โรคติกส์ โรคทางจิตผสมโรคทางกาย

โรคติกส์ - แม่และเด็ก

โรคติกส์ โรคทางจิตผสมโรคทางกาย
(modernmom)
โดย: ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ

อีกโรคหนึ่งที่พ่อคุณแม่ควรรู้จัก

           ในบรรดาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนูจะเป็นโรคทางกายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าโรคทางกายจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ โรคทางจิตที่ผสมกับโรคทางกายก็สร้างความเจ็บไข้ให้กับเด็กเหมือนกัน เช่นเดียวกับชื่อโรคที่ดูไม่ค่อยคุ้นอย่าง โรคติกส์ หรือ Tices Disorders

รู้จักโรคติกส์

           โรคติกส์ (อ่านออกเสียงว่า "ติ๊ก") เป็นโรคหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก เพราะเป็นโรคที่พบบ่อย ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่ที่รู้จักลักษณะอาการของโรคนี้ จะสามารถสังเกตเห็น และพอจะวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ ซึ่งหากพบอาการแล้ว ก็สามารถที่จะพาลูกไปพบแพทย์เพื่อการตรวจรักษาได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับอารมณ์ จิตใจของเด็กที่อาจเกิดตามมาได้ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือได้รับการวินิจฉัยช้า

2 อาการบ่งบอกติกส์

           ลักษณะสำคัญของโรคติกส์ คือมีอาการกระตุกเร็ว ๆ ของกล้ามเนื้อมัดย่อย ๆ (Motor Tics) ที่บริเวณใบหน้า, คอ, ไหล่ เช่น เด็กอาจจะขยิบตา กระตุกมุมปาก ยักไหล่ สะบัดคอ เปล่งเสียงแปลก ๆ (Vocal Tics) ทำเสียงกระแอม เสียงฟุตฟิตทางจมูก เสียงคล้ายสะอึก

           สำหรับอาการจะเป็นแบบซ้ำ ๆ รูปแบบเดิมต่อเนื่องเป็นอาทิตย์ เดือนหรือปี ทำให้ดูเหมือนเด็กทำกิริยาแปลก ๆ ซึ่งโดยอาการที่เกิดขึ้นแล้วจะเป็นบ่อยมากชั่วโมงละหลายครั้ง หรือเด็กบางคนเป็นทุกนาที

           โรคติกส์มีลักษณะที่แปลกอย่างหนึ่งคือ คนที่เป็นจะสามารถบังคับหักห้ามอาการได้ช่วงระยะหนึ่ง (partial inhibition) แต่ก็ช่วงไม่กี่นาที พอเผลอก็จะกลับมากระตุกอีก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยิ่งไม่เข้าใจว่าเด็กคุมอาการได้แต่ไม่ยอมคุม ขณะที่ตัวเด็กเองก็จะงงตัวเองเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าฉันตั้งใจทำหรือเปล่า ฉันสมควรถูกดุหรือไม่

ติกส์แบ่งได้ 3 ชนิด ตามระดับความรุนแรง คือ

           โรคติกส์ชั่วคราว (Transient Tics) ระดับความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่วัยอนุบาลหรือประถมต้น ซึ่งจะพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 7-11 ปี จะมีอาการเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วจะหายได้เอง แต่อาจจะกลับมาเป็นอีกได้ อาการเมื่อกลับเป็นซ้ำอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ครั้งแรกมีอาการขยิบตา พอเป็นครั้งที่สองเปลี่ยนเป็นกระตุกมุมปาก เป็นต้น

           โรคติกส์เรื้อรัง (Chronic Tics) ระดับความรุนแรงมากขึ้น อาการจะเป็นเหมือนชนิดชั่วคราว แต่จะเป็นติดต่อกันนานเกิน 1 ปี ไม่หายไปง่าย ๆ บางคนเป็นจนโตหรือเป็นตลอดชีวิต

           โรคทูเรทท์ (Tourett\'s Syndrome) เป็นติกส์ระดับรุนแรงที่สุด เด็กที่เป็นโรคทูเรทท์ นอกจากจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ แล้ว จะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ ด้วย เช่น ที่แขน, หลัง, ท้อง จนดูเหมือนเคลื่อนไหวแปลก ๆ เช่น สะดุ้งทั้งตัว สะบัดแขน ตีปีก ขว้างของ บริเวณที่กระตุกจะย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เริ่มเป็นที่ไหล่ ย้ายไปแขนขวา แล้วย้ายไปที่หลัง เป็นต้น นอกจากอาการกระตุกของกล้ามเนื้อแล้ว โรคทูเรทท์จะยังมีอาการเปล่งเสียง (Vocal Tics) ร่วมด้วย อาการทั้งหมดจะเป็นนานเหมือนกับติกส์ชนิดเรื้อรัง (เกิน 1 ปี)

ต้นตอก่อเกิดติกส์

           ถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คงสงสัยว่า แล้วเจ้าโรคติกส์นี้มันเกิดจากอะไรกันนะ เดิมทีเคยเชื่อกันว่าโรคติกส์เกิดจากปัญหาทางอารมณ์จิตใจ จึงจัดโรคนี้อยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวช แต่จริง ๆ แล้วโรคเกิดจาก

           1. ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองบางตัว คือ โดปามีน (Dopamine) จึงน่าจะจัดอยู่ในโรคทางระบบประสาทเสียมากกว่า

           2. ความเครียด เป็นส่วนเสริมให้เกิดอาการมากขึ้น

           3. พันธุกรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคติกส์ พบว่า 60% ของเด็กที่เป็นจะพบประวัติโรคนี้ในสมาชิกครอบครัว

          นอกจากนั้น เด็กที่เป็นโรคติกส์จะมีโอกาสเป็นโรคบางชนิดสูงขึ้นกว่าเด็กทั่วไป เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกังวล พฤติกรรมหุนหัน (impulsive) เป็นต้น

ดูแลเมื่อเกิด...ติกส์

           พาไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจให้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเช็คว่ามีปัญหาอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเด็กบางคนเป็นภูมิแพ้ที่ตา (Allergic conjunctivitis) หรือเป็นโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) อาจทำให้มีอาการคันและขยิบตาหรือย่นจมูกคล้าย ๆ ติกส์ได้

           หากเด็กเพิ่งเริ่มมีอาการ แพทย์จะยังไม่ให้ยารักษา แต่จะให้ความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่และรอดูอาการไปก่อน (อาจใช้เวลาเป็นเดือน) เพราะอาจเป็นติกส์ชั่วคราวและหายเองได้

           คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจและเห็นใจ ไม่ดุว่า ไม่เพ่งเล็ง เมื่อเด็กมีอาการติกส์ ให้วางเฉยไม่สนใจอาการนั้น เพื่อเด็กจะได้ไม่เครียด ไม่อาย และต้องคอยปกป้องเด็ก จากการถูกล้อเลียนจากเด็กคนอื่นหรือผู้ที่ไม่เข้าใจ อธิบายให้ตัวเด็กเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นเองและปลอบใจว่า รออีกสักพักมันอาจจะหายไปเองได้

           หากเป็นติกส์เรื้อรัง (นานกว่า 1 ปี) หรือเป็นทูเรทท์ แพทย์อาจจะพิจารณาให้รักษา ขึ้นกับความรุนแรงและความถี่ของอาการว่ารบกวนการดำเนินชีวิต การเรียนหรือการเข้าสังคมมากน้อยเพียงใด โดยจะพยายามให้ยาน้อยที่สุด เพราะยาที่ใช้รักษาติกส์หลายชนิดมีผลข้างเคียง สูงและต้องใช้ยาเป็นเวลานาน

           ถึงแม้ว่าลูกเกิดมีอาการติกส์ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจมากนัก เพราะนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว โรคติกส์ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือร่างกายอย่างอื่นใด เด็กสามารถเติบโต เรียนหนังสือ พัฒนาไปตามศักยภาพ ดำเนินชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทุกประการ ยิ่งกว่านั้นโรคติกส์ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดชั่วคราวคือหายไปเอง พบน้อยที่เป็นชนิดเรื้อรังที่จะเป็นหลาย ๆ ปี ยิ่งชนิดทูเรทท์ยิ่งพบน้อยมากประมาณ 0.05 - 0.1% เท่านั้น อีกทั้งปัจจุบันยังมียาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแต่ก่อนมาก เด็กที่เป็นติกส์จึงไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไรเลยครับ


    



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคติกส์ โรคทางจิตผสมโรคทางกาย อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 14:00:06 11,387 อ่าน
TOP
x close