x close

ลูกติดดูดนิ้ว ทำไงดี ชวนแก้ปัญหาสุดกลุ้ม ด้วย 10 วิธีช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้ว

          ลูกติดดูดนิ้ว ทำไงดี ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจ เพราะไม่อยากให้ ลูกดูดนิ้ว จนติดเป็นนิสัย มาดูกันว่า ทำไมทารกชอบดูดนิ้ว พร้อมหาวิธีที่ทำให้ลูกเลิกดูดนิ้วกันเถอะ
วิธีเลี้ยงลูก

          พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เรามักจะเห็นบ่อย ๆ ในเด็กเล็ก คือ ดูดนิ้ว ตอนที่ยังเป็นทารกก็น่ารักดี แต่เมื่อโตขึ้นจนวัยเข้า 3-4 ขวบแล้ว ถ้าลูกยังไม่เลิกดูดนิ้วก็จะกลายเป็นปัญหากลุ้มใจของคุณพ่อคุณแม่ กลัวว่าลูกจะได้รับเชื้อโรคจากนิ้วมือ อาจจะทำให้ฟันเหยิน รวมไปถึงเสียบุคลิกได้ กระปุกดอทคอมจึงขอมาช่วยแก้ไขปัญหา ลูกติดดูดนิ้วทำไงดี รวมถึงแนะนำ วิธีเลี้ยงลูก เพื่อให้ลูกน้อยเลิกนิสัยติดดูดนิ้ว

ทำไมเด็กชอบดูดนิ้ว

          การดูดนิ้วของเด็กนั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ ไปจนถึงอายุ 6 เดือน แต่บางรายอาจจะนานถึงตอนอายุ 1 ขวบ ซึ่งยังถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่ การดูดนิ้วของเด็ก ๆ อาจทำเพราะรู้สึกเบื่อ เพื่อความสบายใจ ปลอบประโลมใจตัวเอง เหมือนการดูดนิ้วเป็นเซฟโซน แต่ถ้าลูกน้อยเริ่มดูดนิ้วนานไปจนถึง 3-4 ขวบ ร่วมกับมีอาการวิตกกังวล และดูดนิ้วทุกครั้งที่ถูกดุ เพื่อเป็นการปลอบใจตัวเอง แสดงว่าเขาเริ่มมีปัญหาทางสภาพจิตใจแล้ว พ่อแม่ต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด

ลูกดูดนิ้ว ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

          ถ้าเป็นในวัยทารกที่ยังไม่ประสีประสา หรือยังไม่ใช่วัยเรียนรู้ที่ต้องหยิบจับอะไรต่าง ๆ เพื่อเสริมพัฒนาการ การดูดนิ้วคือเรื่องปกติและยังไม่ส่งผลเสีย แต่หากลูกเริ่มโตขึ้น ร่างกายเริ่มมีพัฒนาการแล้ว การดูดนิ้วอาจส่งผลเสีย ดังนี้

1. ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เสี่ยงป่วยได้

          เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็กหยิบจับนั้นเต็มไปด้วยเชื้อโรคและแบคทีเรีย เมื่อเด็กเอานิ้วมือเข้าปาก ก็เท่ากับว่านำเชื้อโรคเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายโดยตรง เสี่ยงทำให้ป่วยไข้ จนไปถึงมีอาการท้องเสียได้

2. ทำให้ฟันไม่เรียงกันตามธรรมชาติ

          การดูดนิ้วจะทำให้เกิดแรงกดที่ด้านข้างของขากรรไกรบนและเนื้อเยื่ออ่อนบนเพดานปาก ส่งผลให้กรามบนแคบลง ทำให้ฟันบนและฟันล่างไม่สบกัน ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างฟันเมื่อฟันแท้ขึ้น และต้องจัดฟันเมื่อโตขึ้น
วิธีเลี้ยงลูก

3. เล็บอาจจะเกิดเชื้อรา

          เพราะเล็บและนิ้วของเด็กโดนความชื้นจากน้ำลายตลอดเวลา และความชื้นนี้อาจจะก่อให้เกิดเชื้อราในเล็บได้

4. เสียบุคลิกภาพ

          แน่นอนว่าถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากปล่อยให้ลูกดูดนิ้วจนโต จะทำให้ลูกดูเป็นคนขาดความมั่นใจและเสียบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก

10 วิธีแก้ปัญหาลูกติดดูดนิ้ว

          การดูดนิ้วเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลของเด็ก ๆ ดังนั้น การบังคับ หรือห้ามไม่ให้ลูกดูดนิ้ว ถือว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรุนแรงและทำร้ายจิตใจของพวกเขาพอสมควร คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาวิธีประนีประนอมเพื่อให้ลูกน้อยค่อย ๆ ลดและเลิกพฤติกรรมดูดนิ้วไปเอง โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้

1. จำกัดเวลาให้ลูกดูดนิ้วแค่เวลาอยู่ที่บ้านหรือห้องนอน

          ตกลงกับลูกดี ๆ ว่า “หนูดูดนิ้วได้นะ แต่ดูดเฉพาะตอนอยู่ที่บ้าน เวลานอนเท่านั้น” เพื่อที่ลูกจะได้ฝึกวินัยในตัวเอง ไม่ดูดนิ้วตลอดเวลา แต่สามารถดูดนิ้วได้ตามข้อตกลง ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมการดูดนิ้วของเด็ก ๆ ได้

