x close

ลูกเป็นออทิสติก เกิดจากอะไร หายได้ไหม ครอบครัวควรดูแลอย่างไรดี

          ลูกเป็นออทิสติก เป็นภาวะที่ครอบครัวอาจทำใจยาก เพราะไม่รู้จะรับมือกับโรคนี้อย่างไร มาทำความเข้าใจ ออทิสติก คืออะไร เกิดจากอะไร รักษาหายไหม พร้อมวิธีสังเกตลูกเป็นออทิสติกกัน
โรคออทิสติก

          อาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายของลูก ๆ ย่อมทำให้พ่อแม่รู้สึกปวดใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็นออทิสติก แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพของลูก แต่ก็กลับสร้างความเป็นกังวลให้ครอบครัวไม่น้อย เพราะเด็กออทิสติกนี้ภายนอกอาจดูเป็นเด็กที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายไม่ต่างจากเด็กธรรมดาทั่วไป มีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อและเจริญเติบโตได้ปกติตามวัย แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือพัฒนาการทางด้านภาษา การสื่อสาร การแสดงท่าทาง และพัฒนาการในด้านสังคมที่ช้ากว่า

          ทั้งนี้ โรคออทิสติก เป็นที่รู้จักมาเป็นเวลา 60 ปีแล้ว มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับโรคออทิสติกได้ หากรู้เท่าทันและใส่ใจดูแลลูกแบบใกล้ชิด ฉะนั้นหากบ้านไหนที่กำลังสงสัยว่าจะทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นออทิสติก เกิดจากอะไร ออทิสติกรักษาหายไหม และมีวิธีเลี้ยงเด็กออทิสติกอย่างไรบ้าง ลองมาทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันค่ะ

ออทิสติก คืออะไร

          เด็กออทิสติก (Autistic) หมายถึง เด็กที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ภาษาและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย รวมถึงลักษณะพฤติกรรมด้านอารมณ์และจินตนาการ ซึ่งมีผลมาจากการทำงานของสมองบางส่วนที่บกพร่อง ทำให้เด็กมีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจเป็นแบบแผนซ้ำ ๆ ไม่ยืดหยุ่น โดยในเด็กเล็กบางคนอาจมีลักษณะความผิดปกติให้พ่อแม่เริ่มสังเกตได้ แต่ในบางรายอาจสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเจน

ออทิสติก เกิดจากอะไร

          โรคออทิสติก (Autistic Disorder) หรือออทิสซึม (Autism) เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ที่เชื่อว่ามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดภาวะออทิซึม เพราะมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้การทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ของสมองไม่สมบูรณ์ โดยอาการจะแสดงให้เห็นในเด็กอายุ 2-3 ปี หรือเร็วกว่านั้น ขึ้นกับการสังเกตของผู้ปกครอง และการพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
โรคออทิสติก

ออทิสติกมีกี่ระดับ

          ภาวะออทิสติกมีอาการแตกต่างกันหลายระดับ ตั้งแต่น้อยไปหามาก และสามารถมีพัฒนาการดีขึ้นได้ ซึ่งอาการอาจเปลี่ยนไปตามวัยของเด็ก โดยทั่วไปจะจำแนกเป็น 3 ระดับดังนี้

  • ระดับกลุ่มที่มีอาการน้อย ส่วนใหญ่จะมีระดับสติปัญญาปกติหรือสูงกว่าปกติ มีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังมีความบกพร่องด้านทักษะสังคม การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น บางครั้งเรียกว่า กลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High function)
  • ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง กลุ่มนี้จะมีพัฒนาการทางด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะสังคม การเรียนรู้และการช่วยเหลือตนเองล่าช้า มีพฤติกรรมกระตุ้นตนเองหรือลักษณะอาการที่ทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น โยกตัว สะบัดมือ กลิ้งของเล่นไปมา เป็นต้น
  • ระดับกลุ่มที่มีอาการรุนแรง กลุ่มนี้มักจะมีความล่าช้าในพัฒนาการเกือบทุกด้านตั้งแต่วัยเด็กและอาจเกิดร่วมกับภาวะอื่น เช่น ภาวะปัญญาอ่อน ปัญหาทางอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง

