ห้ามหอมทารก อาจเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง มาดูวิธีเลี่ยงลูกน้อยจากโรคติดเชื้อ ก่อนอันตรายถึงชีวิต

          ห้ามหอมทารก หนึ่งในประเด็นสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้ การหอมหรือจูบทารกอันตรายแค่ไหน มีโรคอะไรบ้างที่เกิดจากการหอมแก้มทารก รวมถึงจะป้องกันอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว

ห้ามหอมทารก

          เด็กเล็ก ๆ วัยกำลังน่ารัก บางครั้งก็ยากที่จะอดใจไม่ให้คนรอบข้างสัมผัส หอมแก้มทารก จุ๊บบ้าง จับบ้าง หรือแม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ยังห้ามใจไม่ได้ที่จะหอมแก้มเจ้าตัวน้อย แต่รู้ไหมว่าการกระทำเหล่านี้อาจทำให้ลูกของเราเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

          ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วโลกยังมีข่าวมากมายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดที่เป็นโรคติดเชื้อจากการหอมแก้ม ซึ่งบางกรณีร้ายแรงถึงขั้นเด็กเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเสี่ยงติดเชื้อ การ ห้ามหอมทารกก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยได้ตั้งแต่ต้นเหตุ ว่าแต่การหอมแก้มทารกเสี่ยงต่อโรคอันตรายอะไรบ้าง และมีวิธีป้องกันอื่น ๆ อย่างไรอีก เรามาดูคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ทำไมจึงห้ามหอมทารก ?

          ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกตามใจหมอ ย้ำว่ามีเด็กป่วยและตายจากการกอดหอมมาไม่น้อยแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเวลาระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ RSV และมือเท้าปาก

          สาเหตุก็คือผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นตัวนำพาเชื้อโรคชั้นดีมาให้เด็ก โดยเชื้อโรคบางชนิดอาจไม่แสดงอาการในผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันดีกว่า แต่พอส่งต่อมาให้เด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ติดต่อทางการสัมผัส และการหายใจรดกัน ยิ่งผู้ใหญ่บางคนที่ชอบกอด หอม หรือจูบเด็กด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นไปอีกนั่นเอง

ห้ามหอมทารก

5 โรคติดเชื้อรุนแรงจากการหอมทารก

          การหอมแก้มทารก นอกจากจะทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และมือเท้าปากแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อรุนแรงดังต่อไปนี้

1. RSV

          โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก พบในช่วงที่มีอากาศชื้น เข่น หน้าฝน แถมยังติดต่อกันได้ง่ายเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และทางลมหายใจ ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจทำให้เป็นปอดอักเสบ มีเสมหะมาก และทำให้เยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่าง ๆ บวม จึงทำให้เด็กมีอาการเหนื่อยหอบ และหายใจลำบาก

          สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ โรคปอด หรือหอบหืดยู่แล้ว อาจมีอาการหนักถึงขั้นหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ซึ่งเป็นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

2. 4S

          โรค 4S หรือโรค Staphylococcal Scalded Skin Syndrome เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง โดยเชื้อจะปล่อยทอกซินเข้าไปในกระแสเลือด และไตยังไม่สามารถกำจัดทอกซินออกไปจากร่างกายได้ ทำให้เกิดการอักเสบและแยกชั้นของผิวหนังบริเวณหนังกำพร้า พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดหรือเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

          อาการของโรค 4S เด็กจะร้องไห้โยเยมากกว่าปกติ  มีไข้ ผิวหนังแดงไปทั้งตัว โดยเฉพาะบริเวณตา เยื่อบุจมูก รอบปาก รอบคอ หากผ่านไป 24-48 ชั่วโมง ผิวที่แดงจะค่อย ๆ บวมพองเป็นตุ่มน้ำ และที่อันตรายที่สุด ระหว่างมีอาการของโรค เด็กอาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ผ่านทางบาดแผลที่เกิดขึ้น เชื้อจะเข้าไปทำลายระบบการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น กระดูก ข้อ ตับ ไต ปอด ลิ้นหัวใจ และระบบเลือด  ระยะนี้จึงควรให้แพทย์และพยาบาลเป็นผู้ดูแล หรือให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

3. เริม

          โรคติดเชื้อจากเชื้อไวรัส Herpes simplex virus (HSV) โดยทารกติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านทางเยื่อหุ้มทารก นอกจากนี้ทารกยังติดเชื้อเริมได้ในช่วงเวลาหลังคลอด ผ่านการสัมผัสจากบุคคลที่มีเชื้อเริมอยู่ แม้จะเป็นเริมสายพันธุ์ไม่รุนแรง แต่ก็ส่งผลรุนแรงต่อเด็กได้ 

          อาการติดเชื้อเริมในเด็กแรกเกิด ได้แก่ มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม มีตุ่มน้ำใสที่ผิวหนังหรือ เป็นแผลในปาก ถ้ารักษาทันด้วยยา acyclovir ก็มีโอกาสรอด แต่ก็มีโอกาสพิการทางสมองค่อนข้างสูง

ห้ามหอมทารก

4. หัด

          โรคหัดเป็นไข้ออกผื่น พบได้บ่อยในเด็กอายุ 1-6 ขวบ สามารถติดต่อกันผ่านการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และการสัมผัสตัวกับผู้ที่มีเชื้อ ระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน หลังจากนั้นจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 และหายภายใน 14 วัน

5. อีสุกอีใส


          โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human herpes virus type 3) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สามารถติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หอมแก้ม หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใส สัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย หายใจเอาละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าไปทางเยื่อเมือก

ห้ามหอมทารก


วิธีป้องกัน


          แม้โรคติดเชื้อต่าง ๆ ดังกล่าวจะน่าวิตกกังวล แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่หอมแก้มทารก กอด หรือจับบริเวณใบหน้า และยังมีแนวทางอื่น ๆ อีก ดังนี้

          - ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแรกเกิดจนถึง 6 เดือน หรือนานที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก

          - ควรทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาล้างมือก่อนสัมผัสลูกน้อย ทั้งตัวเองและคนอื่นๆ

          - ข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ เสื้อผ้าของลูก ต้องสะอาดอยู่เสมอ

          - ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่แพทย์รับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ของใช้ และร่างกายของเด็ก

          - ไม่นำสิ่งของต่าง ๆ หรือของเล่น สัมผัสที่ปากหรือหยอกล้อกับเด็กทารก

          - หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ที่แออัดและผู้คนพลุกพล่าน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ

          - หลีกเลี่ยงการนำเด็กวัยหัดเดินหรือเด็กวัยก่อนอนุบาลเข้าไปเยี่ยมเด็กทารก เพราะเด็กวัยนี้มักจะเป็นไข้หรือหวัด และเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ง่ายกว่าผู้ใหญ่

          คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ให้ใครมาหอมแก้มจูบกอดลูกวัยทารก อาจจะดูเว่อร์ อนามัยจ๋า แต่คุณทำถูกแล้วล่ะ ต้องป้องกันไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ส่วนการพาลูกออกจากบ้าน ก็ต้องรับรู้ถึงความเสี่ยงที่ลูกต้องสัมผัสคนป่วยหรือเชื้อโรค ดังนั้นจึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนพาลูกออกจากบ้านนะคะ

ข้อมูลจาก : bumrungrad.com, vibhavadi.com, rakluke.com, เฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกตามใจหมอ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ห้ามหอมทารก อาจเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง มาดูวิธีเลี่ยงลูกน้อยจากโรคติดเชื้อ ก่อนอันตรายถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15:27:35 28,586 อ่าน
TOP
x close