10 คำถามกับไวรัสลงกระเพาะ



10 คำถามกับไวรัสลงกระเพาะ
(modernmom)
โดย: รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์

            คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงคุ้นเคย หรือได้ยินชื่อโรคนี้กันอยู่บ่อย ๆ นะครับ เพราะหลายครั้งที่พาลูกไปหาหมอด้วยเรื่องไข้หวัด น้ำมูกไหล อาเจียน และบ่อยครั้งมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

            พอตรวจแล้วคุณหมอก็มักจะบอกว่าลูกเป็นโรคไวรัสหรือหวัดลงกระเพาะ ซึ่งบางครั้งอาการอาเจียน หรือท้องเสียก็รุนแรงมากจนทำให้ลูกทานนมหรืออาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำรุนแรง จนหมอต้องรับตัวลูกไว้รักษาในโรงพยาบาล และเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อยมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จนแทบจะพูดได้ว่าเด็กในวัย 5 ปีแรกทุกคนจะต้องเคยเป็นโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต จึงควรมาทำความรู้จักโรคนี้ เพื่อจะได้ทราบวิธีป้องกันและดูแลรักษาโรคนี้กันดีกว่าครับ

1. ไวรัสลงกระเพาะพบบ่อยในเด็กวัยใดและฤดูไหน?

            โรคไวรัสลงกระเพาะมักเป็นในฤดูหนาว พบบ่อยช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ มักจะเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี เพราะเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ต่ำ และมีพฤติกรรมชอบเอาของเข้าปาก

2. สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคไวรัสลงกระเพาะ?

            โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เกิดจาก ไวรัสโรตา (Rotavirus) พบได้ถึงร้อยละ 16 ถึง 58 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคท้องเสีย ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โรคนี้ติดต่อได้ง่ายโดยเฉพาะทางปาก จาก อาหาร ของเล่น หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบตัว เช่น เชื้อไวรัสจากคนที่ป่วยท้องเสียจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ หากขับถ่ายไม่เป็นที่และกำจัดอุจจาระไม่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อโรคออกมาปนเปื้อนกับสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเด็กหยิบของนั้นเข้าปาก หรือเชื้อโรคติดกับมือคนที่ดูแลเด็กโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ก็จะทำให้เด็กได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไป

3. อาการของโรคไวรัสลงกระเพาะ?

            หลังจากเด็กได้รับเชื้อประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มต้นด้วยการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียนและมักจะตามด้วยอาการปวดท้อง ท้องเสียถ่ายอุจจาระเหลว บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย ซึ่งโดยทั่วไปอาการไข้และอาเจียนมักจะหายเองภายใน2-3วันส่วนอาการท้องเสีย มักเป็นอยู่ประมาณ 3-9 วัน

4. ความรุนแรงและอันตรายของโรค?

           อาการอาเจียนและท้องเสียนั้น เด็กบางคนอาจมีอาการไม่รุนแรงเพียงดูแลตามอาการก็จะ ดีขึ้นจนหายไปได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรง จนทำให้กินอาหารไม่ได้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง จนต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะหากให้น้ำเกลือไม่ทัน อาจจะรุนแรงจนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต เพราะภูมิต้านทานน้อยและตัวเล็กกว่า

นอกจากนี้ในรายที่เป็นรุนแรง เชื้อไวรัสโรตาจะทำลายเยื่อบุลำไส้ทำให้ลำไส้ขาด ส่งผลให้น้ำย่อยที่ใช้ย่อยน้ำตาลแล็กโตสในนมไม่ทำงาน ทำให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้น ถ่ายเหลว ท้องอืด เวลาถ่ายจะมีแก๊สหรือลมออกมาด้วยหลังจากเด็กกินนมไปไม่นาน และผิวหนังบริเวณก้นรอบทวารหนักจะมีผื่นแดง ถ้ายังให้เด็กกินนมตามปกติ จะยิ่งทำให้มีอาการท้องเสียเรื้อรังไม่หาย และเป็นโรคขาดอาหารได้ ดังนั้นการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกหายเร็วไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง จนเกิดผลเสียหรืออันตรายต่อชีวิต

5. วิธีดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้านก่อนพาลูกไปหาหมอ?

           ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย อาจจะเป็นชนิดน้ำหรือผงเกลือแร่ ไม่ควรใช้น้ำอัดลมและน้ำเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬาผสม เพราะปริมาณน้ำตาลเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ควรให้ลูกจิบ-ดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ และไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ครั้งละมาก ๆ เพราะอาจทำให้ลูกอาเจียนมากขึ้น

6. ให้ลูกกินอาหารและนมอย่างไรดีเมื่อลูกอาเจียนและท้องเสีย?

