โรคภูมิแพ้ในเด็ก (โรงพยาบาลพญาไท)
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเกิดโรคภูมิแพ้ (allergic diseases) ที่สำคัญ เช่น โรคหืด (asthma) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) และโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) เพิ่มขึ้นอย่างมากในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ โรคภูมิแพ้ เกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการตอบสนองที่มากผิดปกติ ต่อสารก่อภูมิแพ้ ที่เข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้อาจมีอาการในอวัยวะเดียวหรือหลายระบบร่วมกัน โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่
1.โรคหืด เกิดจากทางเดินหายใจที่บวม ตีบแคบลง ซึ่งถูกกระตุ้นโดยปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย จะมีอาการหายใจเสียงดัง “วี้ด” หอบ แน่นหน้าอก อาจเกิดอาการในตอนกลางคืน ขณะออกกำลัง หรือขณะเป็นหวัด
2.โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะมีอาการส่วนใหญ่ในจมูก อาทิ จาม คัน คัดจมูก น้ำมูกใส เป็นเรื้อรัง หลายสัปดาห์ อาจเป็นในช่วงฤดูฝนหรือตลอดทั้งปี
3.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีผื่นร่วมกับอาการคัน แดงของผิวหนัง เป็นเรื้อรัง พบบ่อยในเด็กเล็กและมีอาการมากเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ร้อนเหงื่อออก เป็นต้น กรณีผู้ป่วยบางรายที่แพ้อาหาร จะมีผื่นแพ้รุนแรงเมื่อรับประทานอาหารที่แพ้ อาหารที่เกิดอาการแพ้ได้บ่อย เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ แป้งสาลี และอาหารทะเล
4.ผื่นลมพิษ มีอาการคัน บวม ผื่นนูนหนาของผิวหนัง โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือไม่ทราบที่มา ซึ่งอาหาร และยาบางชนิด เป็นสาเหตุที่พบบ่อย
5.แพ้อาหาร เป็นปฏิกิริยาการแพ้ต่อโปรตีนในอาหาร เกิดอาการได้หลายๆ ระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่น ลมพิษ หรือระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ คัดจมูก เป็นต้น
6.เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ โดยพบบ่อยร่วมกับอาการเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้
ภูมิแพ้… แพ้อะไร
โดยส่วนใหญ่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเด็กรับเข้าโดยการหายใจ รับประทาน สัมผัส หรือฉีดเข้าร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ฝุ่นละออง เชื้อราในอากาศ รังแคสัตว์เลี้ยง อาทิ แมว สุนัข และสารระคายเคืองทางเดินหายใจจากควันบุหรี่ เป็นต้น
สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ละอองเกสรหญ้า ฝุ่นละอองและควันบนท้องถนน มลพิษทางอากาศ ควันท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นสารระคายเคืองและกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นภูมิแพ้ นอกจากการใช้ยาแก้แพ้ ยาควบคุมอาการตามแพทย์สั่งแล้ว ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการและลดความรุนแรงของโรค ดังนี้
1.ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น แมว สุนัข นก ในบ้าน
2.ภายในห้องนอน ควรมีเฉพาะเครื่องนอน ของใช้ที่จำเป็นและไม่สะสมหนังสือไว้ภายในห้อง รวมทั้งไม่ใช้เครื่องนอนที่ทำจากนุ่น งดใช้พรมทั้งในห้องนอนและภายในบ้าน
3.ควรทำความสะอาดเครื่องนอน โดยการซักด้วยน้ำร้อน (60 องศาเซลเซียส) และตากแดดให้แห้ง พร้อมทั้งทำความสะอาดผ้าม่านทุก 2 สัปดาห์ ดูดฝุ่นเป็นประจำ และหากใช้เครื่องปรับอากาศ ควรทำความสะอาด ล้างแผ่นกรองอากาศ และเลือกชนิดที่มีเครื่องกรองอากาศชนิด HEPA filter และระวังไม่ให้เกิดเชื้อราในเครื่องปรับอากาศ
4.งดสูบบุหรี่ในบ้าน หรือบริเวณที่มีเด็กอยู่
5.เด็กที่เป็นโรคหืด ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ หากเล่นกีฬาแล้วมีอาการหอบหลังการเล่น ควรสูดยาขยายหลอดลมก่อนการเล่น จะป้องกันอาการหอบได้
6.กำจัดเศษอาหาร และขยะต่าง ๆ เก็บให้มิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก