x close

เมื่อเจ้าตัวเล็กขี้อ้อน

เด็กร้องไห้ - baby

เจ้าตัวเล็กขี้อ้อน
(M&C แม่และเด็ก)

          ทันทีที่ลูกน้อยคลอดออกมา สิ่งที่เค้าได้รับอย่างเต็มล้นก็คือ ความรักจากคุณพ่อและคุณแม่ ในช่วงที่ลูกน้อยยังทำอะไรเองไม่ได้เลยนั้น ก็มีทั้งคุณพ่อและคุณแม่นี่แหละคอยดูแล ซึ่งหนูก็พอใจเอามาก ๆ ด้วย อย่างเวลาร้องไห้จ้า พอคุณแม่อุ้มขึ้นมา และพูดปลอบโยน แม่หนูจะฟังไม่เข้าใจ แต่ก็ค่อย ๆ หยุดเสียงร้องได้เมื่อคุณแม่อุ้ม

          แต่ในการอุ้มปลอบโยนแบบนี้ คุณแม่อาจจะเคยได้ยินคนพูด หรือผู้ใหญ่พูดอยู่ไม่น้อยเวลาเห็นคุณแม่โอ๋ลูก มาก ๆ ว่า "อุ้มมาก ๆ ระวังเด็กเคยมือ ไม่อุ้มไม่หยุดร้องนะ" "ทำแบบนี้ เดี๋ยวก็ต้องอุ้มกันตลอดเวลาหรอก" หรืออะไรทำนองนี้เป็นต้น...

          หากถามว่าลูกน้อยสามารถเคยตัวหรือติดกับการอุ้มของคุณแม่ได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้อย่างแน่นอน สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูกน้อยชักติดกับการอุ้มของคุณแม่แล้ว ก็คือ เวลาลูกน้อยร้องไห้ จะไม่ยอมสงบลงเลย หากสงบก็สงบได้ยากมาก หากคุณแม่ไม่ยอมเข้าไปอุ้ม หรือว่าลูกน้อยไม่ยอมนอนเลย เมื่อคุณแม่วางลงบนเตียง จะหลับปุ๋ยก็ต่อเมื่ออยู่ในอ้อมแขนของคุณแม่เท่านั้น อาการแบบนี้เป็นการบอกว่า หนูน้อยชักเคยตัวใหญ่แล้วกับการอุ้มของคุณแม่

นี่ล่ะ การอ้อนของหนูล่ะ

          เวลาที่เจ้าตัวน้อยร้องไห้ นั่นเพราะเค้าต้องการใครสักคนมาดูแลหรือสนใจเค้า โดยเฉพาะคุณแม่ หากว่าทุกครั้งที่เค้าส่งเสียงร้อง และแล้วคุณแม่ก็รีบไปหา ไปอุ้มเค้าขึ้นมาแนบอกทันที ลูกน้อยก็จะเรียนรู้ทันทีเช่นกัน ว่านี่ล่ะเป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจที่ได้ผล และเค้าจะใช้วิธีนี้ เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความสนใจในครั้งต่อไป แม้ว่าจะยังพูดไม่ได้ แต่หนูก็มีวิธีสื่อสารหรือบอกความต้องการการเอาใจใส่จากคุณแม่

          อาการร้องไห้หาคุณแม่ให้มาอุ้มมาดูแลนี้ มีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ชื่อ อูลลิค เดียคไนเออร์ (Ulrich Diekeyer) ชาวเมืองมิวนิค กล่าวว่า อาการเช่นนี้จะเรียกว่าการอ้อนของลูกน้อยก็ได้ ซึ่งการอ้อนนี้อาจจะนำมาซึ่งนิสัยเคยตัวได้อีกเหมือนกัน หากว่าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

          การเคยตัวในการอ้อนคุณแม่ของลูกน้อย อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะคุณแม่คงต้องเหนื่อย และเหมือนเป็นการทำให้ลูกถูกตามใจจนเคยตัวกราย ๆ ถึงกระนั้นก็ตาม การปล่อยให้เค้าร้องไห้ โดยคุณแม่ไม่เข้าไปโอ๋ ก็ไม่ใช่เรื่องดีอีกเหมือนกัน เพราะการที่คุณแม่ปล่อยให้ลูกร้องไห้ หรือร้องหาคุณแม่อยู่นาน ๆ จนหมดแรง โดยคุณแม่หรือใครไม่เข้าไปดูเลยนั้น เป็นการเพาะนิสัยให้ลูกน้อยเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย ตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะความต้องการของเค้าไม่ได้รับการตอบสนองเลย ซึ่งอาจจะทำให้เค้าไม่รู้จักคำว่า สงบ เลย เมื่อโตขึ้นก็ได้

ควรโอ๋แค่ไหน ถึงจะพอดีนะ

          คุณแม่อาจจะสงสัยว่า เอ... แล้วควรโอ๋ลูกแค่ไหนดีนะ มากไปเค้าก็เคยตัว น้อยไปก็สร้างนิสัยที่ไม่ดี ทางออกที่ดีที่สุด หรือวิธีกลาง ๆ ในการโอ๋ลูกน้อยก็คือ เริ่มจากให้คุณแม่ตรวจสอบจนมั่นใจว่า สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เค้าร้องไห้ได้หมดไปแล้ว เช่น ฉี่ หรืออึออกมาแล้วหรือยัง ไม่มีอาการเป็นไข้ไม่สบายอะไร ไม่หิวนมแล้ว เป็นต้น หากว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว แต่เค้ายังร้องไห้อยู่ คุณแม่ลองหาทางชี้ชวนให้เค้าดูสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวดู เช่น โมบายสีสันสดใส ขวดนมหรือจุกนมปลอม เป็นการใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อเบี่ยงเบนให้ลูกหันไปสนใจสิ่งอื่น แทนการร้องไห้ค่ะ

          แต่หากว่าตรวจความเรียบร้อยก็แล้ว ชี้ชวนให้ดูสิ่งต่าง ๆ ก็แล้ว ลูกน้อยก็ยังร้องไห้อยู่ คุณแม่คงต้องยอมอุ้มเค้า เพื่อปลอบให้หยุดร้องไห้แล้วล่ะค่ะ เพราะการอุ้มไว้แนบอกแม่นี่ล่ะ คือการปลอบโยนอย่างดีที่สุด แม้ใครจะบอกว่าทำให้ลูกติดอุ้ม แต่ลูกก็คงไม่ได้เป็นเด็กตัวเล็ก ๆ เท่านี้ให้คุณแม่อุ้มอยู่ตลอดไปหรอกค่ะ เผลอ ๆ ช่วงเวลาที่หนูอายุน้อย ๆ ตัวเล็ก ๆ มาอ้อนคุณแม่ด้วยการร้องไห้ให้อุ้มแบบนี้ จะผ่านไปอย่างรวดเร็วจนคุณแม่ไม่ทันได้ตั้งตัวด้วยซ้ำไป ดังนั้น ปล่อยให้หนูอ้อนให้คุณแม่โอ๋สักหน่อย คงไม่เป็นไรหรอกนะ



    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อเจ้าตัวเล็กขี้อ้อน อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2554 เวลา 21:36:40 10,640 อ่าน
TOP