           หากเด็กที่มีอาการท้องเสียไม่มาก ควรให้กินอาหารและดื่มนมตามปกติและไม่ควรเจือจางนม เพราะจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่วนเด็กที่ท้องเสียอย่างรุนแรง ควรให้กินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก แต่ถ้ามีอาการอาเจียนควรให้กินอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อไม่ให้กระเพาะ ตึงและช่วยลดอาการอาเจียนลงได้ ควรงดผัก ผลไม้ และน้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียมากขึ้น แต่กรณีที่ลูกไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโตสได้ หมอจะเปลี่ยนเป็นนมวัวหรือนมถั่วเหลืองแทนประมาณ 3-7วัน เพราะไม่มีน้ำตาลแล็กโตส เมื่อเด็กหายเป็นปกติแล้วก็สามารถกลับมากินนมชนิดเดิมได้

7. ไม่ควรให้ลูกกินยาประเภทใด?

           กรณีที่ลูกมีอาการปวดท้องและอาเจียน อาจให้ยาแก้ปวดท้อง หรืออาเจียนตามอาการได้ แต่ไม่ควรให้กินยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่ช่วยให้โรคนี้หายเร็วขึ้น แต่กลับจะมีผลเสียและผลข้างเคียงทำให้อาการท้องเสียมากขึ้น และหายช้าลง เพราะผลข้างเคียงจากยา เช่น Amoxycilin, Augmentin ส่วนยาแก้ท้องเสีย จะยิ่งทำให้เชื้อโรค หรือสารพิษคั่งค้างอยู่ในลำไส้นานขึ้น

8. เมื่อไหร่จึงควรพาลูกไปหาหมอ?

           หากอาการอาเจียน หรือท้องเสียไม่ดีขึ้น และลูกเริ่มมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ปากแห้ง กระหม่อมหรือเบ้าตายุบ ไข้สูง ซึมลง กระวนกระวาย หอบเหนื่อย ปัสสาวะน้อยลง หรืออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน เป็นเรื้อรัง เป็น ๆหาย ๆ ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือมีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจควรพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน

9. หมอทำอย่างไร เมื่อรับตัวเด็กท้องเสียไว้รักษาตัวที่โรงพยาบาล?

           เด็กที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย จนมีอาการขาดน้ำหรือเกลือแร่อย่างรุนแรง หมอจะรีบให้น้ำเกลือแร่เข้าหลอดเลือดดำ เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่นั้นให้สู่ภาวะปกติ จะตรวจอุจจาระเพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อโรคอะไรเพื่อจะได้ รักษาให้ถูกต้อง ตรวจเลือดเพื่อดูว่า ระดับเกลือแร่ในเลือดมีความผิดปกติมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ปรับความเข้มข้นของเกลือแร่ในน้ำเกลือให้เหมาะสม

           เมื่อเด็กพ้นภาวะวิกฤตฉุกเฉิน เช่น ภาวะช็อก ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หมอจะพิจารณาเริ่มให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ กินอาหารอ่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารปกติ และดื่มนม เช่น นมแม่ หรือนมชนิดเดิมตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากเด็กมีปัญหาไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโตสได้ จะพิจารณาให้นมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโตสแทนประมาณ 3-7 วัน เมื่ออาการถ่ายดีขึ้นจึงจะพิจารณาให้กลับมากินนมเดิมที่เคยทานอยู่ต่อไป

10. วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคไวรัสลงกระเพาะ? วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ได้แก่

           ขับถ่ายอุจจาระลงส้วมให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ให้ออกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสิ่งแวดล้อม ต้องล้างมือให้สะอาดหลังขับถ่าย

            ควรต้มหรือนึ่งขวดและจุกนมอย่างน้อย 5-10 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนใช้ทุกครั้ง และควรรับประทานอาหารที่สะอาดและสุกแล้ว

           ปัจจุบันเริ่มมีการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรตาแล้วครับ วัคซีนบางชนิดกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา บางชนิดอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ และบางชนิดเพิ่งได้รับการจดทะเบียน และเฝ้าติดตามประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และความปลอดภัยของวัคซีน คาดว่าคงจะมีการนำเข้ามาใช้ในอนาคต แต่ก่อนจะรอให้วัคซีนมา การป้องกันและดูแลลูกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 คำถามกับไวรัสลงกระเพาะ อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 12:41:44 140,391 อ่าน
TOP
x close