x close

อึ บอกสุขภาพเบบี้

แม่และเด็ก

“อึ” บอกสุขภาพเบบี้ (รักลูก)

          ระบบขับถ่ายของลูกเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากอุจจาระของลูกมีความผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่นำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ ฉะนั้น ทุกครั้งที่ลูกขับถ่าย คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตลักษณะอุจจาระและความถี่ไปพร้อม ๆ กัน

พัฒนาการการขับถ่าย

          0-2 เดือน : ขับถ่ายเป็นน้ำ เพราะช่วงวัยนี้กินนมเป็นหลัก

          3-4 เดือน : ถ่ายเป็นเนื้อมากขึ้น เพราะเริ่มกินอาหารเสริมลักษณะอุจจาระจะเป็นเนื้อนุ่มๆ และสามารถขับถ่ายได้สม่ำเสมอ เป็นเวลา ซึ่งในช่วงวัยนี้ลูกยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ แต่เป็นไปด้วย กลไกในร่างกาย คือทุกครั้งที่มีอาหารลงกระเพราะ ประมาณ 20 นาที ลำไส้จะบิดตัวทำให้ขับถ่ายได้ ซึ่งอาการแบบนี้จะลดลงในช่วงอายุ 12-15 เดือน

          1 ขวบ 3 เดือน : เริ่มควบคุมการขับถ่ายได้เริ่มรับรู้ถึงอาการปวดถ่าย ซึ่งลูกอาจยังบอกไม่ได้ แต่จะแสดงทางสีหน้า ท่าทาง เช่น ชี้ก้นตัวเองเวลารู้สึกปวด

          หลังจากวัยนี้ พัฒนาการของลูกจะมีมากขึ้น จะรู้ว่าตัวเองปวดถ่ายแล้ว รู้สึกอั้นเป็น เพราะสามารถบังคับกล้ามเนื้อหูรูดตรงบริเวณทวารหนักได้ โดยพัฒนาการเรื่องนี้จะเห็นได้ชัดประมาณ 2-3 ขวบขึ้นไป

          นอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องทราบถึงพัฒนาการการขับถ่ายของลูกแล้ว เรื่องการฝึกให้ลูกขับถ่ายก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ

          สังเกตพัฒนาการลูกตามช่วงวัยว่าลูกสามารถนั่งยอง ๆ ได้หรือยัง เพราะแรก ๆ ของการฝึกลูกต้องนั่งกระโถน ถ้าลูกนั่งได้ช้าการฝึกขับถ่ายก็จะช้าตามไปด้วย

          คุณพ่อคุณแม่อย่ารีบเร่งฝึก เพราะเรื่องพวกนี้ต้องให้ลูกมีความสุขด้วยค่ะ หากไปเร่งหรือบังคับ ลูกอาจต่อต้านและกลายเป็นติดนิสัยอั้นอุจจาระได้

          เวลาที่เหมาะสมที่ควรฝึกลูกขับถ่ายคือช่วงเวลาเย็น ๆ เพราะเป็นช่วงไม่รีบเร่ง ลูกจะได้มีเวลาเบ่งถ่ายเต็มที่ ทั้งยังช่วยให้ลูกรู้สึกดีกับการขับถ่ายด้วย

          เวลาฝึกควรให้ลูกนั่งในพื้นที่ที่มั่นคง เช่น นั่งกระโถนที่เท้าวางถึงพื้น แต่ถ้านั่งบนชักโครกก็ควรจะหาเก้าอี้มารอง ให้ลูกรู้สึกว่าเท้าเหยียบถึงพื้น เพราะถ้าต้องนั่งเท้าลอยลู กอาจจะรู้สึกกลัวได้ ที่สำคัญการมีเก้าอี้ให้ลูกรองเท้าตอนนั่งถ่าย ยังเป็นการเพิ่มแรงเหวี่ยงทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้นด้วย

          ไม่ควรให้ลูกนั่งถ่ายทันที เพราะหากจับถอดกางเกงแล้วให้นั่งเลย ลูกอาจรู้สึกเย็นก้นได้ ซึ่งอาจทำให้ลูกตกใจจนปฏิเสธ ฉะนั้นควรค่อย ๆ ถอดให้หลุดทีละชิ้นให้ลูกชินก่อนแล้วค่อยนั่ง

          ให้คำชมเชย เมื่อลูกถ่ายได้และพยายามอย่าตำหนิลูก ไม่เช่นนั้น ลูกอาจต่อต้านได้

          หากลูกไม่ยอมถ่าย หรืองอแงทุกครั้งที่จะถ่าย ให้ดูรอบก้นลูกว่ามีแผลหรือไม่ เพราะถ้าหากมีแผล ลูกอาจรู้สึกเจ็บเลยไม่อยากถ่าย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

          ควรฝึกลูกให้ขับถ่ายไม่เกินอายุ 4 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่สร้างนิสัยการขับถ่ายกับลูกได้ดีที่สุด

4 สัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง

          1. สี สีที่เป็นอันตรายที่สุดคือสีซีดเหมือนสีขี้เถ้า เพราะอาจบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงทางระบบลำไส้ได้

          2. ความถี่ หากลูกถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน แสดงว่าอาจมีอาการท้องเสีย ต้องรีบพาไปพบแพทย์

          3. ลักษณะอุจจาระ หากถ่ายเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือเป็นเม็ด ๆ แสดงว่าท้องผูก แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำสีดำ ๆ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจมีการติดเชื้อเกิดขึ้น

          4. อาการอื่น ๆ หากลูกมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คันก้น หรือสังเกตเห็นพยาธิ ให้รีบพาไปพบแพทย์เช่นกัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 335 ธันวาคม 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อึ บอกสุขภาพเบบี้ อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 13:18:13 5,901 อ่าน
TOP