x close

9 วิธีละลายเสมหะของเด็ก ช่วยลดอาการไอ ขับเสมหะให้ลูกน้อย

          วิธีละลายเสมหะของเด็ก นอกจากการรับประทานยาแล้ว เมื่อลูกมีเสมหะ คุณพ่อคุณแม่จะช่วยขับเสมหะในลำคอ พร้อมลดอาการไอให้ลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง เรามีวิธีละลายเสมหะสำหรับเด็กมาแนะนำกัน
โรคเด็ก, วิธีกำจัดเสมหะ

          เมื่อลูกไอแบบมีเสมหะ คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ หรือคิดว่าเป็นอาการป่วยธรรมดานะคะ หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้มีโรคเด็กร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ เพราะการที่ลูกมีเสมหะจะทำให้ลูกมีอาการไอเรื้อรัง เสมหะคั่งค้างในหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก เด็กบางคนอาจมีไข้ กินนมหรือข้าวได้น้อย บางคนไอแรงหรือไอจนปวดท้องไปเลยก็มี ดังนั้นเราจึงควรหาวิธีละลายเสมหะของเด็กด้วยนะคะ
 

          วันนี้กระปุกดอทคอมเลยมีวิธีกำจัดเสมหะให้กับลูกมาฝาก รับรองว่าไม่ยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่แน่นอน แต่ก่อนที่เราจะไปดูว่ามีวิธีอะไรบ้างนั้น เรามาทำความรู้จักกับ “เสมหะ” กันก่อนเลยค่ะ

เสมหะ คืออะไร

          เสมหะ หรือ เสลด เป็นสารเมือกที่สร้างขึ้นจากต่อมมูกและเซลล์กอบเลทของทางเดินหายใจ ถ้ามีความผิดปกติ เช่น เสมหะเหนียวข้น มีจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดการคั่งค้างของเสมหะ ซึ่งในเด็กเล็กที่ยังคายเสมหะออกมาไม่เป็น จะสังเกตได้ว่าเวลาหายใจจะมีเสียงครืดคราดในอกหรือในคอ และถ้าร่างกายไม่สามารถขับเสมหะสู่ภายนอกได้ อาจเกิดการอุดตันของหลอดลม หัวใจทำงานหนักขึ้น มีภาวะปอดอักเสบ ปอดแฟบ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เสมหะ เกิดจากอะไร

  • การระคายเคืองบริเวณลำคอ
     
  •  โรคจมูกอักเสบ โรคภูมิแพ้
     
  •  โรคไซนัสอักเสบ และเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ
     
  •  โรคหลอดลมอักเสบ และโรคหอบหืด
     
  •  ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ เช่น วัณโรค

วิธีละลายเสมหะของเด็ก

โรคเด็ก, วิธีกำจัดเสมหะ

1. ให้ดื่มน้ำอุ่นเพิ่มขึ้น

          น้ำ เป็นยาขับเสมหะที่ดีที่สุด การให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ก็ถือเป็นการเพิ่มน้ำให้แก่ร่างกาย และช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ เมื่อเสมหะเหนียวน้อยลง การระบายออกจะทำได้ดีขึ้น ทั้งนี้ พยายามให้ลูกดื่มน้ำอุ่นจะยิ่งช่วยลดความเหนียวของเสมหะได้ดีกว่าน้ำธรรมดา เพราะความร้อนจะช่วยให้น้ำแทรกซึมสู่เสมหะได้ง่ายขึ้น

2. กลั้วคอ หรือดื่มน้ำผสมเกลือ

          การดื่มน้ำธรรมดาอาจช่วยเพิ่มความชื้นหรือทำให้เสมหะเหนียวน้อยลงได้ แต่หากนำน้ำผสมเกลือเพียงเล็กน้อยมาดื่มหรือกลั้วคอ จะยิ่งช่วยให้เสมหะอ่อนตัวหรือลดความเหนียวได้รวดเร็วขึ้น

3. กลั้วคอ หรือดื่มน้ำโซดา

          น้ำโซดามีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ ทำให้มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ดังนั้นการกลั้วคอหรือดื่มด้วยน้ำโซดาจึงช่วยละลายเสมหะได้ แต่ข้อนี้แนะนำให้ใช้กับเด็กโตแล้วเท่านั้นนะคะ

4. รับประทานอาหารประเภทต้ม

          อาหารประเภทต้มมีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำอุ่น แต่จะมีประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะมีเครื่องเทศหรือสมุนไพรมาเสริมทัพด้วย เช่น ซุปฟักทองร้อน ๆ ก็ช่วยขับเสมหะได้ เพราะในฟักทองมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดอาการอักเสบและขับเสมหะ หรือแกงจืดผักชีหมูสับ เพราะต้นผักชีช่วยแก้ไอ แก้หวัดได้
โรคเด็ก, วิธีกำจัดเสมหะ

5. รับประทานผลไม้รสเปรี้ยว

          การให้ลูกรับประทานสมุนไพรหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ เสาวรส ส้ม มะนาว มะขาม หรือสมุนไพรที่มีรสเผ็ด เช่น พริก พริกไทย จะช่วยในการละลายเสมหะ เพราะน้ำในผลไม้จะช่วยเพิ่มความชุ่มคอ ส่วนความร้อนช่วยละลายเสมหะได้

