x close

10 ข้อห้ามในการเลี้ยงทารก มีอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องระวัง

          ข้อห้ามในการเลี้ยงทารก มีอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องศึกษา วิธีการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง มีอะไรที่ไม่ควรทำบ้าง วันนี้เรารวบรวมข้อควรระวังในการเลี้ยงลูกน้อยมาให้แล้ว
วิธีเลี้ยงลูก

          การมีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มเข้ามาในบ้าน แน่นอนว่าทุกคนในครอบครัวและเพื่อนสนิทต่างก็ต้องยินดีและมักจะแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนชื่นชมความน่ารักน่าชังของลูก ซึ่งก็ถือเป็นโมเมนต์ดี ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การได้พบปะญาติและเพื่อนฝูงจากหลากหลายแห่งก็อาจมาพร้อมคำแนะนำเรื่องวิธีเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละครอบครัว ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เกิดความสับสนได้ ดังนั้น การเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพของลูก ทั้งข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการเลี้ยงทารก ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เรามาดูกันดีกว่าว่าข้อควรระวังในการเลี้ยงทารกที่ไม่ควรทำกับเจ้าตัวน้อยที่คุณรักนั้นมีอะไรบ้าง

ทารก คืออายุเท่าไร ทำไมถึงต้องระวังเป็นพิเศษ

          สำหรับช่วงวัยที่เรียกว่า “ทารก” แบ่งเป็น ทารกแรกเกิด (Newborn) หมายถึง ทารกที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 1 เดือน และ ทารก (Infant) หมายถึง เด็กที่มีอายุระหว่าง 1-12 เดือน ซึ่งในช่วงชีวิตนี้เป็นระยะที่มีความสำคัญ เพราะทารกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากภายในครรภ์มารดาออกมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งยังเป็นวัยแห่งการสร้างรากฐานสู่การพัฒนาบุคลิกภาพในอนาคต ดังนั้นคุณแม่จึงต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านร่างกาย เช่น โภชนาการ การนอนหลับ สุขภาพร่างกาย ความสะอาด รวมถึงการดูแลด้านจิตใจ อย่างการเลี้ยงดูทารกด้วยความรัก ความอบอุ่น และปลอดภัย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนกระทั่งลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง

10 ข้อห้ามในการเลี้ยงทารก

1. ห้ามเขย่าตัวทารก

          พ่อแม่บางคนอาจใช้วิธีการเขย่าตัวลูกเวลาที่ลูกร้องไห้มาก ๆ แต่การทำเช่นนี้เป็นอันตรายต่อร่างกายของทารกอย่างมาก เพราะมีผลทำให้เส้นเลือดในสมองหรือดวงตาฉีกขาด จอประสาทตาหลุดลอก และอาจจะลามไปเป็นแผลที่ใหญ่ขึ้นภายในสมองของลูก และทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นห้ามเขย่าตัวลูกเด็ดขาดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

2. ห้ามจับทารกเหวี่ยง

          การเหวี่ยงลูกไป-มาอาจสร้างเสียงหัวเราะและดูเหมือนลูกจะสนุกสนานไปด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจับลูกเหวี่ยง โดยเฉพาะจับที่แขนหรือขาแล้วเหวี่ยงนั้น สามารถเป็นอันตรายต่อลูกได้ง่ายมาก เพราะจะทำให้ข้อต่อต่าง ๆ เคลื่อนหรืออาจกระดูกหักได้เลยทีเดียว เอาเป็นว่ากันไว้ดีกว่าแก้ อย่าจับลูกเหวี่ยงจะดีที่สุด

3. ห้ามออกนอกบ้านก่อน 3 เดือน

          เนื่องจากภูมิคุ้มกันและระบบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของลูกน้อยยังทำงานไม่เต็มที่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กออกนอกบ้านก่อนอายุครบ 3 เดือน (ยกเว้นไปตามนัดแพทย์) รวมถึงการเดินทางไปที่สาธารณะที่มีคนเยอะ ๆ หรือแออัดด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ร่างกายของลูกติดเชื้อและเจ็บป่วยด้านอื่น ๆ แทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดค่ะ

4. ห้ามหอมทารก

          ผู้ใหญ่เป็นตัวนำพาเชื้อโรคชั้นดีมาให้เด็ก โดยเชื้อโรคบางชนิดอาจไม่แสดงอาการในผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันดีกว่า แต่พอส่งต่อมาให้ทารกแรกเกิดที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการหอมแก้ม จูบปากทารก นอกจากจะทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และมือเท้าปากแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น RSV, 4S, เริม, หัดและอีสุกอีใสได้อีกด้วย และแม้ไม่ใช่เด็กแรกเกิดก็ไม่ควรจะไปหอมแก้มลูกคนอื่นโดยพลการ หากเป็นสมาชิกในครอบครัวควรให้ผ่าน 3 เดือนแรกไปก่อนจะดีกว่า
วิธีเลี้ยงลูก

