x close

ห่อตัวทารกถึงกี่เดือน ตอบข้อสงสัย พร้อมแนะนำวิธีห่อตัวทารกง่าย ๆ

          ห่อตัวทารกถึงกี่เดือน ตอบข้อสงสัย พร้อมเผยเคล็ดลับห่อตัวทารกแบบไหน อย่างไร จึงจะปลอดภัยและไม่อึดอัด ที่สำคัญยังช่วยให้ทารกนอนหลับได้ง่าย ตามมาดูกันเลย
ห่อตัวทารกถึงกี่เดือน

          สำหรับหลายคนที่เคยไปเข้าคอร์สคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มานั้น นอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการดูแลเด็กเล็กในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการอุ้มและการอาบน้ำเด็กแรกเกิดแล้ว การฝึกห่อตัวทารกก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้ เพราะการห่อตัวจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวและปลอดภัย คล้ายกับยังอยู่ในครรภ์แม่ อีกทั้งการห่อตัวยังช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับง่าย และลดอาการสะดุ้งผวาอีกด้วย วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีห่อตัวทารกอย่างถูกต้องมาแนะนำแม่ ๆ กันค่ะ

ห่อตัวทารกถึงกี่เดือน

          ระยะเวลาในการห่อตัวลูกน้อยนั้นไม่มีข้อกําหนดที่แน่ชัด คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ตั้งแต่ 3 วันหลังคลอดจนถึง 1 เดือน และควรเลิกห่อตัวเมื่อลูกเริ่มขยับตัวหรือพลิกกลับตัวได้เอง เพราะหากลูกน้อยเริ่มพลิกตัวได้แล้วมีโอกาสที่จะพลิกไป-มาจนกลายเป็นนอนคว่ำ และถ้ายังถูกห่อตัวอยู่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจได้

วิธีห่อตัวทารกแบบต่าง ๆ

          การห่อตัวทารกมีทั้งแบบคลุมศีรษะที่เหมาะกับการออกนอกบ้าน และแบบเปิดศีรษะ หรือเปิดไหล่ที่เหมาะกับการห่อตัวอยู่บ้าน ดังนี้

1. การห่อตัวแบบคลุมศีรษะ เปิดหน้า จะใช้เมื่อพาลูกออกนอกบ้าน หรือไปโรงพยาบาล

  • พับผ้าให้เป็นสามเหลี่ยม วางศีรษะลูกให้ห่างจากขอบผ้าเล็กน้อย จับชายผ้าขึ้นมาคลุมบริเวณศีรษะ ใช้มือกดผ้าให้แนบหน้าผาก
  • จับแขนลูกหนึ่งข้างให้แนบไปกับลำตัว จับชายผ้าพาดมาอีกฝั่งให้อยู่ใต้รักแร้อีกข้างหนึ่ง และจับแขนอีกข้างทับผ้าไว้ ดึงผ้าให้ตึง พาดผ้ามาอีกฟากของลำตัว
  • พับชายผ้าขึ้น สอดใต้ลำตัวลูก จับชายผ้าที่เหลือด้านล่างมัดเก็บให้เรียบร้อย

2. การห่อตัวแบบเปิดศีรษะ เหมาะสำหรับห่อตัวเมื่ออยู่บ้าน

  • พับผ้าให้เป็นสามเหลี่ยม วางลูกในระดับที่ชายผ้าอยู่บริเวณไหล่
  • จับแขนลูกข้างหนึ่งให้แนบลำตัว แล้วพาดผ้ามาอีกฝั่งหนึ่ง จับแขนอีกข้างทับผ้าไว้ ดึงชายผ้าพาดมาปีกฝั่งหนึ่ง ดึงชายผ้าขึ้น
  • สอดผ้าใต้ลำตัวลูก แล้วจับชายผ้าที่เหลือด้านล่างมัดเก็บให้เรียบร้อย

3. ห่อตัวเปิดไหล่หนึ่งข้าง

  • พับผ้าให้เป็นสามเหลี่ยม วางลูกในระดับที่ชายผ้าอยู่บริเวณไหล่
  • จับแขนลูกข้างหนึ่งให้แนบลำตัว แล้วพาดผ้ามาอีกฝั่งหนึ่งให้อยู่ใต้รักแร้พอดี จับแขนลูกอีกข้างให้ทับผ้าไว้ แล้วดึงชายผ้าอีกข้างหนึ่งสอดใต้ไหล่พาดลำตัวมาฝั่งตรงข้าม
  • สอดผ้าใต้ลำตัวลูก แล้วจับชายผ้าที่เหลือด้านล่างมัดเก็บให้เรียบร้อย
ห่อตัวทารกถึงกี่เดือน

การห่อตัวทารก ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

  • ห่อตัวทารกในท่านอนหงาย จัดท่าทางลูกให้อยู่ในท่าที่สบาย แล้วจึงใช้ผ้าสะอาดค่อย ๆ ห่อตัวเขาไว้
  • เฝ้าดูพฤติกรรมการนอนของลูกว่ามีการพลิกตัวหรือขยับตัวไหม เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเผลอนอนคว่ำ
  • เก็บชายผ้าส่วนที่ใกล้กับใบหน้าของลูกให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าหลุดมาขัดขวางการหายใจของลูก
  • สำรวจผ้าห่อตัวทุกครั้งว่ามีด้ายหลุดรุ่ยตรงไหนหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เศษด้ายพันตามนิ้วมือนิ้วเท้าของลูก จนอาจเกิดบาดแผลหรือทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  • หมั่นสังเกตอาการของลูกว่าเขาร้อนเกินไปไหม มีเหงื่อออก หายใจเร็ว หรือผมเปียกชื้นหรือไม่ หากพบอาการเหล่านั้นแนะนำให้แกะผ้าห่อตัวออก เพื่อให้เขารู้สึกสบายตัวขึ้น

ประโยชน์ของการห่อตัวทารก

  • ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนตอนอยู่ในท้องแม่
  • กระชับแขนขา ลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดังและแรงสั่นสะเทือน
  • ช่วยรักษาอุณหภูมิในกรณีอากาศเย็น ทำให้ทารกรู้สึกอบอุ่น
  • ช่วยให้เขานอนหลับได้ง่ายและนานขึ้น

ผ้าห่อตัวทารก ควรเลือกอย่างไร

         การห่อตัวทารกควรใช้ผ้าที่ไม่หนาหรือบางเกินไป ทำจากเส้นใยธรรมชาติ อ่อนโยนต่อผิวเด็กและระบายอากาศได้ดี ไม่มีขนผ้าฟุ้งกระจายหรือหลุดง่าย เช่น ผ้าสาลู ผ้าเยื่อไผ่ ผ้าคอตตอน หรือผ้าลินิน เป็นต้น ในวันที่อากาศร้อนควรเลือกใช้ผ้าเนื้อเบาบาง ถ่ายเทความร้อนได้ดี ส่วนในวันที่อากาศเย็นควรเลือกผ้าที่หนาขึ้นมาหน่อยเพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น

          ทั้งนี้ ข้อควรระวังเกี่ยวกับการห่อตัวทารก คุณพ่อคุณแม่ควรดึงผ้าห่อตัวให้พอดี ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป เพื่อให้เขาหายใจได้สะดวก และควรห่อตัวอย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthychildren.org, rakluke.com, pregnancybirthbaby.org.au

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห่อตัวทารกถึงกี่เดือน ตอบข้อสงสัย พร้อมแนะนำวิธีห่อตัวทารกง่าย ๆ อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2567 เวลา 13:42:05
TOP