กลเม็ดกำหลาบ “โคลิค” ให้อยู่หมัด (M&C แม่และเด็ก)
แง ! แง ! แง ! โอ๋ ๆๆ หยุดร้องน้า คนดี..คำปลอบโยนง่าย ๆ เวลาเบบี๋ออกฤทธิ์ออกเดช แต่กับเจ้าโคลิคตัวแสบแล้ว เห็นจะหยุดอาการร้องไห้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยกันลำบาก เล่นเอาคุณพ่อคุณแม่ต้องใช้กำลังภายในหลายกระบวนท่า กว่าจะปราบอาการร้องไห้ได้อยู่หมัด แต่เอ..รู้หรือยังคะ ว่าร้องอย่างไร เขาถึงเรียกว่า "โคลิค"
อย่างนี้สิ ถึงเรียกว่า "โคลิค"
โรคร้องโคลิค หรือที่คนไทยมักเรียกว่า "ร้องร้อยวัน" มักเกิดขึ้นกับเบบี๋วัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือนค่ะ ทางการแพทย์ระบุว่า พบได้ทั้งเบบี๋ชายและหญิงในอัตราสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากนัก คือร้อยละ 20 - 30 ของเบบี๋แรกเกิดมักจะร้องโคลิค
ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มร้องโคลิคเมื่ออายุได้ 2 – 4 สัปดาห์ และรุนแรงขึ้นประมาณช่วงอายุ 6 – 8 สัปดาห์ โดยส่วนมากแล้วมักจะร้องช่วงเวลาเย็น ๆ ร้องเวลาไหนเวลานั้น แต่อาจจะไม่ทุกวัน แล้วแต่กรณีไป ก่อนจะหายไปเองเมื่ออายุ 3 เดือน...
ที่มาที่ไปของเจ้าโคลิค
ส่วนสาเหตุนั้น ทางวิทยาศาสตร์เขายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร บ้างก็ว่า เด็กปวดท้อง เพราะพัฒนาการทางลำไส้ยังไม่สมบูรณ์ บ้างก็ว่า เกิดจากแพ้โปรตีนของนมวัว หรืออาจมีแก๊สในกระเพาะมาก หรือเผลอกลืนลมเข้ามากจนเกินไป
ทั้งความเชื่อโบร่ำโบราณ บ้างก็ว่า เด็กร้องเพราะเห็นผี ถึงขนาดหยิบประเด็นทำเป็นหนังใหญ่กันแล้ว เรื่อง "โคลิค เด็กเห็นผี" หรือไม่ก็คุณพ่อคุณแม่ลองเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามคุณปู่คุณย่าดูว่า ตอนเด็กเคยเป็นหรือเปล่า..แต่จะเคยเห็นผีหรือเปล่านั้น สงสัยคงจำกันไม่ได้แน่ ๆ
ตัวเล็กร้องโคลิค ทำไงดีคะ
นั่นน่ะซิ แค่ได้ยินเสียงร้องเจ้าตัวเล็กก็จะบ้าตายแล้ว เชิญมาฟังทางนี้เลยค่า ก่อนจะหมดยาพาราไปหลายกระปุก ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ทำใจให้สบายไว้ก่อนค่ะ เพราะโคลิคไม่ใช่โรคร้ายแรง เมื่อถึงเวลาก็จะหายได้เองตามธรรมชาติค่ะ
ก่อนอื่นอาจปรึกษาคุณหมอว่า สาเหตุที่เด็กร้อง เกิดจากการติดเชื้อหรือเป็นโรคอย่างอื่นหรือเปล่าค่ะ ถ้าผลตรวจปรากฏว่าปกติ ก็ลองให้คุณแม่ที่ให้นมลูกเอง ลองสังเกตดูค่ะว่าอาหารที่กินแต่ละวันนั้น มีส่วนทำให้เบบี๋ร้องโคลิคหรือไม่ เช่น นมวัว กาแฟ อาหารบำรุงครรภ์หลังคลอดต่าง ๆ ถ้าหยุดได้อาการร้องก็จะหยุดไปเอง
ส่วนเจ้าตัวเล็กที่กินนมวัวผงผสม อาจจะลองเปลี่ยนสูตรของนมเป็นชนิดอื่นบ้าง หรือให้คุณหมอแนะนำก็ได้ค่ะ ซึ่งบางคนอาการดีขึ้นเมื่อใช้นมถั่ว เช่น โพรโซบี (Prosobee) ไอโซมิล (Isomil) หรืออัลซอย (Alsoy) หรือนมชนิดที่โปรตีนของนมวัวผ่านขบวนการย่อยสลายเสียก่อน
การปลอบโยนเมื่อเบบี๋ร้อง คุณแม่อาจร้องเพลง หรือถ้ากลัวเสียงไม่ดีจะพาลูกน้อยยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ก็ลองเปิดเพลงคลอเบา ๆ ท่ามกลางบรรยากาศห้องที่เงียบสงบ แสงสว่างน้อย ๆ โดยอาจลองใช้ผ้าห่อตัวเบบี๋เหมือนตอนที่ขดตัวอยู่ในท้อง หรืออุ้มนั่งบนเก้าอี้หรือเปลที่โยกได้ถ้ามี พอเบบี๋สบายใจก็จะหยุดร้องไปเองค่ะ
กรณีที่เบบี๋กินนมไปร้องไป จนถึงขั้นอาเจียน อาจลองใช้จุกนมหลอกเพื่อไม่ให้เด็กสำลักก็ได้ค่ะ โดยคุณแม่อาจทาน้ำหวานที่เป็นยาระบายลม ก็จะทำให้เขาหยุดร้องแล้วมาสนใจมาดูดของหวานแทน แต่ทั้งนี้การใช้จุกนมอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมติดจุกนมได้ค่ะ ควรใช้ให้พอเหมาะ
การวิจัยของมหาวิทยาลัยแพทย์บราวน์ และมหาวิทยาลัยการสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที่ได้รวบรวมงานวิจัยมากกว่า 30 เรื่อง พบว่า ควันบุหรี่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนของลำไส้ที่เรียกว่า "โมทิลิน" ให้ออกมามากขึ้นในเลือดและลำไส้ ซึ่งทำให้เกิดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ในเด็กทารก งานวิจัยสรุปว่า ควันบุหรี่จากผู้ปกครองที่ทารกได้รับ อาจมีความเกี่ยวข้องทำให้ทารกปวดท้องจนร้องไห้จนงอหาย หรือที่เรียกกันว่า "โคลิค"
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก