เมื่อเจ้าหนูท้องเสีย

ท้องเสีย

เมื่อเจ้าหนูท้องเสีย จู๊ด...จู๊ด...ปู๊ด...ปู๊ด
(Mother & Care)
โดย : มิมิจัง

          การถ่ายท้องเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย แล้วถ้าวันหนึ่ง การถ่ายท้องกลายเป็นเรื่องไม่ปกติของเจ้าจอมซนประจำบ้านล่ะ จะชุลมุนวุ่นวายขนาดไหนนะ เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมพร้อมรับมือ กับสถานการณ์อึไม่ปกติของลูก เราขอแนะนำให้รู้จักกับหนึ่งในอาการถ่ายท้องที่ไม่ปกตินั่นคือ...อาการท้องเสีย!!!

รู้ได้อย่างไรว่า "ท้องเสีย"

          ความปกติในการถ่ายท้องของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง ในขณะที่เด็กบางคนอาจถ่าย 2 วันครั้ง ทั้งนี้หากลูกรักมีอาการถ่ายบ่อยผิดปกติไปจากเดิม โดยถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรืออาจมีมูก มีเลือดปน คุณพ่อคุณแม่ก็เตรียมตัวดูแลรักษาอาการท้องเสียในเบื้องต้น ได้เลยค่ะ

"ท้องเสีย" เกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการท้องเสียเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนี้

         1.การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในทางเดินอาหาร ทั้งนี้อาจเกิดจากการดื่มน้ำ หรืออาหารที่ไม่สะอาด และมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมั่นใจได้ว่า อาหารและน้ำดื่มที่ให้เจ้าตัวเล็กกินนั้น ถูกสุขลักษณะและสะอาดอย่างแน่นอน แต่ก็อย่าลืมว่า เชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกอาจมาจากมือของลูกน้อยในการหยิบจับของเข้าปาก หรืออาจมาจากภาชนะที่นำมาใส่อาหารหรือเครื่องดื่มก็เป็นได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ในทางเดินอาหาร เช่น บิด อหิวาต์ ไทฟอยด์ เชื้อรา โรต้าไวรัส เป็นต้น

         2. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด อาการท้องเสียจากยานั้นมักเกิดขึ้นหลังจากกินยาไปแล้วประมาณ 3-5 วัน โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากตัวยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้หลายชนิด

         3.ระบบการย่อยการดูดซึมของลำไส้ทำงานผิดปกติ

          ทั้งนี้อาการท้องเสียยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น การแพ้โปรตีนในนม, ภาวะอารมณ์ ต่าง ๆ (เครียด, กังวล, ตื่นเต้น) เป็นต้น

ทำอย่างไรเมื่อลูก "ท้องเสีย"

          หากลูกน้อยมีอาการท้องเสียแต่ยังสามารถเล่นได้ตามปกติ ไม่มีอาการผิดแปลกไปจากเดิม คุณพ่อคุณแม่สามารถให้การดูแลในเบื้องต้นได้ตามนี้

         1.ผสมน้ำตาลเกลือแร่แก้ท้องเสียกับน้ำดื่มที่สะอาด ให้ดื่มตามปริมาณที่กำหนดก็จะช่วยในการสูญเสียน้ำ, เกลือโซเดียม และโพแทสเซียมจากการถ่ายท้องได้

         2.งดดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจทำให้ถ่ายท้องบ่อยขึ้น

         3.งดดื่มนมสด หรืออาจให้ดื่มที่เหมาะกับภาวะท้องเสีย เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมที่ไม่มีแล็กโตส

         4.กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย จำพวก โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น ทั้งนี้ควรทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อให้ลำไส้ค่อย ๆ ย่อยและดูดซึมอาหาร

         5. งดอาหารย่อยยากและอาหารที่มีไขมันสูง

         6.หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยุดถ่ายให้ลูกกิน เพราะถึงแม้จะช่วยให้อาการถ่ายท้องทุเลาลงไปชั่วคราว แต่ไม่สามารถช่วยรักษาการขาดน้ำจากการถ่ายท้องได้ พร้อมกันนี้การติดเชื้อก็ยังคงอยู่ ไม่ได้ขจัดออกไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ลูกมากขึ้น

         7.หากลูกมีอาการท้องเสียมาก หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น อาเจียนมาก ไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลีย ซึม เป็นต้น ควรพาลูกไปพบคุณหมอ

ป้องกันไว้ก่อนอาการท้องเสียจะถามหา

          อยากให้ลูกน้อยปลอดภัย และห่างไกลจากอาการท้องเสียขอแนะนำหลากหลายวิธีควรปฏิบัติ ดังนี้

         1.ปลูกฝังนิสัยล้างมือก่อนหยิบจับกินอาหารทุกครั้ง

         2.ระมัดระวังการเล่นของลูกกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก เพราะอาจติดเชื้อท้องเสียได้ เนื่องจากน้องหมาน้องแมวที่มักจะออกไปเล่นซนหรือคุ้ยหาเศษอาหารต่าง ๆ ทำให้มีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกติดตามปากและตัว

         3.หมั่นตรวจเช็กภาชนะสำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่มว่า ได้รับการเช็ดล้างอย่างสะอาด และถูกจัดเก็บในตู้ที่ปิดมิดชิดปลอดภัยจากแมลงสาบ และหนูที่อาจไต่ไปตามภาชนะ

         4.กินอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด พร้อมกันนี้ควรจัดเก็บอาหารไว้ในตู้กับข้าว หรือใช้ฝาชีปิดครอบอาหาร เพื่อป้องกันแมลงวันตอม

         5.ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงแมลงวันตอม และหลีกเลี่ยงการคุ้ยอาหารจากสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว

         6.ดูแลรักษาความสะอาดให้ลูก และระวังเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการหยิบฉวยเอาอะไรเข้าปาก





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.76 เมษายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อเจ้าหนูท้องเสีย อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2554 เวลา 15:41:02 3,496 อ่าน
TOP
x close