6. เพิ่มความชื้นภายในห้อง

          อากาศที่แห้งและมีปริมาณความชื้นน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้โพรงจมูกและลำคอขาดความชุ่มชื้นและเกิดการระคายเคือง ร่างกายจึงผลิตเสมหะมากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะขาดความชุ่มชื้นภายในลำคอ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เครื่องทำความชื้นหรือการเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ตั้งอ่างเล็ก ๆ ใส่น้ำไว้ในห้อง ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความชื้นของอากาศภายในห้องควรคำนึงถึงสภาพอากาศในแต่ละฤดูด้วย

7. ดูดเสมหะด้วยลูกยาง

          เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่รู้วิธีการขับออกมาเอง อีกทั้งเสมหะเหนียวข้นมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้อุปกรณ์ดูดเสมหะ อย่างลูกยางเบอร์ 1 ช่วยดูดเสมหะในปากได้ โดยจับลูกนอนหงาย หันหน้าลูกให้ไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้ลูกสำลักจากการดูดเสมหะ หยดน้ำเกลือเพื่อล้างจมูกลูกก่อน 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้เสมหะหรือน้ำมูกเหนียวข้นเกินไป จากนั้นบีบลูกยางแดงให้แฟบ สอดทางปลายแหลมเข้าไปทางจมูกลูกไม่ต้องลึกมาก ปล่อยลูกยางออกช้า ๆ เพื่อให้เสมหะเข้ามาในลูกยางแดง แล้วดึงลูกยางแดงออก บีบน้ำมูกและเสมหะลงในทิชชูหรือภาชนะที่เตรียมไว้
 

          ทั้งนี้ การดูดเสมหะให้ลูกด้วยลูกยางดูดเสมหะ ต้องดูดหลังจากที่ลูกกินอาหารหรือนมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1.30-2 ชั่วโมงด้วยนะคะ เพื่อป้องกันลูกสำลักอาหารหรืออาเจียนออกมานั่นเอง

โรคเด็ก, วิธีกำจัดเสมหะ

8. เคาะปอดระบายเสมหะ

          วิธีการเคาะปอด จะใช้แรงสั่นจากลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ ไปทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณทางเดินหายใจค่อย ๆ หลุดออกและไหลออกมาได้ง่ายขึ้น เทคนิคนี้จะมีหลายท่า จำเป็นต้องจัดท่าทางให้ถูก โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงช่วย ยกตัวอย่างเช่น ท่าอุ้มลูกให้ศีรษะพาดบนไหล่ เคาะบริเวณด้านหลังส่วนบน, ท่านอนหงาย เคาะบริเวณไหปลาร้าถึงใต้ราวนม, ท่านอนตะแคง เคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้าง เป็นต้น

วิธีเคาะ

          ทำมือให้เป็นลักษณะคุ้ม ๆ นิ้วชิดกัน เรียกว่า “Cupped Hand” เคาะบริเวณทรวงอกส่วนที่ต้องการระบายเสมหะ ท่าละ 3-6 นาที รวมทุกท่าไม่ควรนานเกิน 15-30 นาที แล้วจึงลุกนั่งหรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเสมหะจะถูกขับออกมาด้วย

9. รับประทานยาละลายเสมหะ

          นอกจากวิธีธรรมชาติแล้ว วิธีละลายเสมหะของเด็กอาจใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างยาน้ำชนิดไซรัปหรือน้ำเชื่อมที่นิยมใช้กันมากในเด็ก ดังนี้
  • ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)

          ยาละลายเสมหะมีสรรพคุณลดความข้นหนืด มีทั้งแบบออกฤทธิ์กับเสมหะ และออกฤทธิ์ปรับสมดุลของต่อมผลิตเสมหะโดยตรง ซึ่งช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดของเสมหะผิดปกติ ทั้งแบบที่ข้นเหนียวกว่าปกติและแบบที่เหลวเกินให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ โดยตัวยาชนิดนี้ยังกระตุ้นการทำงานของเนื้อเยื่อในลำคอ ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยาละลายเสมหะบางชนิดยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณในการลดอักเสบอีกด้วย

  • ยาขับเสมหะ (Expectorants)

          ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ส่งผลให้เสมหะชุ่มชื้นและอ่อนตัวลง ทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น แถมตัวยายังช่วยกระตุ้นอาการไอ เพื่อให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้มากขึ้น เมื่อร่างกายขับเสมหะออกแล้ว อาการไอและเสมหะจะบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดภาวะข้างเคียงอย่างระคายทางเดินอาหารหรือทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้

โรคเด็ก, วิธีกำจัดเสมหะ

ควรให้ยาแก้ไอหรือไม่ ?

          ในรายที่ไอมีเสมหะ การให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ จะยิ่งมีผลเสียเพราะเสมหะคั่งค้าง แต่ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลม หรือละลายเสมหะ จะได้ผลดี รวมทั้งยาลดน้ำมูกบางชนิดมีส่วนประกอบที่ทำให้น้ำมูกและเสมหะยิ่งเหนียวมากขึ้น
 

          อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วยนะคะ
 

          รู้วิธีจัดการกับเสมหะของลูกน้อยกันแล้ว แต่ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไม่ให้ลูกมีเสมหะไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยนะคะ ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก็คือ หมั่นให้ลูกออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ทั้งนี้ หากลองทำตามวิธีละลายเสมหะข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือเป็นติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดจะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก : vibhavadi.com, thaihealthlife.com, maerakluke.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 วิธีละลายเสมหะของเด็ก ช่วยลดอาการไอ ขับเสมหะให้ลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2564 เวลา 17:32:13 263,691 อ่าน
TOP