่ของการถ่ายอุจจาระมักจะลดลง ทารกส่วนใหญ่จะขับถ่ายเพียงวันละครั้ง หรือในบางรายอาจจะสัปดาห์ละครั้งก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนักถ้าน้ำหนักตัวปกติตามเกณฑ์ รวมถึงไม่มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วม ที่สำคัญคือทารกที่กินนมผสมจะขับถ่ายยากกว่าทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว
ทำไมต้องสังเกตการขับถ่ายของลูก
ประการแรก การขับถ่ายของทารกสามารถบ่งบอกว่าเขาได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือเปล่า โดยสามารถสังเกตได้จากลักษณะของอุจจาระและความถี่ของการขับถ่าย ยิ่งเขาขับถ่ายสม่ำเสมอก็จะยิ่งบ่งบอกว่าน้ำหนักและสุขภาพโดยรวมของลูกน้อยจะดีในอนาคต อีกประการก็คือ สีของอุจจาระทารกสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจซ่อนอยู่ได้
เมื่อไหร่ที่ควรปรึกษาแพทย์
สำหรับพ่อแม่ที่เป็นกังวลว่าลูกน้อยป่วยหรือไม่ ให้สังเกตอาการลูกน้อย และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการดังนี้
- ขับถ่ายไม่สม่ำเสมอ น้อยบ้าง มากบ้าง - สามารถบ่งชี้ได้ว่าทารกได้รับอาหารไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม
- ท้องเสีย - โดยปกติทารกมักจะถ่ายเหลวจากอาหารที่กินเข้าไป นั่นคือนมแม่ แต่ควรสังเกตลักษณะของอุจจาระด้วยว่ามีสีดำ หรือมีหนองหรือเลือดปนไหม ร่วมกับอาการไข้ ง่วงซึม งอแงผิดปกติ ควรพบแพทย์ทันที
- ท้องผูก - คือ ไม่ขับถ่ายเป็นเวลาหลายวัน อุจจาระแข็ง มีเลือดปน ร่วมกับอาการหงุดหงิด งอแง ไม่สบายตัว
สรุปได้ว่าความถี่ในการขับถ่ายของทารกต่อวันขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ในระยะแรกเขาอาจจะถ่ายบ่อย คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะจะลดความถี่ลงเมื่อเขาเริ่มโตขึ้นนั่นเองค่ะ สิ่งสำคัญคือควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย จะได้รักษาได้ทันท่วงทีเมื่อมีความผิดปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai.com, medicalnewstoday.com, vinmec.com