ชวนรู้ ระบบขับถ่าย ของลูกน้อย (modernmom)
การจะดูแลลูกน้อยให้เติบโตแข็งแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลเรื่องอาหารการกินให้เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อระบบการย่อยและขับถ่ายของลูกด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วลูกอาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย และอารมณ์ของลูกน้อยตามมาได้เช่นกัน
0-6 เดือน ยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
โดยส่วนใหญ่แล้วลูกน้อยวัยนี้จะยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ การขับถ่ายจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เมื่อไรที่กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตอนปลายเต็ม กล้ามเนื้อหูรูดจะเปิดออกทันที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกขับถ่ายบ่อยมากในช่วงเดือนแรก ๆ คือปัสสาวะประมาณวันละ 10 ครั้งต่อวัน และถ่ายอุจจาระประมาณ 8-10 ครั้งต่อวัน และค่อย ๆ ลดจำนวนลงเมื่อระบบขับถ่ายพัฒนาขึ้น
อาหารสำหรับเด็กวัยนี้คือนมแม่ เพราะนอกจากจะมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกายอย่างครบถ้วนแล้ว น้ำนมแม่ยังส่งผลดีต่อระบบขับถ่ายของลูกน้อยด้วยหลายประการทีเดียว นับตั้งแต่หัวน้ำนม ซึ่งจะช่วยในการขับขี้เทา (อุจจาระที่มีลักษณะเหนียวสีเขียวเข้มเกือบดำ) ออกจากร่างกายลูกภายใน 2-3 วันแรกหลังคลอด และหากลูกได้รับนมแม่อย่างเดียวอย่างเพียงพอ อุจจาระก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนสีมาเป็นสีเหลืองนิ่ม ๆ ภายในสัปดาห์แรก
คุณแม่อาจเข้าใจผิดคิดว่าลูกท้องเสีย เพราะลักษณะอึจะนิ่ม ๆ ค่อนไปทางเหลว อันนี้ไม่ต้องตกใจ เพราะว่าในน้ำนมแม่ มีส่วนประกอบที่ทำให้ระบบขับถ่ายของลูกไม่ต้องทำงานมากนัก เช่น มีเวย์โปรตีนที่ย่อยง่าย มีน้ำตาลแลกโตส และโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี ทั้งยังมีฮอร์โมนพรอสตาแกลนดินที่ช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวเร็ว
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ระบบขับถ่ายของลูกทำงานได้ดี เพียงคุณแม่สังเกตว่า ถ้าลูกถ่ายเหลว บางครั้งเป็นฟองนิ่มหรือมีเมือก แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น ลูกร่าเริงแจ่มใสดี และน้ำหนักไม่ลดก็ถือเป็นปกติ
พอลูกประมาณ 3 เดือนไปแล้ว ระบบการย่อยและลำไส้ของลูกค่อย ๆ ทำงานดีขึ้น สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ จากน้ำนมแม่ได้ดี อีกทั้งกระเพาะก็ใหญ่ขึ้นด้วย จึงทำให้ลูกถ่ายอุจจาระน้อยลง เหลือประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน
สำหรับหนูน้อยที่ได้รับนมผสม เนื่องจากคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ลูกน้อยก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการท้องผูกท้องเสียได้ง่ายกว่า ซึ่งคุณแม่ต้องพิถีพิถันในการชงนม โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและสัดส่วนนมกับน้ำที่เหมาะสมด้วย ทั้งนี้เพราะในนมผสมมีอันตราโปรตีนและน้ำตาลมาก ทำให้ย่อยได้ยากกว่านมแม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากคุณแม่ชงนมข้นไป หรือให้ลูกกินน้ำน้อยไป ลูกก็สามารถท้องผูกได้ง่าย ๆ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับเจ้าตัวน้อย หากต้องเบ่งหน้าดำหน้าแดง และร้องไห้โยเยกันทุกครั้งและกลายเป็นความฝังใจได้เช่นกัน
ด้วยสภาพร่างกายของเด็กโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหูรูด ที่มีไว้เพื่อบังคับการขับถ่ายยังพัฒนาอยู่ จึงทำให้ทารกแรกเกิด-5 เดือน ยังมีระบบขับถ่ายไม่ดีนัก และยังไม่สามารถขับถ่ายได้เป็นเวลาและสม่ำเสมอ
6-12 เดือน พร้อมย่อยอาหารแล้ว
ระบบขับถ่ายและระบบการย่อยอาหารของลูกเริ่มดีขึ้น และบางคนเริ่มขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลาและสม่ำเสมอบ้างแล้ว ที่สำคัญเขาพร้อมที่จะรับอาหารเสริมได้แล้ว แต่นมยังเป็นอาหารหลักสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรกอยู่ค่ะ
การให้อาหารเสริมแก่ลูกน้อยในช่วงวัยนี้ จะช่วยพัฒนาระบบย่อยและดูดซึมอาหารตลอดจนมีกากใยอาหาร ซึ่งจะช่วยในระบบขับถ่ายของลูกให้ดีได้ โดยเริ่มจากอาหารเสริมที่มีลักษณะเหลวแต่ข้นกว่าน้ำนิดหน่อย เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยกับอาหารแล้วค่อยเพิ่มความข้นขึ้นทีละน้อย เช่น ข้าวตุ๋น ฟักทองบด กล้วยน้ำว้าบดละเอียด และผลไม้ครูด ตับบด ปลาบด ข้าวสวยบดหยาบ เมื่อฟันของลูกเริ่มขึ้นนั่น หมายถึงเขาพร้อมที่จะเคี้ยวอาหารที่หยาบขึ้น คุณแม่อาจจะหาพวกขนมปังกรอบ ผักผลไม้อย่าง แตงกวา แอปเปิ้ล ชมพู่ ให้ลูกถือกัดแทะร่วมด้วยได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการคันเหงือกแล้ว ผักผลไม้ยังมีกากใยช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นไปด้วยดีอีกด้วยค่ะ อ้อ...ที่สำคัญคือ น้ำผลไม้คั้นสด ๆ เช่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล ซึ่งอุดมด้วยวิตามินและจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบขับถ่ายของลูก
หลักง่าย ๆ ในการให้อาหารเสริมแก่ลูก คือ ให้น้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเมื่อลูกคุ้นเคย แต่ถ้าสังเกตว่าลูกไม่ชอบก็อย่าไปบังคับให้เว้นระยะไปสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วค่อยลองใหม่
นอกจากปัจจัยเรื่องอาหารที่เอื้อต่อระบบการย่อย และขับถ่ายของลูกน้อยแล้ว การออกกำลังกาย ขยับแข้งขยับขาให้ลูกน้อย หรือแม้กระทั่งการนวดสัมผัส ก็สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยเสริมให้การย่อยและระบบขับถ่ายของลูกดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
Note
หากเลยช่วง 2-3 วันไปแล้ว ลูกยังไม่ถ่ายขี้เทาเสียที ควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากลำไส้อุดตันได้ค่ะ หรือหากว่าเวลาผ่านไป 4-5 วันแล้ว ลูกยังถ่ายเป็นขี้เทาอยู่ เป็นสัญญาณว่าลูกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ คุณแม่ควรหมั่นให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนม อย่างถูกวิธี และตัวคุณแม่เองก็ควรกินอาหารที่ช่วยเสริมให้น้ำนมมาเร็วขึ้น เช่น แกงเลียงใส่หัวปลี ไก่ผัดขิง ต้มจืด หรือใบกะเพราด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.15 No.181 พฤศจิกายน 2553