เซฟตี้ไลฟ์...เซฟภัยใกล้ตัวลูกน้อย

แม่และเด็ก

เซฟตี้ไลฟ์...เซฟภัยใกล้ตัวลูกน้อย
(M&C แม่และเด็ก)

          ในช่วงวัยใกล้ 2 – 3 เดือนสุดท้ายของขวบปีแรก นับเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยม๊ากมากค่ะ เพราะเป็นวัยที่ลูกกำลังหัดเดินนั่นเอง เขาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น

          แต่สิ่งที่เพิ่มตามมาด้วยก็คือ ความอยากรู้อยากเห็น หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า "อินเดียน่าโจนส์ตัวน้อย" ที่ผจญภัยได้อย่างอิสระเพื่อสำรวจสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรับมืออย่างเร่งด่วนค่ะ ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้าน เพื่อรับประกันความปลอดภัยของลูกน้อยนั่นเอง

เซฟตี้ไลฟ์..เซฟตี้เซฟ ลูกน้อยจากภัยในบ้าน

          ธรรมชาติที่ซุกซนของลูกน้อยมักเริ่มต้น สำรวจจากด้านบนค่ะ อาจจะเริ่มด้วยการดันตัวเองขึ้น และชอบปีนป่ายสิ่งของต่างๆ ภายในบ้าน ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามตรงจุดนี้ และเพื่อที่จะได้เห็นมุมมองเช่นเดียวกับลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจลองคลานสี่เท้าไปรอบๆ บ้านเพื่อจะได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้นก็ได้ค่ะ

          1. ปิดปลั๊กไฟ ควรระมัดระวังปลั๊กไฟต่าง ๆ ให้ดี อาจเลือกใช้ปลั๊กนิรภัยเสียบครอบปลั๊กไฟที่มีความแข็งแรงพอที่เด็กจะไม่ สามารถใช้มือดึง หรือใช้นิ้วมือแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟได้

          2. การจมน้ำ สำคัญเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้อยนั่งเล่นน้ำเอง และที่สำคัญไม่ควรเผลอ หรือปล่อยให้เด็กเล่นน้ำคนเดียวเด็ดขาด

          3. บุกันกระแทกเครื่องใช้ต่าง ๆ ควรระมัดระวังข้าวของเครื่องใช้ที่อาจก่ออันตรายให้ลูก เช่น ตรงมุมโต๊ะ เหลี่ยมเสา รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ของมีคมทั้งหลาย โดยหาผ้านิ่ม ๆ มาพันเอาไว้ก็ได้ค่ะ

          4. ติดตั้งประตูนิรภัย โดยกั้นทางขึ้นและลงบันได หรือประตูออกไปนอกบ้านคงต้องติดประตูนิรภัยกั้นเอาไว้ รวมทั้งห้องที่เด็กไม่ควรเข้าด้วยค่ะ

          5. ต้นไม้ที่อาจเป็นพิษ เคลื่อนย้ายไม้ดอกและไม้ประดับทุกชนิดให้ห่างไกลจากมือเด็ก ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบกำจัดเศษใบไม้ทันทีที่เห็น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยหยิบมันใส่ปากค่ะ

          6. ชั้นวางสิ่งของ ควรยึดชั้นหนังสือ หรือชั้นวางทีวี หรือชั้นเก็บของต่าง ๆ ให้ติดแน่นกับผนังห้องค่ะ ถ้าลูกน้อยใช้มันช่วยดันตัวขึ้น เขาอาจดึงเฟอร์นิเจอร์มาล้มทับตัวเองหากมันไม่มั่งคงพอ

          7. บ้านสะอาดไร้กังวล ทำความสะอาดพรม หรือพื้นห้องอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดฝุ่นผงและเศษสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจติดคอเด็ก

          8. เก็บสิ่งของอันตราย เก็บไม้ขีดไฟ สารเคมี แอลกอฮอล์ ถุงพลาสติก และวัตถุมีคมในลิ้นชักที่ปิด ล็อกมิดชิด เก็บซ่อนของชิ้นเล็ก ๆ ที่ลูกน้อยอาจกลืนติดคอ เช่น กระดุม ลูกแก้ว เหรียญ คลิปกระดาษ เป็นต้นค่ะ

          9. ผ้าม่าน ม้วนขดสายดึงผ้าม่าน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการถูกรัดคอลูกน้อย จนหายใจไม่ออก

          จากข้อมูลการวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในแต่ละปีประมาณ 3,300 ราย โดยการจมน้ำเป็นอันดับหนึ่ง 1,500 รายต่อปี ส่วนสาเหตุอื่นที่รองลงมา เช่น อุบัติเหตุจากการจราจร การตกจากที่สูง ของหล่นทับ กระแสไฟฟ้า การขาดอากาศหายใจ ไฟน้ำร้อนลวก เป็นต้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เซฟตี้ไลฟ์...เซฟภัยใกล้ตัวลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 13:51:55 1,319 อ่าน
TOP
x close