x close

ลูกหัวบวมตอนคลอด จะเป็นอันตรายไหม มันเกิดจากอะไรกันนะ ?

          ลูกหัวบวมตอนคลอด หรือภาวะ Caput Succedaneum เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ ถ้าคลอดออกมาแล้วทารกหัวปูดจะต้องทำยังไง ลูกจะหายเองได้ไหม หรือต้องรักษา มาหาคำตอบกัน
ตั้งครรภ์

          อาการหนึ่งที่มักเกิดขึ้นได้ในทารกแรกคลอด คือภาวะศีรษะปูดบวม ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนเป็นกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับลูกตัวเองไหม และ ทารกหัวบวม หรือที่เรียกว่าอาการ Caput Succedaneum เกิดขึ้นได้ยังไง จะอันตรายหรือเปล่า กระปุกดอทคอมจะมาคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการลูกหัวบวมตอนคลอดให้คุณแม่ได้หายข้องใจกันค่ะ

ทารกหัวบวม คืออะไร

          ภาวะที่ทารกหัวบวม มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Caput Succedaneum เป็นอาการของศีรษะที่บวมน้ำของทารกหลังการคลอดธรรมชาติ เนื่องจากมีของเหลวอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณศีรษะของทารก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดและการกดทับที่ศีรษะตามปกติขณะผ่านช่องคลอด อาการนี้ไม่เป็นอันตรายเนื่องจากการบวมนั้นจำกัดอยู่ที่หนังศีรษะ และไม่ใช่อาการของการบาดเจ็บที่ลึกลงไปที่กะโหลกศีรษะหรือสมอง จึงสามารถหายไปเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีอะไรต้องกังวล แต่อาการนี้ก็อาจจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ รวมถึงอาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จึงต้องคอยสังเกตลูกเป็นพิเศษในระยะแรก

สาเหตุของ ลูกหัวบวมตอนคลอด เกิดจากอะไร

          ลูกหัวบวมตอนคลอด มักเกิดจากแรงกดดันจากภายนอกอย่างเฉียบพลันที่ศีรษะของทารกระหว่างการคลอด ซึ่งก็มาจากการเบ่งคลอดของคุณแม่นั่นเอง เพราะทารกจะต้องเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอดที่แคบมาก เลยมีแรงบีบอัด ยิ่งถ้าทารกมีน้ำหนักมากก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดภาวะนี้ เพราะมีโอกาสสูงที่ถุงน้ำคร่ำจะแตกก่อน จึงไม่มีเบาะที่จะใช้รองศีรษะขณะคลอด ทีนี้พอทารกไม่มีถุงน้ำคร่ำที่คอยเป็นเหมือนถุงลมป้องกัน ก็จะได้รับแรงกดดันจากกระดูกเชิงกรานของคุณแม่มากขึ้น แล้วยิ่งถ้าต้องใช้เครื่องดูดหรือคีมหนีบช่วยคลอดด้วยแล้วละก็ ลูกก็จะมีอาการหัวบวมเกิดขึ้นนั่นเอง
ตั้งครรภ์

อาการของทารกหัวบวม ลักษณะเป็นยังไง

          อาการหลักของภาวะทารกหัวบวม หรือ Caput Succedaneum คือ จะมีจุดบวมพอง แต่นิ่ม ๆ บริเวณส่วนบนของศีรษะ จะอยู่ใต้ผิวหนังด้านใดด้านหนึ่งหรือขยายไปถึงกลางหนังศีรษะ ขึ้นอยู่กับว่าทารกเอาส่วนไหนผ่านช่องคลอดก่อน

ลูกหัวบวมหลังคลอดจะมีภาวะแทรกซ้อนยังไงบ้าง

          ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าอาการนี้ไม่มีอันตรายและสามารถหายไปได้เอง แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนหากศีรษะลูกถูกบีบรัดมากเกินไปจนทำให้เกิดรอยฟกซ้ำ รอยเหล่านั้นอาจทำให้ระดับบิลิรูบินในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าระดับบิลิรูบินมากเกินไปก็จะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคดีซ่านในทารกแรกเกิด พูดง่าย ๆ คือจะทำให้ลูกตัวเหลืองได้ ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา ส่วนใหญ่ก็คือจะต้องเพิ่มวิตามินดีให้กับทารก โดยอาจจะพาลูกไปรับแดดบ้างก็จะทำให้อาการตัวเหลืองดีขึ้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษาที่ถูกต้อง บางกรณีอาจทำให้อาการแย่ลงจนกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า Kernicterus ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบิลิรูบินส่วนเกินในเลือดเริ่มบุกรุกและทำลายสมองส่งผลให้สมองเสียหายอย่างรุนแรงและถาวร จนอาจถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้

ลูกหัวบวมหลังคลอด รักษายังไง

          ในทางการแพทย์ ภาวะทารกหัวบวมไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำการรักษาค่ะ เพราะยิ่งถ้าพยายามจะเจาะหรือระบายของเหลวที่ทำให้เกิดอาการบวมออกไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทางที่ดีที่สุดคือปล่อยเอาไว้และเฝ้าระวัง ไม่นานลูกก็จะหายเป็นปกติเอง
 

          สรุปได้ว่าอาการทารกหัวบวมนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคนที่ใช้วิธีคลอดตามธรรมชาติ และสามารถหายไปได้เอง อย่าลืมนะคะว่าการคลอดธรรมชาติจะทำให้ลูกแข็งแรงมากกว่าการผ่าตลอด ดังนั้นจึงไม่ควรกลัวจนเกินไป หากดูแลตัวเองเป็นอย่างดีและทำตามคำแนะนำของคุณหมอและพยาบาล รับรองว่าลูกออกมาแข็งแรงและปลอดภัยแน่นอนค่ะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : birthinjuryhelpcenter.org, radiopaedia.org, medlineplus.gov, webmd.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกหัวบวมตอนคลอด จะเป็นอันตรายไหม มันเกิดจากอะไรกันนะ ? อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2565 เวลา 18:26:03 24,800 อ่าน
TOP