วิธีสังเกตลูกเป็นออทิสติก

          เด็กออทิสติกในช่วงขวบปีแรกจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากไม่มีลักษณะภายนอกผิดสังเกต ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่งเสียง เลี้ยงง่าย แต่นับจากขวบปีที่ 3 เป็นต้นไป อาการจะชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นถ้าไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นลองมาเช็กสัญญาณภาวะออทิสติกกันค่ะ ว่าอาการแบบไหนเข้าข่ายเด็กออทิสติกบ้าง
อายุ อาการ
6 เดือน ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่แสดงอารมณ์สนุกสนาน
9 เดือน ไม่สบตา ไม่ส่งเสียง ยิ้ม หรือแสดงสีหน้าโต้ตอบกลับไปมา ไม่ชอบให้อุ้ม
12 เดือน ไม่หันหาเสียงเรียกชื่อ ไม่เล่นน้ำลาย ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจ
1-2 ขวบ พูดช้า พูดคำซ้ำ ๆ พูดด้วยภาษาของตัวเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ พูดติด ๆ ขัด ๆ ไม่ชี้ไปที่ของที่อยากได้ สนใจวัตถุเฉพาะส่วน ชอบจ้องมองสิ่งของที่เป็นแสงวาววับ แสงไฟ หรือของหมุน ๆ เช่น พัดลม ล้อรถ
2-5 ปี ไม่มองหน้า พูดด้วยโทนเสียงที่ผิดปกติ พูดไม่ชัดมาก ๆ เริ่มเล่นมือ
ชอบแยกตัวโดดเดี่ยว ไม่สนใจใคร ไม่โต้ตอบกับคำพูด ไม่มีทีท่าสนใจต่อเสียงเรียก
ชอบทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ รับการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ ไม่เล่นสมมติตามวัย
ชอบเล่นคนเดียวหรืออยู่คนเดียว ไม่สามารถสนทนากับผู้อื่นได้นาน ๆ ไม่มีเพื่อนสนิทตามวัย
          นอกจากนี้ เด็กออทิสติกอาจมีอาการขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่นิ่ง หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง กระตุ้นตนเองซ้ำ ๆ เช่น สะบัดมือ เคาะวัตถุ โยกตัว หรือกระโดด เป็นต้น

ลูกเป็นออทิสติก รักษาหายไหม ดูแลอย่างไรดี

          ออทิสติกเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่อาการจะสามารถดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งหัวใจสำคัญและมีบทบาทที่สุดก็คือครอบครัว โดยสามารถช่วยเหลือลูกได้ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

การกระตุ้นพัฒนาการ

          หมั่นฝึกกระตุ้นทักษะและพัฒนาการที่ลูกบกพร่อง โดยประเมินความสามารถของเด็กในทุกด้าน เช่น การฝึกทักษะการพูด ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ ฝึกทักษะการเล่นและการเข้าสังคม แก้ไขปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งปรับการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม

พฤติกรรมบำบัด

          ส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อเนื่อง เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการก็ให้แรงเสริมเป็นรางวัล เช่น ขนม ของเล่น คำชมเชย ตบมือให้ กอด เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ต้องหยุดพฤติกรรมที่่เป็นปัญหา และสร้างพฤติกรรมใหม่ที่เหมาะสม วิธีนี้ควรทำตั้งแต่อายุน้อย ๆ และทำอย่างต่อเนื่อง

ส่งเสริมความสามารถเด็ก

          ความสามารถในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความสามารถพิเศษเสมอไป แต่คือสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เด็กสามารถทำได้ เช่น ส่งเสียง พูดคำอื่น ๆ เล่นได้ ดูแลช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แล้วขยายความสามารถที่ทำได้เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำบ่อย ๆ จากนั้นจึงสอนเพิ่มในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งให้เด็กได้เล่นของเล่นและทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งดนตรี กีฬา งานศิลปะต่าง ๆ ช่วยงานที่พ่อแม่ทำ ก็จะช่วยให้เด็กมีโอกาสแสดงความสามารถให้เห็นเพิ่มขึ้น
โรคออทิสติก

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม

          การเสริมสร้างพัฒนาการทางสังคมนี้ ประกอบด้วยการฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน และการฝึกฝนทักษะสังคม เพื่อให้เด็กออทิสติกสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

การจัดการศึกษาที่เหมาะสม

          คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกให้ลูกเข้าชั้นเรียนพิเศษ หรือชั้นเรียนร่วมกับเด็กปกติ โดยมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมรายบุคคลก็ได้

การใช้ยารักษา

          การใช้ยาเป็นวิธีที่มุ่งบำบัดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการรักษาโรคให้หายขาด โดยจะมีการใช้ยาเฉพาะรายที่มีความจำเป็น เช่น อาการขาดสมาธิ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซนอยู่ไม่นิ่ง หรือกระตุ้นตนเอง ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการและพฤติกรรมข้างต้น

          เมื่อลูกเป็นออทิสติก ครอบครัวจำเป็นที่จะต้องยอมรับและอยู่เคียงข้าง เพราะพวกเขายังสามารถพัฒนาศักยภาพได้เรื่อย ๆ หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรกพบและต่อเนื่องค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : rajanukul.go.th, bumrungrad.com, vichaiyut.com, nakornthon.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกเป็นออทิสติก เกิดจากอะไร หายได้ไหม ครอบครัวควรดูแลอย่างไรดี อัปเดตล่าสุด 9 สิงหาคม 2565 เวลา 16:28:33 38,774 อ่าน
TOP