x close

ช่วยหนูสู้ป่วย...ทุกฤดู

แม่และเด็ก

ช่วยหนูสู้ป่วย...ทุกฤดู
(รักลูก)
โดย: กุมภการ

           ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนฤดู บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็ปรับตัวไม่ทัน ถึงขั้นป่วยกันแบบไม่คาดคิดก็บ่อยไป ยิ่งในปัจจุบันที่สภาพอากาศปรวนแปร คุณพ่อคุณแม่ก็อาจเกิดอาการร้อน ๆ หนาว ๆ กลัวเจ้าตัวน้อยจะปรับตัวไม่ทันพาลป่วยไข้ไม่สบายไป แล้วจะต้องระวังโรคอะไร รับมืออย่างไรในแต่ละฤดู มีคำตอบมาฝากค่ะ

ฤดูเปลี่ยน...โรคต่าง

           ความแตกต่างของสภาพอากาศในแต่ละฤดู ทั้งร้อน เย็น หรือชื้น ทำให้โรคที่พบมีความแตกต่างกันไปด้วย ความจริงแล้วทุกโรคสามารถพบได้ทุกฤดูนะคะ แต่บางโรคจะพบได้บ่อยในบางฤดู คือ

           ฤดูร้อน ส่วนใหญ่จะพบโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เพราะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิสูง ๆ โรคที่พบได้บ่อย คือ

           โรคท้องเสีย เกิดจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน หากลูกท้องเสียจะมีอาการปวดท้อง มีไข้ อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีมูกเลือดปนออกมาขณะถ่าย และที่ต้องระวังคือภาวะขาดน้ำ ดังนั้น หากลูกท้องเสียควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่ และพาไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ เพราะอาจต้องให้น้ำเกลือค่ะ

           ผดผื่นคัน พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนทำให้เหงื่อออกมาก ลูกจึงรู้สึกคัน และถ้าเขาเกามากก็อาจจะเป็นแผลพุพองตามมาค่ะ การป้องกันคือเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เมื่อลูกมีผดผื่นคันควรอาบน้ำให้ลูกบ่อยขึ้น ใช้คาลาไมน์ทาบรรเทาอาการ แต่หากลูกคันมากโดยเฉพาะในเด็กอ้วน ควรพาไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูว่าเกิดจากเชื้อราหรือไม่ เพราะต้องรักษาโดยการใช้ยาค่ะ

           หน้ามืดเป็นลม บ้านไหนที่ลูกอยู่ในวัยซุกซนหรือชอบเล่นกลางแจ้งต้องระวังค่ะ เพราะการตากแดดนานๆ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ เพราะร่างกายขาดน้ำ วิธีป้องกัน คือ ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ ค่ะ

           ฤดูฝน ส่วนใหญ่โรคที่เกิดในฤดูนี้จะเป็นโรคที่สัมพันธ์กับแหล่งน้ำ เพราะมักมีน้ำขังและมียุงเกิดมากขึ้น ตลอดจนมีไวรัสบางประเภทที่มักจะระบาดมากในช่วงหน้าฝน โรคที่พบได้บ่อย คือ

           โรคหวัด ทั้งหวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อลูกเป็นหวัดจะมีอาการไอ มีน้ำมูก อาจมีไข้ หายใจครืดคราด บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เป็นหูน้ำหนวกด้วย หากลูกเป็นไข้หวัดหลังจากรักษาตามอาการประมาณ 3-7 วัน ส่วนใหญ่อาการไข้จะค่อยๆ ทุเลาลงค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ ในช่วงที่เป็นหวัด เพราะน้ำจะช่วยละลายเสมหะ ละลายน้ำมูกออกมาได้ดีค่ะ

ระวัง! หวัดลงปอด

           หากลูกมีอาการเป็นหวัด และไม่หายภายใน 3-7 วัน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกนะคะ หากลูกไอมากจนนอนไม่ได้ หายใจไม่ปกติ หอบ มีไข้ มีอาการจมูกบาน หน้าอกบุบ ซึม ต้องพาไปหาคุณหมอค่ะ

