ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เรื่องที่ผู้ใหญ่ควรป้องกัน สอนลูกอย่างไรให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

          ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก พฤติกรรมแบบไหนที่เรียกว่าล่วงละเมิดทางเพศ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกอย่างไรให้รู้จักระวังตัว ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อ วันนี้เรามีคำแนะนำมาฝาก
ล่วงละเมิดทางเพศ

          ปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ พบได้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน และไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย หรือสถานที่นั้นจะดูปลอดภัยแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจึงไม่ใช่ปัญหาไกลตัวอีกต่อไป บางครั้งการสัมผัสเด็กโดยเกิดจากความเอ็นดูหรือไม่ อาจสร้างปมบาดแผลให้พวกเขาได้ถ้าเด็กไม่รู้สึก “ยินยอม” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้กระทำความรุนแรงมักเป็นคนใกล้ตัวเด็ก คนรู้จักคุ้นเคย หรือบุคคลในครอบครัว ทำให้เด็กรู้สึกสับสน อับอาย ไม่กล้าเล่าเรื่องให้ใครทราบ คนทำผิดก็เลยย่ามใจ
 

          จริง ๆ แล้วการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมายและศีลธรรม แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และบุคลิกภาพอย่างรุนแรง ต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น กระปุกดอทคอมจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง มาทำความเข้าใจถึงปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้เรื่องร้ายนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของคุณกันค่ะ

การล่วงละเมิดทางเพศ คืออะไร

          Sexual Harassment หรือ การล่วงละเมิดทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นในเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา แสดงท่าที โดยอาจมีวัตถุประสงค์ทางเพศรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้การกระทำใด ๆ ก็ตามที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอาย เป็นการล่วงเกินความเป็นส่วนตัว และไม่ยินยอมพร้อมใจ ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความอึดอัด วิตกกังวล จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศทั้งสิ้น

การล่วงละเมิดทางเพศ มีกี่ประเภท แบบไหนเข้าข่ายบ้าง

          ลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศ มีรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
 

1. การล่วงละเมิดทางเพศทางคำพูด ได้แก่
 

  • การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย ที่ส่อในทางลามก
  • การเล่าเรื่องตลกลามก เรื่องสองแง่สองง่าม
  • การตามจีบ ตามตื๊อ เกี้ยวพาราสี ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอีกฝ่ายไม่ชอบ
  • การพูดจาแทะโลม
  • การใช้คำพูดเพื่อกระตุ้นอารมณ์เพศ
     

2. การล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ถูกเนื้อต้องตัว ได้แก่
 

  • การจ้องมองของสงวน
  • การโชว์ภาพโป๊ หรือภาพที่ส่อไปในทางเพศ
  • การแอบดู แอบถ่ายภาพ ตามห้องลองเสื้อ ห้องน้ำ
  • การโชว์อวัยวะเพศ
  • การเผยแพร่ภาพถ่ายทางอินเทอร์เน็ต สื่อลามก คลิปวิดีโอ
  • ส่งข้อความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ในเชิงทางเพศ
     

3. การล่วงละเมิดทางเพศโดยการสัมผัส ได้แก่
 

  • การแตะต้องเนื้อตัวที่ไม่พึงประสงค์
  • การกระทำอนาจาร (การกระทำต่อเนื้อตัว หรือต่อร่างกายของบุคคลอื่น เช่น กอด จูบ ลูบ คลำ ร่างกาย เป็นการแสดงความใคร่ทางเพศ)
  • การขอมีเพศสัมพันธ์ การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ การข่มขืน
     

          หากมีผู้กระทำพฤติกรรมดังกล่าวในข้อใดข้อหนึ่งกับเด็ก จึงถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ และมีความผิดทางกฎหมายด้วย

ล่วงละเมิดทางเพศ

8 วิธีสอนลูกให้ปลอดภัย

ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

          1. สอนให้รู้จักร่างกาย บอกให้ลูกเรียนรู้เรื่องอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศ ช่วงที่เด็กเริ่มเรียกอวัยวะได้ ให้สอนเรียกอวัยวะเพศโดยใช้ชื่อที่เด็กเข้าใจ ไม่ต้องเป็นชื่อทางการ แต่เมื่อถึงวัยที่ลูกรู้ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียกด้วยคำที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า จะได้มีความเข้าใจตรงกัน อธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง


          2. บอกถึงพื้นที่ส่วนตัว บอกลูกว่าส่วนไหนบนร่างกายที่คนอื่นห้ามแตะต้องสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป โดยเฉพาะจุดต้องห้าม 4 จุด ได้แก่ ริมฝีปาก หน้าอก ก้น อวัยวะเพศหรือบริเวณระหว่างขา และเมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแลแนะนำ รวมถึงระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูกด้วย รวมถึงควรให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน เป็นต้น


          3. เน้นย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง ย้ำกับลูกเสมอว่าลูกมีสิทธิ์เป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของเขาเอง หากไม่ยอมให้สัมผัสส่วนไหน ไม่ว่าพ่อแม่หรือใครก็ไม่ควรจับ ยกเว้นในกรณีที่เด็กเจ็บป่วยหรืออยู่ในสภาวะที่ต้องได้รับการดูแล ทั้งนี้ หากใครมาสัมผัสแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ต้องกล้าบอกว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ


          4. สอนให้รู้จักปฏิเสธ ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มาสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกาย ต้องสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ พูดไปเลยว่า “ไม่ได้” และอาจส่งเสียงตะโกนหรือกรี๊ดดัง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ และวิ่งหนีออกไปยังที่ที่คนอยู่มาก ๆ

ล่วงละเมิดทางเพศ

          5. บอกสัมผัสที่ปลอดภัย สอนลูกว่าการสัมผัสแบบใดคือสัมผัสที่ปลอดภัย สามารถทำได้ เช่น สัมผัสของพ่อแม่ ญาติ พี่เลี้ยง ที่จำเป็นต้องช่วยลูกในการทำความสะอาดร่างกาย สัมผัสของแพทย์เพื่อตรวจรักษา หรือการสัมผัสของครูในวิชาเรียนบางอย่างอาจต้องมีการสัมผัสกันเล็กน้อย


          6. สอนลูกเอาตัวรอด สอนลูกว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้าที่มาคุย ถึงแม้คนเหล่านั้นจะเอาขนมหรือน้ำมาให้ก็อย่ากินเด็ดขาด หรืออ้างว่ารู้จักกับพ่อแม่ก็ตาม รวมถึงห้ามไม่ให้ไปในสถานที่ลับตาคนหรืออยู่ในห้องปิดกับใครแบบสองต่อสอง เช่น ห้องน้ำ ตรอก ซอก ซอย ที่สำคัญควรสอนลูกให้จดจำเบอร์โทรศัพท์และชื่อจริงของพ่อแม่เสมอ


          7. ไม่ใจอ่อนหรือปิดบัง กำชับลูกเสมอว่าไม่ว่าคนที่ทำลูกจะขอร้องหรือขู่อย่างไร หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ต้องบอกพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เชื่อใจทันที ห้ามปิดเป็นความลับ เพราะไม่มีใครทำอะไรลูกได้เด็ดขาด เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่สามารถปกป้องเขาได้


          8. พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาบรรยากาศสบาย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจตนเอง และความหมายการล่วงละเมิด สิทธิที่จะปกป้องตัวเอง หากลูกสงสัยจะได้ถามพ่อแม่ได้ตรง ๆ ไม่รู้สึกกดดันและเกิดความไว้วางใจ

สิ่งของที่ควรให้ลูกพกติดตัว

  • เด็กเล็ก ควรให้พกนกหวีด สำหรับใช้เป่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรฝึกให้ลูกรู้จักการวิ่งหนีเอาตัวรอด
  • เด็กโต ควรให้ลูกเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวเอาไว้


          ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศสามารถแก้ไขได้ หากทุกคนในสังคมหันมาเปลี่ยนแปลงความคิด อย่ามองเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจดูแลลูกมากขึ้น และปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงและแก้ไขไม่ให้การล่วงละเมิดลุกลามยิ่งขึ้นไปในอนาคต
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, parliament.go.th, thaichildrights.org, thepotential.org, เฟซบุ๊ก กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เรื่องที่ผู้ใหญ่ควรป้องกัน สอนลูกอย่างไรให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2564 เวลา 23:25:04 16,161 อ่าน
TOP
x close