5. ห้ามกินอาหารเสริมก่อนถึงวัย 6 เดือน

          สำหรับเด็กแรกคลอด ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ จึงไม่ควรให้กินอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ จนกว่าจะถึงวัยที่รับประทานอาหารเสริมอื่น ๆ ได้ เพราะนอกจากจะไม่ได้รับสารอาหารเพิ่มเติมอย่างที่คิดแล้ว ยังเกิดผลกระทบทำให้ไม่สามารถย่อยได้ จนเกิดอาการลำไส้อุดตัน ลำไส้เน่าตามมาได้

6. ห้ามดัดขาทารก

          ตามความเชื่อฉบับคุณย่าคุณยาย การป้องกันขาโก่งของเด็ก ๆ ต้องใช้วิธีดัดขาหลังอาบน้ำบ้างล่ะ หรือไม่ยอมให้ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะจะทำให้ขาโก่งมากยิ่งขึ้น ความเชื่อเหล่านี้ไม่เป็นความจริงเลย เพราะการดัดขาทารกนั้นไม่สามารถสร้างแรงกดกับกระดูกขาได้ ทำให้ลูกเจ็บเสียเปล่า ๆ เช่นเดียวกับการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ก็ไม่ได้มีผลให้ขาโก่ง ทว่าแพทย์แนะนำให้ใส่เพื่อเป็นการรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้

7. ห้ามให้ทารกแรกเกิดหลับด้วยท่านอนคว่ำ

          Sudden Infant Death Syndrome เป็นอาการที่น่ากลัวและเกิดขึ้นได้บ่อยสำหรับทารกที่นอนคว่ำหน้า ซึ่งท่านอนดังกล่าวจะเสี่ยงให้ลูกไหลตายหรือเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ ดังนั้นเวลาที่ลูกนอนหลับ คุณแม่ควรจับวางในท่านอนหงาย ลูกจะสามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปได้ดีกว่า และเมื่อลูกตื่นค่อยฝึกให้นอนคว่ำ เพื่อพัฒนาการเคลื่อนไหวของลูก ฝึกการใช้กล้ามเนื้อคอ แขน ขา และลำตัว
วิธีเลี้ยงลูก

8. ห้ามตกแต่งเตียงนอนทารกแรกเกิดมากเกินไป

          คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนคงกำลังงงว่าทำไมถึงไม่ควรตกแต่งเตียงของลูกให้สวยงาม น่ารัก เพราะไม่น่าจะเป็นอันตรายกับลูก แต่ในความจริงแล้วหากตกแต่งเตียงนอนลูกด้วยตุ๊กตา หมอน หมอนข้าง ผ้าห่ม ให้ดูนุ่มฟูน่านอน อาจจะทำให้เด็กซุกอยู่กับเครื่องนอนอย่างใดอย่างหนึ่งมาก จนทำให้เกิดเหตุการณ์หายใจไม่ออกขึ้นมาและอาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นแค่วางหมอน 1 ใบ และผ้าห่มบาง ๆ ก็เพียงพอแล้วสำหรับเตียงของทารกวัยแรกเกิด

9. ห้ามจับทารกในขณะมือสกปรก

          การไม่ล้างมือคือตัวการสำคัญที่จะนำเชื้อโรคต่าง ๆ ไปสู่ลูกน้อยได้อย่างง่ายดายที่สุด โดยเฉพาะกับเด็กทารกยิ่งต้องระวังเป็น 2 เท่า โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า ก่อนสัมผัสหรืออุ้มเด็กทารกควรทำความสะอาดโดยการล้างมือก่อน รวมถึงอุปกรณ์ ของใช้ ของเล่นทารก ก็ควรล้างให้สะอาดเช่นกันค่ะ เพื่อป้องกันแบคทีเรียและสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพของลูกได้

10. ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก

          ผิวหนังของทารกบอบบางมาก อาจเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ง่าย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า หรือข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ จึงควรเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อความอ่อนโยนต่อผิว และควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์แรงและมีสารตกค้างสูง โดยเฉพาะแป้งเด็ก ควรตรวจสอบว่ามีสารต้องห้ามอย่าง ทัลคัม ด้วยหรือเปล่า ห้ามทาให้ลูกเลยนะคะ

          เมื่อได้ทราบข้อห้ามในการเลี้ยงทารกเหล่านี้แล้ว ก็อย่าลืมใส่ใจและระมัดระวังให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัยต่อลูกน้อย หลายข้ออาจดูยุ่งยาก หรือถูกมองว่าอนามัยไป แต่เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนทำเพื่อลูกน้อยได้แน่นอนอยู่แล้วค่ะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : bangkokhospitalkhonkaen.com, yanhee.net, mamaexpert.com, momandbaby.net, kidshealth.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ข้อห้ามในการเลี้ยงทารก มีอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 19:54:33 33,074 อ่าน
TOP