ป้องกันลูกรัก...จากผลข้างเคียงวัคซีน (รักลูก)
อาการบวม แดง เป็นไตแข็ง หรือเป็นไข้ มักพบได้เสมอหลังพาเจ้าตัวเล็กไปรับวัคซีน แต่แค่นี้ก็ทำเอาพ่อแม่อย่างเราๆ กังวลใจไม่น้อยแล้วค่ะ
อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็กหลังได้รับวัคซีนนั้น จะแตกต่างกันไปตามชนิดของวัคซีน ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลแตกต่างกันด้วยค่ะ โดยปฏิกิริยาและผลข้างเคียงของวัคซีนแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1. ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเฉพาะที่
พบได้บ่อยที่สุดแต่อาการรุนแรงน้อยที่สุด มักพบในวัคซีนชนิดไม่มีชีวิต เช่น วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก
อาการที่พบได้ค่อนข้างมากคือ ปวด บวม แดง แต่จะเกิดเฉพาะบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ฉีดที่ต้นขาข้างซ้ายปฏิกิริยาก็จะเกิดเฉพาะที่ต้นขาข้างซ้าย เป็นต้น
อาการที่หนูเป็น คือ ปวด บวม แดง ตรงจุดที่ฉีด มักเกิดขึ้นภายใน 3 ซม. หลังจากฉีดวัคซีน ความรุนแรงของอาการค่อนข้างน้อย
ช่วยหนูได้โดย หลังจากฉีดวัคซีนชนิดนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ ไม่ต้องนวดหรือคลึงเพราะจะทำให้ลูกเจ็บมากขึ้น อาการปวด บวม แดงจะหายไปเองภายใน 1-3 วัน แต่ถ้าลูกปวดมากหรือมีอาการบวมมาก อาจประคบด้วยน้ำแข็งได้
ระวัง! หากจุดที่บวม แดง หรือเป็นไต เกิดเป็นแผลหรือติดเชื้อจนเป็นหนอง หรือถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ขยับแขนขาข้างที่ฉีดวัคซีนหรือขยับได้น้อยลง คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอค่ะ
2. ปฏิกิริยาทั่วไป
มักจะเกิดกับวัคซีนที่มีชีวิต คือ วัคซีนที่ยังมีชีวิตแต่เชื้อถูกทำลายให้มีความรุนแรงน้อยลง เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม สุกใส ปฏิกิริยาที่เกิดจะมากกว่าวัคซีนชนิดที่ไม่มีชีวิต คือ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วเชื้อโรคอ่อนๆ จะยังมีการแบ่งตัวภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองต่อเชื้อนั้น
อาการที่หนูเป็น จะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ส่วนใหญ่มักเกิด 1-2 สัปดาห์หลังรับวัคซีน
ช่วยหนูได้ ให้ลูกกินยาลดไข้ตามที่คุณหมอจัดมา หมั่นเช็ดตัวและให้ลูกพักผ่อนมากๆ อาการพวกนี้จะดีขึ้นเองค่ะ
ระวัง! อย่าปล่อยให้ลูกมีไข้สูง เพราะอาจทำให้ลูกชักได้
3. ปฏิกิริยาการแพ้วัคซีน
อาจเกิดจากการแพ้ตัววัคซีน หรือแพ้ส่วนประกอบในตัววัคซีนก็ได้ ซึ่งพบได้น้อยประมาณ 1 : 500,000 แต่ความรุนแรงอาจมากจนถึงชั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ค่ะ
อาการที่หนูเป็น ถ้าแพ้แบบรุนแรงจะเกิดอาการเร็วมาก หลังรับวัคซีนภายในไม่กี่นาทีหรืออาจเป็นชั่วโมงก็ได้ อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ มีผื่นลมพิษขึ้น หรืออาจบวมรอบตา รอบคอ มีอาการเหมือนหายใจไม่ออก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด และอาจรุนแรงถึงขั้นความดันโลหิตต่ำและช็อกไปเลยได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นก็ควรรีบพาไปหาคุณหมอนะคะ
ระวัง! หากลูกมีประวัติการแพ้ไข้จะรับวัคซีนที่สำคัญตัวหนึ่งไม่ได้ คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีองค์ประกอบของไข้อยู่
พาลูกไปรับวัคซีนครั้งต่อไป คงไม่ทำให้กังวลใจอีกแล้วใช่ไหมคะ เพราะเมื่อรู้สาเหตุ หมั่นสังเกตอาการ บริบาลถูกวิธี และหากอาการไม่ดีขึ้นก็รีบพาไปหาคุณหมอ เพียงเท่านี้ก็ช่วยลูกน้อยห่างไกลจากอาการข้างเคียงต่างๆ และยังได้รับภูมิคุ้มกันที่ดีจากวัคซีนอีกด้วยค่ะ
วัคซีนชนิดไม่มีชีวิต
หลังรับวัคซีนวัณโรคที่ต้นแขนซ้าย (วัคซีนวัณโรคเป็นวัคซีนที่มีชีวิต) ซึ่งคุณหมอจะฉีดให้หลังคลอด อาจพบว่ามีผลข้างเคียงจากวัคซีนได้ ร้อยละ 1-2 โดยจะพบเป็นฝีหนอง ต่อมน้ำเหลืองโตเฉพาะที่และตำแหน่งที่ฉีดเป็นตุ่มนูนแตกเป็นแผล ขึ้นอยู่กับว่าภูมิต้านทานของเด็กเป็นอย่างไรค่ะ
เด็กปกติที่มีภูมิต้านทานดี อาการพวกนี้จะไม่มากและไม่รุนแรง แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น มีการติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้ภูมิต้านทานจะไม่ดี พอรับวัคซีนเชื้อเป็นเข้าไป (วัคซีนเชื้อเป็น คือ การนำเชื้อโรคมาเพาะทำให้ฤทธิ์อ่อนลง ไม่ก่อโรคแต่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้) ก็จะทำให้ผลข้างเคียงเกิดมากกว่าปกติ เช่น อาจเป็นแผลใหญ่ หรือหนองไหลจากแผล เป็นต้น
อ๊ะอ๊ะ...อย่าละเลย
• อย่าลืมสมุดวัคซีน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่นำสมุดประจำตัววัคซีนไปด้วย ผลเสียจะเกิดขึ้นกับลูกค่ะ ทำให้ลูกมีโอกาสรับวัคซีนไม่ครบได้ค่ะ เพราะบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้พาลูกไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาลเดิมตลอด
• รู้ข้อมูล คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ว่าวัคซีนที่กำลังจะฉีดให้ลูกในแต่ละครั้งเป็นวัคซีนอะไร มีผลข้างเคียงอย่างไร หากคุณหมอไม่ได้บอก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะตามรายละเอียดด้วยนะคะ
• ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับลูก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552