           แผลจากยุงกัด เด็กบางคนมีอาการแพ้ยุง เมื่อถูกยุงกัดจะเป็นผื่น บวม มีอาการคันมากผิดปกติ เมื่อเด็กเกามาก ๆ ก็จะกลายเป็นแผลถลอก ซึ่งหากมือสกปรกเชื้อโรคก็จะผ่านเข้าไปยังแผลนั่นเองค่ะ หากลูกถูกยุงกัด และยังไม่ได้เกาจนเป็นแผลถลอก อาจใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ป้าย เพื่อลดอาการคัน แต่หากลูกเกาจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อ ควรล้างแผลให้สะอาดโดยใช้สบู่อ่อน ๆ และพาไปหาคุณหมอเพื่อรับยาฆ่าเชื้อค่ะ

           นอกจากนั้น ในช่วงฤดูฝนควรระวังสัตว์มีพิษต่าง ๆ ที่อาจหนีน้ำหรือเกิดมากขึ้น และอาจมากัดหรือต่อยลูกได้ค่ะ

           ฤดูหนาว ส่วนใหญ่โรคที่พบจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจค่ะ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกับในช่วงฤดูฝน และมีโรคอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย คือ

           ไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัส เช่น อีสุกอีใส ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกฤดู แต่จะเกิดในช่วงฤดูหนาวได้มากที่สุด หรืออาจเป็นหัด หัดเยอรมัน ซึ่งหากพาลูกไปรับวัคซีนแล้วก็จะไม่เป็นค่ะ

           ไวรัสลงกระเพาะ หรือติดเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร จะมีอาการท้องเสีย บางคนก็อาเจียน ถ่ายไม่เหลว โรคนี้สามารถพบได้ทุกฤดูเช่นกันค่ะ แต่จะพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน เพราะอากาศเย็นและชื้น ทำให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ดี หากลูกติดเชื้อไวรัสลงกระเพาะควรพาไปพบคุณหมอค่ะ

How to สู้ป่วย

           คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ป่วยง่าย ไม่ว่าจะเป็นฤดูใดก็ตาม ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ

ลูกเล็ก

           ให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกค่ะ

           พาลูกไปฉีดวัคซีนตามตาราง อาจเลือกฉีดวัคซีนทางเลือกตามความเหมาะสม และการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่แต่ละท่าน

           หลีกเลี่ยงการพาลูกไปยังสถานที่ที่มีความแออัดมาก ๆ เพราะทำให้ลูกมีโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้มาก

           เตรียมอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ ๆ ให้ลูก

ลูกวัยเรียน

           สอนให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ไม่ว่าจะฤดูไหนก็ตาม เพราะมือเป็นตัวนำเชื้อ เพียงแค่เขาไปเล่นของเล่น ไปจับของ จับมือเพื่อน ซึ่งอาจมีเชื้อโรคอยู่ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

           หากลูกมีอาการไอ จาม ควรสอนให้ลูกปิดปาก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนป่วย เพราะอาจมีอาการไอ จาม ทำให้ลูกติดเชื้อโรคได้

           หากกลับจากข้างนอกซึ่งอากาศร้อน เข้ามาในบ้านเจอห้องแอร์เย็น ๆ อาจต้องหาเสื้อใส่ให้ลูกเพื่อเพิ่มความอบอุ่น โดยเฉพาะบริเวณลำคอค่ะ

           ด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อนแต่ได้ผลอย่างการรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ บวกกับความรักและความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่มีให้เจ้าตัวเล็กทุกวันไม่ว่าจะฤดูไหน ก็ทำให้เขาเติบโตแข็งแรงปราศจากโรคแล้วล่ะค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ช่วยหนูสู้ป่วย...ทุกฤดู โพสต์เมื่อ 29 มีนาคม 2554 เวลา 11:16:50
TOP