วิธีลงโทษลูกแฝด ถ้าลูกทำผิดทั้งคู่
ปัญหาของการมีลูกฝาแฝดมี 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ก็คือ ถ้าไม่ทะเลาะกัน ก็พากันเล่นซนจนทำผิดทั้งคู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาควรตระหนักว่าที่ทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการลงโทษ นั่นคือ
1. ถ้าลูกทะเลาะกัน ให้ฟังความทั้งสองฝ่าย อย่าฟังแค่จากลูกคนใดคนหนึ่งแล้วตัดสิน ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกว่ากำลังเสียเปรียบ เนื่องจากพ่อแม่ไม่ยอมรับฟัง ให้เขาทั้งสองคนได้พูดสิ่งที่ออกมาจากมุมมองและความรู้สึกของเขา และอธิบายว่ากำลังทำผิดยังไง จากนั้นค่อยหาบทลงโทษที่เหมาะสม
2. ทำเป็นไม่สนใจเด็ก ๆ จนกว่าเขาจะสงบ เวลาที่เด็ก ๆ ทะเลาะกันเขามักจะหาที่พึ่งพิง โดยเชื่อว่าหากฟ้องพ่อแม่จะต้องช่วยเขาได้ หรือสามารถตัดสินโทษให้กับฝ่ายตรงข้ามได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่พุ่งตัวเข้าไปช่วยในช่วงศึกหนักของเด็ก ๆ พวกเขาจะยิ่งได้ใจและคิดว่าการทะเลาะทุกครั้งเขาจะมีคนหนุนหลัง ดังนั้นลองทำเป็นไม่สนใจคำฟ้อง แล้วบอกว่าไปสงบจิตใจกันก่อน ใจเย็นแล้วค่อยมาคุยกัน จะทำให้เด็ก ๆ คิดได้ และแยกกันในที่สุด
3. จับลูกแยกกัน เด็ก ๆ ทะเลาะกันแป๊บเดียวเดี๋ยวเขาก็กลับมาดีกัน หรือไม่ก็เย้าแหย่กันอีก เพราะเขามีกันอยู่สองคน ยังไงก็ต้องอยากเล่นกัน ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องถูกลงโทษ พ่อแม่จึงควรจับแยกกันอยู่คนละที่ โดยกำหนดเวลาเอาไว้ ห้ามเขาพูดคุยและเล่นกัน เพื่อให้ลูกใช้เวลานี้ทบทวนความผิดของตัวเอง เมื่อครบกำหนดเวลา เด็ก ๆ ก็จะเลิกทะเลาะกันไปโดยปริยาย
4. ให้ลูกกอดกัน แม้จะทะเลาะกันหรือโกรธกันอยู่ แต่การลงโทษด้วยการบังคับให้เขากอดกันโดยจับเวลาเอาไว้เป็นหนึ่งในไอเดียที่ดีที่จะทำให้เขารู้ว่าเขาต้องรักกัน ถ้าเขายังโกรธกันก็ให้กอดอยู่อย่างนั้น โดยพ่อแม่จะต้องจับตาดูด้วยว่าเขาจะแอบตีกันหรือเปล่า
วิธีลงโทษลูกแฝด ถ้าลูกทำผิดแค่คนเดียว
การลงโทษทั้งคู่น่ะง่าย แต่หากต้องลงโทษคนใดคนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะเขาจะรู้สึกน้อยใจว่าเขาผิดมากกว่าอีกคนยังไง ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องใช้เหตุผลในการลงโทษเป็นอย่างมาก โดยมีวิธีดังนี้
1. เข้ามุมหรือกักบริเวณ เป็นวิธีที่เหมาะกับการลงโทษเด็กเล็ก ๆ อย่างเวลาที่เขาทุบตีหรือจิกผมแฝดของเขา ให้อุ้มไปไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งหรือในคอกเด็ก จับเวลาให้ไม่ออกไปเล่นกับอีกคนจนกว่าจะครบเวลา และค่อย ๆ เพิ่มเวลาตามช่วงอายุของเขา
2. ให้ความสนใจกับคนที่ไม่ได้ทำผิด แทนที่จะไปดุว่าหรือลงโทษลูกคนที่ทำผิด กลับกันลองไม่สนใจ แต่ไปให้ความสนใจ เอาอกเอาใจลูกอีกคนที่ไม่ได้ทำผิดแทน วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้เองว่า เมื่อเขาทำไม่ดีก็จะไม่มีคนสนใจ แรก ๆ เขาอาจจะทำเฉย แต่ผ่านไปสักพักเขาจะเริ่มเรียกร้องความสนใจขึ้นมา เวลานั้นจึงค่อย ๆ สอนสิ่งที่ทำผิดไปก็ไม่สาย
3. ให้รางวัลกับลูกคนอื่น ๆ แต่ไม่ให้คนที่ทำผิด ถ้ามีลูกแฝดและมีพี่น้องคนอื่นด้วย ลองใช้วิธีให้รางวัลคนอื่น ๆ เช่น เอาขนมมาเสิร์ฟ แต่ไม่ให้เด็กที่ทำผิดแค่คนเดียว เป็นวิธีการที่ต้องทำใจแข็งสักหน่อย แต่ลูกจะรู้ตัวได้อย่างรวดเร็วว่าที่เขาไม่ได้กินขนมแบบคนอื่น ๆ เพราะว่าเขาทำผิด อาจจะมีน้ำตาบ้าง แต่พ่อแม่สามารถใช้ช่วงเวลานั้นในการสอนได้ และเขาจะรับฟัง
แม้การเลี้ยงลูกแฝดจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เท่าเทียม แต่อย่าลืมว่าเขาไม่ใช่คนเดียวกัน นิสัยเขาอาจจะไม่เหมือนเลยก็ได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นต้องพิจารณาความผิดเป็นคนคนไป เพื่อไม่ให้คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดรู้สึกได้ถึงความไม่ยุติธรรม นอกจากนี้ก็ควรสอนลูกด้วยว่าเขาไม่ควรทะเลาะกัน เพราะทั้งคู่คือพี่น้อง ควรรักและช่วยเหลือกันเอาไว้จะดีกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : supernanny.co.uk, team-cartwright.com, parenting.firstcry.com