2. อย่าบังคับ หรือดุลูก เมื่อลูกดูดนิ้ว

          พยายามอย่าดุเขา หรือบอกเขาว่า “ห้ามดูดนิ้ว” เพราะการห้ามจะทำให้เด็กยิ่งต่อต้าน เพราะเขาไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องเลิกทำ ลองเปลี่ยนจากการห้ามมาเป็นคำชมเมื่อเขาเว้นการดูดนิ้วนาน ๆ ได้ จะทำให้เขาเข้าใจว่าถ้าไม่ดูดนิ้วจะเป็นเรื่องดีและได้รับคำชม

3. ค่อย ๆ คุยและทำความเข้าใจกับลูกเรื่องการเลิกดูดนิ้ว

          อย่างที่บอกว่าอย่าห้าม แต่พูดคุยกับเด็ก ๆ ว่า “เมื่อไหร่ที่ลูกอยากเลิกดูดนิ้ว บอกแม่นะ แม่จะช่วย” การบอกแบบนี้เป็นการทำให้เขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าอยากเลิกเมื่อไหร่ โดยจะสังเกตจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจด้วย และเมื่อเขาพร้อม เขาจะเดินมาบอกคุณพ่อคุณแม่เองว่า “หนูไม่อยากดูดนิ้วแล้ว”

4. ชวนลูกเสพสื่อเกี่ยวกับการเลิกดูดนิ้ว

          คุณพ่อคุณแม่อาจจะอ่านนิทานให้ฟัง หรือพาลูกดูการ์ตูน ที่มีเนื้อหาว่าตัวเอกของเรื่องต้องเลิกดูดนิ้ว เพื่อให้ลูกเห็นว่าการเลิกดูดนิ้วจะส่งผลดีอย่างไร เด็ก ๆ จะรู้สึกว่าเขาอยากเหมือนตัวละครเอกของเรื่อง และจะพยายามเลิกดูดนิ้วด้วยตัวเอง
วิธีเลี้ยงลูก

5. สังเกตพฤติกรรมว่าลูกดูดนิ้วตอนไหน

          ถ้าเขาชอบดูดนิ้วก่อนนอน ลองหาวิธีอื่นที่ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น ให้ลูกดื่มนมอุ่น ๆ สักแก้วแทน หรือถ้าเขาดูดนิ้วเวลาที่โกรธหรือไม่สบายใจ ลองจับเข่าคุยกับเขา และหาวิธีฝึกสมาธิ ควบคุมอารมณ์อื่น ๆ มาลองสอนเขาดู

6. ใช้ Finger Guard

          เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์มากมายที่จะช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้ว บางชนิดเป็นพลาสติก บางชนิดเป็นถุงมือนุ่ม ๆ ที่สำคัญคือออกแบบมาเพื่อเด็ก จึงปลอดภัย แต่อาจจะต้องใส่ทีเผลอ เพราะถ้าเขารู้ตัว เขาอาจจะต่อต้านไม่ยอมใส่ได้

7. ลองเล่นบทบาทสมมติกับลูก

          ลองนำตุ๊กตาตัวโปรดมาพูดคุยกับลูก เช่น เจ้าหมีเท็ดดี้ต้องการจะเลิกดูดนิ้ว ลูกจะช่วยให้น้องหมีเลิกดูดนิ้วได้ไหม น้องหมีต้องการเพื่อนเลิกดูดนิ้วด้วยกัน ลูกทำได้ไหม เป็นการฝึกให้ลูกคิด และให้เขาทำตามอย่างเต็มใจ
วิธีเลี้ยงลูก

8. ลองทำสัญลักษณ์ในการช่วยเตือนเขา

          เมื่อตกลงได้แล้วว่าเขาจะพยายามเลิกดูดนิ้ว ลองทำสัญลักษณ์เล็ก ๆ บนนิ้วที่เขาชอบดูด อาจจะติดแทตทูที่ปลอดภัย หรือผูกโบเอาไว้ แต่ไม่ต้องผูกแน่นมาก เพื่อให้เขานึกขึ้นได้ทุกครั้งเมื่อจะยกนิ้วขึ้นมาดูด ว่าเขาต้องไม่ดูดนิ้ว

9. ห้ามใช้วิธีรุนแรง หรือแต้มอาหารรสจัด ๆ บนนิ้วลูก

          การทำแบบนี้จะทำให้เป็นปมในใจเด็ก ๆ ว่าพ่อและแม่ของเขาใจร้าย ที่จะไม่ให้เขาดูดนิ้วด้วยการทำร้ายเขา นอกจากส่งผลต่อจิตใจ ยังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเด็ก ๆ ด้วย

10. พาลูกไปหาหมอฟัน

          บางทีเด็ก ๆ อาจไม่เชื่อฟังพ่อแม่ แต่เชื่อคนอื่นมากกว่า ลองพาลูกไปหาหมอฟัน ให้คุณหมอบอกว่า การดูดนิ้วไม่ดีต่อฟันของเขายังไง ถ้าอยากมีฟันสวย ๆ ต้องดูแลปากและฟันยังไง หมอฟันเด็กจะมีวิธีเกลี้ยกล่อมที่ดีกว่าและทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากเลิกดูดนิ้วขึ้นมาได้

          การรับมือกับลูก ๆ ในวัยกำลังซนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องอาศัยความใจเย็น อดทน และต้องเข้าใจลูกมาก ๆ นะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthline.com, childrensmd.org, webmd.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกติดดูดนิ้ว ทำไงดี ชวนแก้ปัญหาสุดกลุ้ม ด้วย 10 วิธีช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้ว อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2564 เวลา 14:42:59 15,811 อ่าน
TOP