รู้จัก "โรต้าไวรัส" ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก ต้นเหตุทำลูกน้อยท้องร่วงรุนแรง

โรต้าไวรัส

          โรต้าไวรัส วายร้ายที่ปั่นป่วนท้องไส้ของลูกน้อย มาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคไวรัสลงกระเพาะ และเชื้อไวรัสโรต้ากันให้มากขึ้น เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมตัวรับมือและป้องกันลูกน้อยจากโรคร้ายนี้กันค่ะ

          ในเด็กเล็กจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ยังไม่แข็งแรงเหมือนกับผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ยิ่งช่วงนี้โรคไวรัสลงกระเพาะกำลังแพร่ระบาดในกลุ่มทารกและเด็กเล็กตั้งแต่อายุระหว่าง 6 เดือน – 2 ขวบ ส่งผลให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงอย่างรุนแรง ทั้งยังเสี่ยงต่อการขาดน้ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคไวรัสลงกระเพาะ หรือ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค โดยมากมักเกิดจาก เชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) ซึ่งติดต่อโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือจากการสัมผัสสิ่งที่มีไวรัสปนเปื้อนเข้าทางปาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร และสิ่งของ
          เมื่อเด็ก ๆ นำสิ่งของ หรือ มือที่เปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก ก็ทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้าค่อนข้างทน และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน โดยเชื้อไวรัสจะค่อย ๆ เดินทางไปตามระบบทางเดินอาหาร คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้ พร้อมกับทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อขึ้น

โรต้าไวรัส

โรต้าไวรัส อาการเป็นอย่างไร

          หลังจากเด็กได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ ตัวร้อน มีไข้ โดยไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาจมีน้ำมูกไหลหรือไอร่วมด้วย พร้อมกับมีอาการอาเจียน ซึ่งอาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่อาการที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อุจจาระมักมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ซึ่งการอาเจียนและท้องเสียอาจทําให้เด็กเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ได้ ทำให้มีอาการหน้ามืด กระหม่อมบุ๋ม ตาโหล ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ควรรีบพาไปพบแพทย์ หากปล่อยให้เด็กขาดน้ำมากเกินไป อาจทําให้เกิดอันตราย มีอาการช็อก และอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้อาการท้องเสียอาจเป็นนานได้ถึง 7-10 วัน ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกท้องเสียติดต่อนานหลายวันหรือพบว่าอุจจาระมีมูกเลือดปนออกมา ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป 

โรต้าไวรัส

โรต้าไวรัส รักษาอาการอย่างไร


          การดูแลรักษาอาการเบื้องต้น คือ การให้ยาระงับอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้อาเจียน เป็นต้น แต่ห้ามให้ยาหยุดถ่ายแก่เด็ก เพราะจะทำให้เชื้อโรคคั่งในร่างกายจนเป็นอันตราย หรือจะมีอาการปวดมวนท้องมากขึ้น ในกรณีที่ลูกมีอาการขาดน้ำ ควรให้ลูกค่อย ๆ จิบหรือดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับเด็กท้องเสีย นอกจากนี้ควรให้ลูกงดทานอาหารที่เป็นของแสลงจนกว่าอาการจะดีขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ นมวัว โดยเปลี่ยนจากนมวัวเป็นนมถั่วเหลือง หรือ นมวัวสูตรพิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อย ๆ ให้ลูกกลับไปกินอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อนเปลี่ยนกลับทันที เพราะอาจกลับไปท้องเสียใหม่ได้ แต่ในกรณีที่ลูกดื่มนมแม่ สามารถให้นมลูกได้ตามปกติค่ะ


โรต้าไวรัส

โรต้าไวรัส ป้องกันอย่างไร

          การป้องกันเชื้อโรต้าไวรัสสามารถทำได้ด้วยการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกายและล้างมือให้ลูกน้อยบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง พร้อมกับรักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน ทำความสะอาดบริเวณที่ลูกชอบเล่น และล้างของเล่นของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรเตรียมอาหารของลูกน้อยให้สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยการผ่านความร้อน และควรให้ลูกได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะในนมแม่มีสารต้านไวรัสและแบคทีเรีย รวมถึงยังช่วยลดโอกาสการปนเปื้อนจากภาชนะที่ไม่สะอาด นอกจากนี้เชื้อโรต้าไวรัส ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการเสริมสร้างภูมิต้านทานจากการรับวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัสได้อีกด้วยค่ะ

โรต้าไวรัส

วัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส

          ปัจุบันมีวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดหยอดสำหรับรับประทาน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

          1. วัคซีนชนิด Live attenuated human rotavirus vaccine ผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง โดยเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวที่ได้จากมนุษย์

          2. วัคซีนชนิด Bovine-human reassortant rotavirus vaccine เป็นวัคซีนที่ผลิตจากการผสมกันระหว่างเชื้อไวรัสโรต้าที่มีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ที่มาจากมนุษย์และวัว


          โดยประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ ภูมิต้านทานโรคแบบ Active immunization ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า และถึงแม้ว่าวัคซีนนี้จะป้องกันโรคนี้ไม่ได้ทั้งหมดในเด็กทุกคนที่ได้รับวัคซีน แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคนี้ลงได้ สำหรับวัคซีนชนิดแรก หยอดทั้งหมด 2 ครั้ง ให้ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กมีอายุได้ 4 เดือน ส่วนวัคซีนชนิดที่สอง หยอดทั้งหมด 3 ครั้ง ให้ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 เดือน ให้ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน และให้ครั้งสุดท้ายเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน

          วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันเฉพาะโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคท้องร่วงจากสาเหตุอื่นได้ ซึ่งภายหลังให้วัคซีนไวรัสโรต้าแก่เด็ก เด็กบางคนก็ยังอาจเกิดโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่รุนแรง

          เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ก็อย่ามั่วแต่นิ่งนอนใจว่าลูกจะหายได้เอง เพราะเจ้าตัวน้อยอาจกำลังติดเชื้อไวรัสโรต้าอยู่ก็เป็นได้ ยังไงแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตและติดตามอาการลูกอย่างใกล้ชิด หากพบอาการรุนแรงหรือพบความผิดปกติควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันทีค่ะ


ข้อมูลจาก : bangkokhealth.com, haamor.com, med.mahidol.ac.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก "โรต้าไวรัส" ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก ต้นเหตุทำลูกน้อยท้องร่วงรุนแรง อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2561 เวลา 17:19:15 8,151 อ่าน
TOP
x close